Visualization – เลือกตั้ง 62

Visualization – เลือกตั้ง 62

แม้ว่า กลไก “การเลือกตั้งทั่วไปปี 2562” ที่เราใช้เหตุผลว่าการจัดสรรปันส่วน ทำให้แต่ละพรรคการเมืองต้องพยายามวางแผนสู้กับกฎกติกาต่างๆ และมีเรื่องน่าปวดหัวมากมาย ทำให้การวัด / เปรียบเทียบ / วิเคราะห์ข้อมูลทำได้ไม่ง่ายเท่าไหร่ เช่น เพื่อไทยส่ง สส. ลงสมัครเลือกตั้งเพียง 250 เขตจากเขตเลือกตั้งทั่วประเทศทั้งหมด 350 เขต

แต่ยังไงก็ตาม คะแนนเสียงของการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจมาคิดกันต่อกัน และจริงๆ อยากชวนทุกท่านลองดูงาน Visualization จากผลคะแนนการเลือกตั้งทั่วไป 62 ของ กกต. นะครับ 

โดยข้อมูลชุดนี้ เริ่มต้นจากคะแนนดิบของผลการเลือกตั้งทั้ง 350 เขตของ กกต. (ซึ่งอัพเดทคะแนนเลือกตั้งซ่อมที่เชียงใหม่ เขต 8 ไปด้วยแล้วนะครับ) มารวมคะแนนเป็น “รายจังหวัด” และคำนวณสัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์เพื่อดูว่า Pattern ของเสียงที่ได้ในทั้ง 5 พรรคนั้น สามารถครองใจคนในจังหวัดนั้นๆ ได้เท่าใด (พรรคเล็กๆ ไม่ต้องน้อยใจนะครับ ขี้เกียจทำ) 

ใน Visualization ชิ้นนี้ จึงเลือกพรรคการเมืองมา 5 + 1 พรรค คือ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย อนาคตใหม่ เพื่อไทย และพรรคอื่นๆ 

ซึ่ง 4 พรรคแรก คือ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย อนาคตใหม่ ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งลงครบ 350 เขต แต่เพื่อไทยส่งผู้สมัครแบบเขตเพียง 250 เขต ทำให้ในหลายจังหวัดคะแนนของเพื่อไทย คนในจังหวัดนั้นจึงไม่ลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยได้ ตั้งแต่ กาญจนบุรี จันทบุรี ตรัง ตราด นครปฐม นครศรีธรรมราช พังงา พิจิตร ยะลา ระนอง ราชบุรี สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี อุทัยธานี เพชรบุรี แพร่ (รวม 17 จังหวัด)

ซึ่งถ้าให้แกะต่อว่า คะแนน สส. 17 จังหวัดนี้ ไปอยู่ในมือของพรรคใดบ้าง ก็มีดังนี้ 

กาญจนบุรี (พลังประชารัฐ) จันทบุรี (อนาคตใหม่) ตรัง (ประชาธิปัตย์) ตราด (อนาคตใหม่) นครปฐม (อนาคตใหม่) นครศรีธรรมราช (ประชาธิปัตย์) พังงา (ประชาธิปัตย์) พิจิตร (พลังประชารัฐ) ยะลา (ประชาชาติ) ระนอง (ภูมิใจไทย) ราชบุรี (พลังประชารัฐ) สงขลา (ประชาธิปัตย์) สตูล (ภูมิใจไทย) สุราษฎร์ธานี (ประชาธิปัตย์) อุทัยธานี (ภูมิใจไทย) เพชรบุรี (พลังประชารัฐ) แพร่ (อนาคตใหม่)

ซึ่งถ้าให้วิเคราะห์เร็วๆ คือ แบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ยังไงก็อาจไม่ได้ สส. อย่างภาคใต้ ที่ประชาธิปัตย์ หรือ ประชาชาติ ครองอยู่ แต่แอบคิดว่า ซีกของฝ่ายที่เสียงหาอยู่ฝั่งประชาธิปไตย (และคนก็เชื่อว่าอยู่) ภูมิใจไทย กับ อนาคตใหม่ นี่ได้คะแนนมาเต็มๆ  

แน่นอน วิเคราะห์หลังเกมนี่จะยังไงก็ได้นะครับ เอาเป็นว่า อยากชวนให้ทุกคนลองแกะ และวิเคราะห์กันตามสะดวกเลยนะครับ 

ซึ่งเวลาดู Visualization ชิ้นนี้ เราพยายามแสดงผลว่า พรรคแต่ละพรรคได้เสียง คิดเป็น % ของผู้ลงคะแนนเสียงเป็นหลักนะครับ แต่ถ้าใครอยากดูจำนวนคนเอาเมาส์ไปจ่อในแผนที่ ก็จะแสดงตัวเลขทั้ง “คะแนนเสียงของรายจังหวัด” และเปอร์เซนต์ที่มีคนเลือกของพรรคนั้นๆ เลย 

และถ้าอยากรู้ว่า จังหวัดของคุณ มีคะแนนเสียงของคนเลือกพรรคต่างๆ มากแค่ไหนเมื่อเทียบเป็น % ก็สามารถเลือกดูรายจังหวัดที่ด้านขวาเลยนะครับ

อ่านแล้วจะมีบทวิเคราะห์ หรือ คำแนะนำก็ยินดีนะครับ 

Idea and Creator: Kokoyadi
Tableau Visualization: BaimonTSK

Drone – โดรน

Drone – โดรน

Infographics “Drone – โดรน” อากาศยานไร้คนขับ 

เผยแพร่ครั้งแรกในงาน TDRI Annual Public Conferance 2018 

เพื่อบอกเล่าถึง ความสวนทางกันระหว่าง การพัฒนาทางเทคโนโลยี และ ทัศนคติของภาครัฐในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลในช่วงเทคโนโลยีปั่นป่วน

โดรนถูกเริ่มพัฒนาโดยกองทัพสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2517 เพื่อใช้ในการสอดแนมและทิ้งระเบิด หลังจากนั้นโดรนจึงถูกพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงและราคาถูกลงเพื่อจำหน่ายเป็นโดรนใช้งานทั่วไป (Consumer drone)

เช่น การเล่นเป็นงานอดิเรก และถูกนำมาประยุกต์ทางการพาณิชย์มากขึ้น เช่น การถ่ายภาพมุมสูงสำรวจพื้นที่ก่อสร้างในธุรกิจการก่อสร้าง หรือประเมินเจริญเติบโตของพืชในธุรกิจเกษตร  การประยุกต์ใช้โดรนกำลังพัฒนาล้ำหน้ามากขึ้นเมื่อภาคธุรกิจในต่างประเทศเริ่มทดลองนำโดรนเข้ามาใช้ในการส่งพัสดุ เช่น บริษัทอีคอมเมิร์ซ Amazon.com Inc. ซึ่งทดลองการให้บริการ Amazon Prime Air ตั้งแต่ปี 2556

การนำโดรน มาใช้ในพื้นที่เปิดในลักษณะนี้สร้างความกังวลให้แก่องค์กรกำกับดูแลของรัฐว่าจะมีการนำไปใช้ละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน เนื่องจากโดรนมักประกอบด้วยกล้องถ่ายภาพและวีดีโอ และสร้างอันตรายต่อชีวิตและความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน เช่น เกิดอุบัติเหตุชนกับอากาศยานอื่น

การกำกับดูแลโดรนของไทยอยู่ภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497[3]  และ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และมีหน่วยงานกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากโดรน 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และ สํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ผู้ใช้โดรนจะต้องขึ้นทะเบียน “ผู้ครอบครองโดรน” และเครื่องโดนกับสำนักงาน กสทช.[4]  และขึ้นทะเบียน “ผู้บังคับโดรน” กับสํานักงานการบินพลเรือนฯ โดรนที่ต้องขึ้นทะเบียนประกอบด้วยโดรนที่ติดกล้องและโดรนที่ไม่ติดกล้องแต่มีน้ำหนักมากกว่า 2 กิโลกรัม ผู้ที่ไม่ดำเนินการขึ้นทะเบียนโดรนอาจได้รับโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การกำกับดูแลการใช้โดรนของประเทศไทยมีทั้งส่วนที่สอดคล้องกับหลักสากลและส่วนที่ยังต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับหลักสากล ส่วนที่สอดคล้องกับหลักสากลมีอยู่ 4 ข้อสำคัญ คือ ต้องบังคับโดรนให้บินในวิสัยการมองเห็น (Visual line of sight) เท่านั้น ห้ามบินกลางคืน ห้ามบินสูงกว่า 90 เมตรจากพื้นดิน และ ห้ามทำการบินละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ส่วนหลักการการกำกับดูแลที่ยังต้องปรับปรุงให้เป็นสากลมี 2 ข้อ ข้อแรกคือการที่ผู้ใช้โดรนจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแล 2 แห่ง ในขณะที่ในต่างประเทศนั้น มีหน่วยงานกำกับดูแลโดรนเพียงแห่งเดียว เช่น Federal Aviation Administration ที่กำกับดูแลการใช้โดรนเพียงแห่งเดียวในสหรัฐอเมริกา และ ข้อสองคือการกำหนดให้รัฐมนตรีเป็นผู้ให้อนุญาตการใช้โดรนเพื่อการพาณิชย์และเพื่องานทางวิชาการ ในขณะที่ในต่างประเทศการอนุญาตการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับโดรนจะจบที่หน่วยงานกำกับดูแล โดยไม่ไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองแต่อย่างใด เพื่อมิให้การอนุญาตถูกการเมืองแทรกแซง

ติดตามเพิ่มเติมได้ใน https://tdri.or.th/2018/04/tdri-annual-public-conference-2018/