by kokoyadi | Mar 12, 2023 | Blog, Read
สรณรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์ เขียน salt พิมพ์
พี่อ้อย หรือ ดร.สรณรัชฏ์ เป็นนักนิเวศวิทยา ทำงานสื่อสารเรื่องราวธรรมชาติหลายสิบปี แต่หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ตั้งใจเขียนเป็นหนังสือเล่มอย่างจริงจัง และเวลาผมอ่านมีหลายช่วงที่เหมือนเสียงพี่อ้อยลอดออกมาจากหนังสือเลย
มีตอนหนึ่งในหนังสือพูดถึง เวลาที่คนบางกลุ่มมักจะนิยาม “สัตว์เดรัจฉาน” ว่าเป็นสัตว์ที่ไร้จิตสำนึก ไม่ฉลาดเหมือนมนุษย์ “ได้แต่กินขี้ปี้นอน ไม่มีศีลธรรม ไม่มีวัฒนธรรม ไม่สามารถพัฒนาจิตใจได้เหมือนมนุษย์ผู้ที่สามารถฝึกตนเป็นสัตว์ประเสริฐได้” เราเดาออกเลยว่าเสียงพี่อ้อยจะมีอารมณ์แบบไหน ในการพูดและเขียนว่า “ฉันไม่มีความรู้หรอกว่าสัตว์สามารถพัฒนาจิตใจ ได้ถึงขั้นเข้าสู่นิพพานได้หรือไม่ และฉันก็ไม่สนใจจะถกเถียงด้วย ฉันไม่มีความรู้เรื่องนิพพาน และไม่รู้จักสัตว์มากเพียงพอ คนที่ดูแคลนสัตว์ก็เช่นกัน ฉันพบว่าคนที่พูดจาแบบนี้ช่างไม่รู้แทบไม่รู้จักสัตว์เลย”
จากนั้นพี่อ้อยก็ชวนเราทำความรู้จักเรื่อง conscious จิตรู้สำนึก หรือจิตที่มีการรับรู้และรู้สึกอะไรบางอย่างได้ โดยมองมันทั้งในมุมของมนุษย์และในมุมของสัตว์ต่างๆ ตั้งแต่ วาฬหลังค่อม ลิงหิมะญี่ปุ่น หมาป่า และหมาบ้านที่มีความแตกต่างแบบที่ถ้าเราไม่เปิดผัสสะของการสังเกตและเรียนรู้ ก็จะไม่เคยรู้จักและเข้าถึงได้เลย
ผัสสะ สำหรับพี่อ้อย คือ เครื่องมือที่สิ่งมีชีวิตใช้รับรู้ความเป็นไปในโลกรอบตัว สำหรับมนุษย์ที่เกิดและโตในเมือง“ผัสสะ” ถูกจำกัดและใช้อย่างแคบลงจนเราไม่รู้จักโลกรอบตัวที่มีอยู่กว้างพอ ในหนังสือเล่มนี้ยังช่วยให้เราพยายามฝึกผัสสะหลายๆ เรื่อง อย่างเช่น ตา ที่ข้อมูลจากโลกภายนอก 80% มาจากสัมผัสที่เราใช้ตาเพื่อรับภาพ มนุษย์ถูกสอนแค่โฟกัสในสิ่งที่อยู่ข้างหน้าและประเมินระยะแบบเลนส์เทเลโฟโต้เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเรามีเลนส์วายแองเกิลที่เราไม่ค่อยใช้ในชีวิต เลนส์แบบนี้คล้ายกับเราสวมสายตาของนกฮูกที่มันเห็นได้กว้างมาก เราควรฝึกดึงศักยภาพตานกฮูกในตาของเราออกมา
อีกอันหนึ่งที่สนุกดี คือเรื่องการเดิน ให้เดินอย่างหมาจิ้งจอก เพราะเวลามันเดิน มันไม่สร้างแรงสั่นสะเทือนใดๆ ทำให้มันล่าเหยื่อได้เยอะ การเดินของมนุษย์ส่วนใหญ่มีแรงกระแทกเยอะ ส่งผลไม่ดีต่อข้อต่างๆ ในร่างกาย วิธีการคือให้เดินปิดหูแล้วลองสังเกตว่าเราเดินอย่างไร ใช้ส่วนไหนของฝ่าเท้าลงพื้น และมีแรงกระแทกจนเกิดเสียงมากน้อยแค่ไหน
แน่นอนที่แอบยกมาเล่าให้ฟัง คงเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่พี่อ้อยพยายามเปิดผัสสะการรับรู้ทางร่างกาย และพาไปถึงระดับวิธีคิด จิตวิญญาณที่ฉุดและดึงให้พวกเรากลับมาเป็นมนุษย์กาญ่า ที่ต้องออกห่างจากความเป็นโฮโม เซเปียนส์ดำรงชีวิตของเผ่าพันธุ์ตัวเองไปพร้อมกับการบดขยี้ธรรมชาติและเพื่อนร่วมสายพันธ์ุต่างๆ ในระดับวินาศสันตะโร
ใครสนใจหาอ่านได้จาก สำนักพิมพ์ Salt นะครับ และแนะนำมากๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังเลี้ยงลูกเล็กแบบตั้งคำถามเก่งๆ นะครับ เราจะมี story และบททดสอบที่จะทำให้กิจกรรมนอกบ้าน ในสวน สนุกกว่าในบ้านและในห้างครับ
by kokoyadi | Mar 11, 2023 | Blog, Read
Amy Edmondson เขียน ทิพย์นภา หวนสุริยา แปล Bookscape พิมพ์
หนังสือเล่มนี้ Edmondson ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยธุรกิจ ฮาร์วาร์ด นำเสนอเรื่อง “ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยา” ที่สำคัญมากในโลกที่ความรู้และนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญสำหรับความสำเร็จขององค์กร และในทางกลับกัน การไม่มีความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาก็ทำให้องค์กรหลายแห่งล้มเหลวได้เช่นกัน
Edmondson เล่าให้ฟังว่า งานในวันนี้พนักงานส่วนใหญ่ใช้เวลาทำงานร่วมกับผู้อื่นเพิ่มขึ้น 50% จากเมื่อ 20 ปีก่อน การจ้างคนที่ทำงานเก่งอย่างเดียวจึงไม่พออีกต่อไป ต้องเป็นคนที่ทำงานร่วมกันกับคนอื่นเป็นด้วย
เขาบอกว่าการทำงานเป็นทีมเป็นศิลปะแบบหนึ่ง เพราะการทำงานเป็นทีม ต้องการความสามารถในการสื่อสาร การประสานงานกับคนที่สามารถก้าวข้ามความแตกต่างหลากหลายของความเชี่ยวชาญ สถานะ และระยะทางให้ได้
หนังสือเล่มนี้มีตัวอย่างสนุกๆ หลายเรื่องที่ทำให้เห็นว่า การไม่มี “ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยา” ทำบริษัทพังได้เลย อย่างเคสของบริษัทโฟล์คสวาเกน ที่มีคดี “ดีเซลเกต” ที่หลอกลวงว่า รถโฟล์คสวาเกน ปลอมข้อมูลการปล่อยมลพิษรถยนต์เพื่อให้ผ่านเกณท์มาตรฐานและมาใช้โฆษณาว่าเป็นรถยนต์ “พลังดีเซลสะอาด” ย้อนไปดูวัฒนธรรมการทำงานของบริษัทที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวและการข่มขวัญ ผู้บริหารโฟล์คหลายคนที่ทำงานสืบทอดกันมาใช้เทคนิคเดียวกันในการตั้งโจทย์การทำงานที่กดดันทีมและ “ปรี๊ดแตก” ใส่ทีมเป็นประจำ ทำให้ทีมงานไม่กล้ารายงาน “ข่าวร้าย” ไม่พูดข้อเท็จจริง และไปไกลถึงการโกหก ปลอมแปลงข้อมูลเพื่อเอาตัวรอดในองค์กร
ในอีกด้านหนึ่ง ตัวอย่างที่ดีสำหรับการสร้างความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาอย่าง บริษัท Pixar ที่ทำภาพยนตร์ Toy Story และอีกหลายเรื่องที่ได้ทั้งเงินและคำชื่นชม ผู้ก่อตั้งพิกซาร์ Pixar เล่าใหฟังว่า “หนังดราฟแรกๆ ของเราทุกเรื่องห่วยหมด” อย่าง Toy story ก็เลี่ยนและน่าเบื่อ แต่ในบริษัทมีกลุ่ม “Braintrust” ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กๆ เจอกันเรื่อยๆ เพื่อประเมินภาพยนตร์ที่อยู่ในกระบวนการสร้าง ให้ฟีดแบคที่ตรงไปตรงมากับผู้กำกับ และช่วยแก้ปัญหาในการสร้างสรรค์ก่อนที่หนังจะเริ่มเดินไปผิดที่ผิดทาง คีย์หลักของเรื่องนี้ส่วนผสมหลักของสูตรนี้คือ “ความจริงใจ” ซึ่งแบบว่าเค้าก็เล่าให้ฟังเหมือนกันว่าความจริงใจแม้จะเรียบง่ายแต่ไม่เคยทำได้ง่ายๆ เลย
วัฒนธรรมในกลุ่ม “Braintrust” มีทริกที่น่าสนใจ อย่างเช่น การให้ฟีดแบ็กต้องสร้างสรรค์เกี่ยวกับตัวงานไม่ใช่ตัวบุคคล คนสร้างก็จะไม่ปกป้องตัวเองหรือเอาคำวิจารณ์มาเป็นประเด็นส่วนตัว ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะไม่ใช่คำสั่งและไม่มีความหมายในเชิงบังคับ สุดท้ายจริงๆ แล้วผู้กำกับที่รับผิดชอบเรื่องนั้นๆ จะยอมรับหรือไม่ยอมรับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฟีดแบ็กที่ตรงไปตรงมาไม่ใช่การจับผิด แต่ต้องมาจากมุมของความเข้าอกเข้าใจ ซึ่งจะความเข้าอกเข้าใจกันได้ต้องผ่านกระบวนการนี้ในบทบาทที่หลากหลาย คือ ทั้งได้ให้และรับฟีดแบ็ก
แต่สำหรับองค์กรทั่วไป เป็นเรื่องปกติที่คนส่วนใหญ่ต้องมั่นใจจริงๆ ถึงจะกล้าพูด เพราะคนเราถูกฝึกให้กลัว กลัวทำผิด ในสังคมของเราทำให้คนง่อยเปลี้ย เพราะตั้งแต่อนุบาลเราถูกสอนให้หาคำตอบที่ถูกต้อง แทนที่จะเรียนรู้วิธีการล้มเหลว วิธีการทดลอง เพื่อปูสู่เส้นทางการคิดเชิงนวัตกรรมและการคิดด้วยตัวเอง ในมุมขององค์กรจึงต้องสร้างพื้นที่ที่มีความปลอดภัยเชิงจิตวิทยา เพื่อทำให้คนที่มีภาวะขาดความมั่นใจได้กล้าพูดมากขึ้น และแม้จะมีความมั่นใจไม่มากเท่าไหร่ก็ตาม
ในเรื่องของความกลัว Edmondson บอกว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะมันจำกัดความสามารถในการคิดและลงมือทำอย่างมีประสิทธิภาพ แม้แต่กับคนที่มีพรสวรรค์สูงสุด ผู้นำที่ดีจึงต้องเต็มใจรับหน้าที่ขจัดความกลัวออกไปจากองค์กร เพื่อสร้างสภาวะที่เหมาะแก่การเรียนรู้ พัฒนานวัตกรรม และการเติบโตไปร่วมกัน
หลายองค์กรขับเคลื่อนองค์กรด้วยความกลัว แต่ความกลัวไม่ใช่สิ่งจูงใจที่มีประสิทธิภาพ เพราะความกลัวเป็นตัวขัดขวางการเรียนรู้ มันดึงทรัพยากรและพลังงานของสมองที่ต้องใช้ในเรื่องความจำและประมวลผล และผลที่เลวร้ายคือ มันสร้างความเสียหายต่อคุณภาพของการคิดเชิงวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ไขปัญหาไป
ดังนั้น ความกล้าและความกลัว เป็นโจทย์สำคัญสำหรับวัฒนธรรมองค์กรที่ทำงานความรู้และนวัตกรรม ใครสนใจไปหาอ่านกันที่ https://bookscape.co เลยครับ
by kokoyadi | Dec 28, 2022 | Blog, Works
กิจกรรม TDRI Annual Public Virtual Conference 2022 ตั้งโจทย์ไว้ว่า “ทำอย่างไรให้ประเทศไทยหนุ่มสาวขึ้น?”
ในช่วงเสวนา ผมได้มีโอกาสชวน…
- คุณไครียะห์ ระหมันยะ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม
- ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คุณภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนกำเนิดวิทย์
- คุณวีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์
- คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ Co-Founder & CEO บริษัท Techsauce
สนุกดีครับ ครบถ้วนในมุมของการทำให้ประเทศหนุ่มสาวขึ้น และ มองลึกกว่าการมองแค่อายุ แต่ชวนคิดกันถึงระบบที่เป็นตัวฉีกให้ความต่างมันชัดขึ้น
จบงานไลฟ์ถ่ายนี้กัน ตอนแรกจะถ่ายแบบเรียบร้อยตามธรรมเนียม แต่พี่แหม่มบอกว่าภาพทานน้ำส้มแบบนี้แหล่ะดูมีสไตล์ดี / ขอบคุณวิทยากรทุกท่านเลยครับ เป็นเซสชั่นที่กลมกล่อมและสนุกมากๆ ครับ
จากซ้ายไปขวา คุณภาคิน คุณวีระพร อาจารย์จัน คุณมิหมี น้องยะห์ และผม
by kokoyadi | Sep 16, 2022 | Blog, Read
David Wallace-Well เขียน | ณิชาภา ชิวะสุจินต์ แปล | Cactus พิมพ์
เล่มนี้เป็นหนังสือที่ฉายภาพปัญหาโลกร้อนได้สยดสยองมาก และโดยเฉพาะความเก่งกาจในการเปรียบเทียบตัวเลขที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของโลกร้อนกับเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ เช่น ถ้าดูแค่เรื่องมลพิษทางอากาศเพียงสาเหตุเดียวนะ จะมีประชากร 150 ล้านคนทั่วโลกที่เสียชีวิตด้วยอาการต่างๆ เพียงแค่โลกร้อนขึ้น 2 องศา ตัวเลขแบบนี้อาจไม่แน่ใจว่ามันใหญ่แค่ไหนเค้าบอกว่าเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลก 25 ครั้ง นี่ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกเหรอ
หรือ โลกเคยเจอ “ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในยุโรป” ที่จริงๆ ก็มาจากผลของสงครามที่เกี่ยวพันโลกร้อนและความแห้งแล้งช่วงปี 2011 นั่นแหละ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้าเกิดน้ำท่วมในบังกลาเทศจริงอย่างที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่ายังไงก็เกิด เหตุการณ์ในเอเชียใต้จะส่งผลต่อผู้คนมากกว่า 10 เท่า และไม่ได้เกิดที่เอเชียเท่านั้น แต่ประเทศรวมถึงแถบลาติน อาแฟริกา ด้วยรวมๆ แล้วจะส่งผลต่อคนกว่า 150 ล้านคน ซึ่งใหญ่กว่า ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ถึงร้อยเท่า แล้วโลกจะปั่นป่วนแค่ไหน
ปรากฏการณ์โลกละลาย จะป่วนโลกในทุกระดับ
อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จะส่งผลต่อการปลูกข้าวโพดทำให้ผลผลิตลดลงโดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้นำผลิตข้าวโพดอย่าง สหรัฐฯ จีน อาร์เจนตินา บราซิลและเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 4 องศาผลผลิตจะลดลงอย่างน้อยหนึ่งในห้าของทั้งหมด
“ภัยแล้ง” จะเกิดขึ้นในวงกว้างจนเป็นภัยต่อการผลิตอาหาร เนื่องจากพื้นดินที่เหมาะกับการเพาะปลูกจะหายไปเป็นทะเลทรายอย่างรวดเร็ว พื้นที่เกษตรถูกจำกัดลง ผลผลิตก็จำกัดลงด้วย ในอีกด้านพายุฝนและปริมาณน้ำฝนจะทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พื้นที่ที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำต่างๆจะกลายเป็นจะไม่สามารถใช้ได้ในอนาคต ผลคือ ประชากรในกลุ่มยากจนส่วนใหญ่เกิดภาวะขาดสารอาหารซ่อนเร้น ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกมากกว่า 1,000 ล้านคน และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นสำหรับประเทศยากจน
มีนักวิจัยไปสำรวจปริมาณโปรตีนในข้าว 18 สายพันธุ์พบว่าคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณสารอาหารทุกอย่างลดลง ตั้งแต่โปรตีน ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามิน B1, B2, B5 และ B9
ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 2 เมตรแน่นอนแม้ว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามเป้าหมาย 2 องศาก็ตาม แต่ว่าหากทำไม่สำเร็จระดับน้ำทะเลจะสูงกว่านั้น คือ 6 เมตร จนคนเขียนเรียกว่า “ทะเลจะกลายเป็นนักฆ่า”
อีกไม่นาน (หรือว่าเกิดแล้วก็ไม่รู้) คือ ประชากร 5% ของโลกจะเจอน้ำท่วมทุกปี ตัวอย่างอย่างจาการ์ตาที่เคยเป็นเมืองเติบโตเร็วที่สุด แต่ในปี 2050 ประชากรกว่า 10,000,000 จะต้องไปเสี่ยงกับน้ำท่วม
คำถามสำคัญ คือ โลกมนุษย์จะปรับตัวเข้ากับ "แนวชายฝั่งแห่งใหม่" ได้อย่างไร ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับระดับความเร็วของน้ำที่เพิ่มขึ้นและความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้
นักวิทยาศาสตร์เสนอศัพท์ใหม่ คือ “sunny day flooding – น้ำท่วมวันแดดออก” หมายถึง ปรากฏการณ์ที่น้ำขึ้นเพียงอย่างเดียวก็ทำให้น้ำท่วมเมืองโดยไม่ต้องอาศัยปริมาณจากน้ำฝนพายุเลย
สำหรับ มหาสมุทร ที่ทำหน้าที่ดูดซับ ทั้ง “คาร์บอน” และ “ความร้อนส่วนเกิน” ซึ่งปริมาณคาร์บอนมากกว่า 1 ใน 4 ที่มีอยู่ในทะเลตอนนี้ เกิดขึ้นจากที่มนุษย์ปล่อยออกมาในช่วง 50 ปีหลังนี้เอง ส่วนความร้อนส่วนเกินจากภาวะโลกร้อนมากกว่า 90% ก็มาจบที่มหาสมุทรในการดูดซับมัน ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดปรากฎการณ์ “ทะเลกรด”
โดยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำทะเลที่ไม่มีออกซิเจนเพิ่มขึ้นทั่วโลกกว่า 4 เท่า ทำให้โลกมีพื้นที่มรณะทางทะเลมากกว่า 400 แห่ง พื้นที่ขาดออกซิเจนดังกล่าวรวมมากกว่าหลาย 1 ล้านตารางกิโลเมตรเทียบเท่ากับพื้นที่ของทวีปยุโรปทั้งหมด เมืองชายฝั่งต่างๆ ที่ติดอยู่กับมหาสมุทรมีปริมาณออกซิเจนต่ำและเหม็นเน่าเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้นทำให้กักเก็บออกซิเจนได้น้อยลง
แล้วทะเลกรดก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นก็จะไปทำลายปะการังฟอกขาวแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลรวมถึงทำลายห่วงโซ่ของมันซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะวนมาที่สัตว์ทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์
อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ครึ่งองศา ทำให้เกิดความขัดแย้งทางตรงที่มีอาวุธเข้ามาเกี่ยวข้องได้มากขึ้นถึง 10 ถึง 20% ความเสี่ยงของสงครามที่เกิดจากโลกร้อนจริงๆ แล้วอาจมีผลมาจากการแย่งชิงทรัพยากรตัวอย่าง เช่น กองทัพอเมริกา หันมาสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนเพนตากอนประเมินอันตรายจากสภาพภูมิอากาศและพยายามวางแผนรับมือความขัดแย้งที่เป็นผลมาจากโลกร้อน
อีกมุมหนึ่ง ที่น่าสนใจมาก คือ ผลจากโลกละลายยังส่งผลต่อเด็กทั้งร่างกายและจิตใจ ตัวอย่างที่เวียดนาม อินเดีย เอกวาดอร์ ฝนตกน้ำท่วม อุณหภูมิสุดโต่ง และความแปรปวนของสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีนักเรียนที่เข้าเรียนได้ช้ากว่าเกณฑ์ ส่งผลทำให้ผลการเรียนก็ไม่ดี และยิ่งส่งผลมาต่อครอบครัวยากจน เพราะผลจากการขาดสารอาหารเรื้อรังกระทบต่อความสามารถในการคิดลดลง ความเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น
มีการวิจัยที่พบว่าในช่วงเก้าเดือนที่ทารกอยู่ในครรภ์ หากมีวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 90 องศามากเท่าไหร่ รายได้ตลอดชีวิตของเขาก็จะลดลงจนสามารถวัดผลกระทบได้ และจะสะสมจนส่งผลต่อชีวิตในภายหลัง นอกจากนี้ การศึกษาในไต้หวัน แคนาดา และเม็กซิโก พบว่าปริมาณมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นแต่ละหน่วยสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์มากถึงสองเท่า
สำหรับผลต่อจิตใจ ตอนที่เฮอริเคนแอนดรูว์โจมตีฟลอริดาในปี 1992 แม้มีผู้เสียชีวิตไม่มาก แต่เด็กครึ่งหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์นั้นได้รับการประเมินว่า กระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจในระดับปานกลาง-รุนแรง โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เป็นเพศหญิงจะมีอาการที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างร้ายแรงมากกว่าเพศชายและเมื่อยิ่งเกิดผลกระทบจากพายุนานยิ่งขึ้นจะเจอปัญหาภาวะซึมเศร้า ความเครียด มากจนมีสิ่งที่นักวิจัยค้นพบว่าเกิด “ความคิดพยาบาท” แต่หนังสือก็ไม่ได้เราเพิ่มเติมว่าพยาบาทใครหรืออะไร ในระดับของความรุนแรงต่อเด็กและวัยรุ่นจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในรายที่มีอาการรุนแรง เขาเปรียบเทียบว่า ผลของมันรุนแรงพอๆ กับทหารที่กลับจากสงครามที่มีภาวะป่วยทางจิตเลยทีเดียว
อันนี้ ที่เล่ามาทั้งหมด คือ ส่วนหนึ่งของความสยองที่เราจะต้องเผชิญในโลกก่อนปี 2100 นี้เท่านั้น เชื่อมั้ยครับว่า หนังสือเขาเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันประเทศที่ลงนามความตกลงปารีสมีจำนวน 195 ราย แต่มีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่ทำได้ตามข้อกำหนด
ใครสนใจเรื่องนี้ ก็ชวนอ่านกันครับ เพราะโลกละลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความหมายของภาวะโลกร้อนที่มีต่อวิถีชีวิตของเราบนโลก ปัญหานี้เป็นวงจรผลสะท้อนกลับ หลากหลาย ซับซ้อนและย้อนแย้ง และถูกครอบด้วยความไม่แน่นอน นี่แหละครับความจริงที่น่ากลัวของมัน
by kokoyadi | Apr 27, 2022 | Blog, Works
เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา กสศ. ชวนผมไปร่วมพิจารณาทุน “ก้าวเพื่อน้อง” ของพี่ตูน ซึ่งก็เป็นปีที่สองที่ได้รับคำชวนให้ไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน และพอเป็นปีที่ 2 เลยจับความรู้สึกและความต่างที่พอสังเกตอะไรบางอย่างได้ เลยอยากแชร์ให้ฟังกัน
“ทุนก้าวเพื่อน้อง” จะให้กับนักเรียนที่กำลังจะจบ ม. 3 เพื่อให้ได้เรียนต่อ ม.ปลาย/วิชาชีพ แบบที่มีค่าใช้จ่ายรายเดือนให้พร้อมกับค่าเล่าเรียนตลอด 3 ปี เป็นเงิน 264,000 บาท ในขณะที่ทุนอื่นอาจได้เป็นรายปีหรือเป็นรายครั้ง และอันที่จริง ทุนระดับ ม.ปลาย/วิชาชีพในบ้านเรามีจำกัดมากกว่าระดับอื่นๆ เพราะอยู่นอกเหลือการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ในมุมของรัฐจึงคิดว่า การศึกษาในระดับในนี้เป็นการลงทุน อยากเรียนต่อต้องกู้เอาจาก กยศ.
ปีนี้ที่ต่างจากปีที่แล้วแบบชัดมากๆ คือ ปีนี้ จำนวนทุนที่พร้อมให้นักเรียนเพียง 40 คนเท่านั้น เทียบกับปีที่แล้วที่ระดุมทุนได้กว่า 27 ล้านบาท และมอบทุนให้นักเรียนได้ถึง 109 คน เห็นได้ชัดว่าปีนี้โครงการนี้ได้เงินบริจาคและทำกิจกรรมขายของน้อยกว่าปีที่แล้วอย่างมาก แอบเดาว่าคงเป็นกระทบจากโควิดที่ลากยาวด้วยส่วนหนึ่ง และปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลจากกระแสการวิพากษ์วิจารณ์โครงการ “ก้าวคนละก้าว” ที่ทำให้กิจกรรมต่างๆ ทำไม่ได้ตามเป้า และอาจมีอุปสรรคในแง่ของการสื่อสารโครงการรวมอยู่ด้วย
พอเห็นข้อมูลแบบนี้ ก็มีคำถามคาใจอยู่บ้างเช่นกัน แม้ว่าโดยส่วนตัวจะไม่ค่อยเชื่อเรื่องการทำบุญเท่าไหร่ (เคยเขียนถึงเรื่องทำบุญว่า มันสร้างปัญหายังไงไว้ 2 ปีที่แล้ว https://www.kokoyadi.com/philanthropy/) แต่เหตุการณ์นี้ ผมรู้สึกว่าเป็นโจทย์ยากพิลึกเลยนะครับ ว่า ถ้าคำวิจารณ์ทำให้คนทำบุญน้อยลง เพราะคาดหวังให้มีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าการทำบุญที่คิดว่าเป็นแค่เรื่อง “ฉาบฉวย” พร้อมไปกับการคาดหวังให้พี่ตูนเรียกร้องนโยบายการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึงจากรัฐ หรือ ความสมเหตุสมผลของการใช้งบประมาณ แบบเลิกซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำก็เลี้ยงเด็กยากจนได้ทั่วประเทศแล้ว
แต่การจะแก้ไขปัญหาเชิงระบบแบบนี้ ที่มีทั้งเรื่องกฎระเบียบ ขั้นตอน รวมถึงความเป็นไปได้ทางการเมืองต่างๆ จึงย่อมจะแก้โจทย์ไม่ได้ภายในชั่วข้ามคืน ทำให้รู้สึกว่าการบริจาคในกรณีนี้ ยังรู้สึกว่าจำเป็นในการจัดการปัญหาที่เฉพาะหน้ามากๆ
เพราะว่าการให้ความช่วยเหลือปัญหาการเข้าถึงการศึกษาแบบที่ช่วยแบบที่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายด้วย เป็นหลักประกันที่สำคัญสำหรับน้องๆ ที่คาดว่าคงไม่ได้เรียนต่อแน่ๆ จากลักษณะร่วมที่น้องๆ รุ่นม. 3 ที่อายุประมาณ 14-15 หลายร้อยคนในประเทศนี้เจอ คือ เรียนดี (ซึ่งสำหรับผม 3 ขึ้นไปนับว่าเรียนได้แล้วนะครับ) ทำกิจกรรมบ้าง แต่สภาพครอบครัวรายได้น้อย มีพ่อแม่อายุในช่วง 35-45 บ้าง พ่อแม่หย่าร้างบ้าง อยู่กับยายบ้าง หรือกรณีที่รุนแรงมากคือพวก domestic violence ในรูปแบบต่างๆ
ดังนั้น การให้ทุนสำหรับน้องๆ กลุ่มนี้ จึงเป็น “การตัดตอนปัญหาความยากจนข้ามชั่วคน” ที่สำคัญมากๆ ที่เว้นการช่วยเหลือไปหรือช่วยคนได้น้อยลง ก็จะมีน้องๆ ที่โตในตลาดแรงงานราคาไม่สูง และจะแก้ปัญหาความยากจนสำหรับเขาก็ย่อมยิ่งจะยากขึ้นไป และอาจจะต้องไปแก้ในอีกรุ่นของลูกของพวกเขาก็ตาม
นอกจากนี้ ในกระบวนการคัดเลือกโครงการนี้ มีคำถามที่ทำให้เรารู้จักเด็กแบบที่น่าสนใจดี คือ นักเรียนจะต้องเขียนตอบคำถามว่า
“ถ้าหากขอพรวิเศษได้ 3 ข้อ ผู้ขอรับทุนจะขออะไร เพราะอะไร จึงขอสิ่งนั้น”
ความรู้สึกแรกเพราะอ่านงานของเด็กๆ ไปสักพัก แล้วรู้สึกว่าพรวิเศษของเด็กๆ ปีนี้ต่างจากรุ่นที่ผ่านมา คือ เด็กๆ รุ่นที่แล้วจะมีพร ที่อยากได้ ไปไกลกว่าแค่ ครอบครัวหรือตัวเอง คือ ขอให้ชุมชนที่เค้าอยู่ดีขึ้น มีหลายเรื่องที่เป็นประเด็นทางสังคม ที่อ่านแล้วรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องรอบตัวของชุมชน/หมู่บ้านของเขา เช่น ความเจริญ ปัญหายาเสพติด ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเผาป่า การจัดการขยะ การทำมาหากินของผู้ใหญ่ ฯลฯ หรือแม้การจินตนาการพรของเขาที่เชื่อมโยงถึงอาชีพในอนาคตของเขาได้
แต่กับเด็กรุ่นนี้ เท่าที่ผมอ่าน ส่วนใหญ่เค้าจินตนาการถึงเรื่องเหล่านั้นไม่ค่อยออก และต้องไม่ลืมว่าเด็กรุ่นนี้ คือ นักเรียนที่เผชิญกับสถานการณ์โควิด 2 ปี และเป็น 2 ปีที่ต้องเรียนออนไลน์ และได้โอกาสเรียนรู้น้อยกว่าภาวะปกติ และในฐานะที่เคยเป็นครูมาก่อน เรารู้สึกว่าความสามารถทางภาษาต่างไปอย่างเห็นได้ชัด ส่วนใหญ่เป็นประโยคความเดียว เป็นภาษาที่ไม่มีความซับซ้อน ไม่มีประโยคที่ร้อยเรียงคำและความหมายแบบเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อเทียบปีที่แล้ว และเรื่องราวที่เล่ามาก็ไม่ได้ไกลกว่าเรื่องตัวเองและครอบครัว ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่จะตำหนิอะไรกัน แต่อยากสะท้อนว่าภาวะโควิดทำร้ายการเรียนรู้และโอกาสในการใช้ชีวิตของเด็กที่จะเรียนรู้และอยู่กับสังคมที่มีเรื่องราวมากมาย
เล่ามาซะยึดยาวเนี่ย เพราะนอนไม่หลับและคิดว่าทำไมเรื่องนี้โจทย์มันซับซ้อนจัง และก็อยากจะบอกว่า เรายังเชียร์ให้มีโครงการ ”ก้าวเพื่อน้อง” นี้ต่อไป และถ้าจะคาดหวังให้โครงการนี้เลิกไป จริงๆ ก็เพราะเหตุผลว่าสังคมไทยพร้อมจะโอบอุ้มผู้คนผ่านนโยบายที่ inclusive และ effective มากกว่าการที่จะเลิกโครงการคำวิพากษ์วิจารณ์ครับ
by kokoyadi | Apr 24, 2022 | Blog, Works
ชวนอ่านงาน “ตรวจการบ้านผู้ว่าฯ คนเดิม เติมผู้ว่าฯ คนใหม่” กันครับ
https://tdri.or.th/…/bangkok-governor-monitoring…/
ซึ่งงานนี้ พวกเราทีม TDRI และ UddC คุยเตรียมตัวกันตั้งแต่ต้นปีตอนที่ยังไม่ประกาศเลือกตั้งด้วยซ้ำนะครับ นักวิจัยกว่า 30 คน Zoom ประชุมกันหลายรอบถึงกรอบ ประเด็น โจทย์ และวิธีการเล่าเรื่องให้กระชับและตรงประเด็น
ประเด็นตกผลึกชัดตั้งแต่ต้นเมษายน และล๊อกคิวคนเกี่ยวข้องต่างๆ พร้อมแจ้งผู้สมัครที่มีชื่อในสื่อทุกท่านแล้วว่าพวกเราจะเสนองานวิจัยฉบับนี้ในประเด็นทั้ง 9 ที่ทีมวิจัยทำงานเกี่ยวข้องมา และชวนให้มาร่วมงาน
ก่อนงานเราคาดว่า จะมีผู้สมัครมาร่วมงานทั้งหมด 6 คน เพราะส่วนใหญ่ทุกท่านตอบรับอย่างดี แต่หลังจากมีเราส่งรายงานฉบับ 32 หน้าส่งให้ผู้สมัคร ก็มีผู้สมัครบางท่านอยากส่ง “ทีมนโยบาย” มาแทน และบางท่านถอนตัวด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ซึ่งในนามผู้จัดต้องขอสงวนเวทีให้กับผู้สมัครเท่านั้น ที่ต้องเล่าเพราะมีบางคน ร่วมถึงคนรู้จักก็คอมเมนต์ว่า ทำไมเราเชิญแค่สายที่เรียกว่า “ฝั่งประชาธิปไตย” เท่านั้น ซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจให้ออกมาแบบนี้นะครับ
แม้กิจกรรมนี้ จะมีแค่ “ผู้สมัคร 3 ท่านนี้เท่านั้น” ที่พร้อมมาตอบโจทย์เชิงนโยบายกับทีมวิจัยของพวกเรา แต่ทุกท่านกล้าหาญพอที่จะตอบคำถามยากๆ จากทั้งคุณจอมขวัญและอ.สมเกียรติ ผมจึงอยากชวนลองดูเวทีนำเสนอและบททดสอบการตอบโจทย์ของผู้สมัครทั้ง 3 เมื่อวานนี้
https://youtube.com/watch?v=QkT0znOOHz8%3Fstart%3D1
https://www.youtube.com/watch?v=QkT0znOOHz8
และแน่นอน อยากชวนให้ทุกท่านลองเลือกจากลิสต์นี้ นี่แหละ ผมว่าเป็น ผู้ว่าฯ ที่พร้อมเป็นของคน กทม. และเราจะใช้เขาและสนับสนุนเขาให้เป็นผู้ว่าที่คน กทม. จริงๆ และจะจุดประกายให้ทุกจังหวัดจะต้องมี ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของคนในพื้นที่ และกล้าพูดแทนคนในพื้นที่ มากกว่าคนที่ส่วนกลางส่งไปทำหน้าที่… ขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ครับ… ขอบคุณจริงๆ