มองหลักสูตรนิเทศ-วารสารฯ ในอนาคต

มองหลักสูตรนิเทศ-วารสารฯ ในอนาคต

วันนักข่าวที่ผ่านมา มีนักข่าวมาสัมภาษณ์ผมเรื่อง “มุมมองหลักสูตรนิเทศ-วารสารศาสตร์ในอนาคตอย่างไร เลยอยากเอามาแชร์ใหฟังดูนะครับ ว่าผมคิดยังไง

ซึ่งโจทย์ใหญ่ ทีมสัมภาษณ์ วางประเด็นไว้ 2-3 ประเด็นดังนี้นะครับ
-มองหลักสูตรนิเทศฯ วารสารฯ ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาอย่างไร
-ปัจัยอะไรที่มีผล ต่อหลักสูตรนิเทศ วารสารฯ (ขยายต่อจากคำตอบด้านบน)
-เทรนด์การเรียนการสอนในอนาคตจะไปในทิศทางใด และอะไรที่ควรปรับเพิ่มมาเพื่อตอบรับกับสื่อในอนาคต

เลยตอบไปแล้ว ซึ่งปรากฏในบทสัมภาษณ์ ตามนี้ครับ

…สิ่งที่เห็นชัดเจนในหลักสูตร นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ ในช่วง 5 ถึง 10 ปีที่ผ่านมา คือภาพรวมที่เป็นด้าน บวกมากขึ้น เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและ ปรับตัวของทุกสถาบันที่เกิดขึ้น พยายาม ที่จะทำให้เป็น “digital journalism” มาก ขึ้น และมีพื้นที่ให้นักศึกษาลองเล่น อะไรเยอะขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ ดี แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือ เทรนด์ ของนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ ว่าใน อนาคตควรจะเป็นไปในทิศทางใด

“มีอยู่ 2 ประเด็น ที่อยากเห็น ในหลักสูตรคณะนิเทศฯ หรือวารสารฯ ก็ตาม นั่นคือ

1.มีวิชาตัวเบา คือ การ เข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้ยึดติดกับอะไร และต้องพยายามปรับตัวได้เร็ว พร้อมที่ จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะว่าโจทย์วันนี้เปลี่ยนไป แค่ทักษะการอ่านออกเขียน ได้ ไม่เพียงพอแล้วในปัจจุบัน เพราะใน แต่ละวันนี้มีอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้เสมอ เช่น Data literacy ความรอบรู้ด้านข้อมูล, Health literacy ความรอบรู้ ด้านสุขภาพ หรือแม้แต่ Digital literacy ทำให้มีความต้องการความรู้เฉพาะทาง เฉพาะด้าน มากขึ้น และบทบาทของ สื่อมวลชนต้องไวต่อเรื่องพวกนี้และปรับ เปลี่ยนได้ตลอดเวลา”

“เพราะทุกวันนี้ น้ำหนักข่าวไปอยู่ ในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ เทรนด์ หลายๆ อย่างถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และเร็วขึ้น เช่น 3-4 ปีที่ผ่านมา video journalism มาแรงมากๆในบ้านเรา แต่ วันนี้งานวิจัยของต่างประเทศ บอกว่า เทรนด์ของปี 2562 นี้ วิดีโอจะลดลง
แต่เทรนด์ของ broadcast จะเพิ่มขึ้น และเทรนด์ของ Text ของตัวหนังสือ จะ เพิ่มขึ้นกลับมาทำให้คนอ่านอีกครั้ง ด้วย เงื่อนไขของการปรับ “อัลกอริทึม” ของ บริษัทที่เราใช้โซเชียลมีเดียกัน ฉะนั้นจะ ทำอย่างไรก็ได้ให้หลักสูตรนิเทศฯ วารสารฯ เหมือนมีวิชาตัวเบา” เขายกตัวอย่างให้เห็นชัดขึ้น เช่น Data literacy นักข่าวควรรู้ว่าข้อมูลแบบ ไหนที่นักข่าวจะเข้าถึงได้ และแบบไหนเข้า ถึงไม่ได้ มารยาทของการเข้าถึง อะไร ที่สามารถนำไปเผยแพร่ได้ และมากน้อย แค่ไหน มันควรหรือไม่

เช่น กรณีที่ นักข่าวไปหาข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของ นักร้องคนไทยที่ไปเติบโตโด่งดังในเกาหลี ถึงขั้นไปที่บ้านสัมภาษณ์ปู่ย่าตายาย แม้ ในมุมการเป็นคนสาธารณะ ควรเข้าถึงได้ แต่มารยาทในการเข้าถึงข้อมูล และนำ มาเผยแพร่เหมาะสมหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ เป็นหัวใจของคำว่า privacy เส้นแบ่ง ที่มักถูกตั้งคำถามตลอดเวลา ประเด็น เหล่านี้จำเป็นต้องมี literacy ความฉลาดรู้ ใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ

2. นักข่าวในอนาคต ควรมีความรู้แบบตัว “T” อันอาจจะดู สวนทางกันกับข้อแรก ที่ควรรู้ทุกเรื่อง เพราะนักข่าวจะถูกพูดถึงเสมอว่าเป็น เหมือน “เป็ด” รู้ได้ทุกอย่าง แต่ความรู้ แบบตัว T คือ การมีความรู้ที่ “เจาะลึก” เฉพาะทางที่ตัวเองควรจะเป็น มุมลึกที่ตัว เองสนใจเฉพาะด้านเป็นพิเศษ นักข่าวรู้ กว้างจริง แต่มุมของการรู้ลึก เรายังถูก ตั้งคำถามอยู่กันเยอะ สมัยก่อน

ถ้าบอก ว่านักข่าวทำอะไรได้บ้าง ส่วนใหญ่ก็เขียน ถ่ายรูป แต่ไม่เคยมีใครตั้งคำถามว่านักข่าว ควรจะรู้เรื่อง Coding หรือไม่ ควรจะรู้ เรื่องกระบวนการด้านข้อมูลหรือไม่ เช่น เวลาพูดถึง Data journalism มันคือ วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล ความสามารถ ของนักวารสารศาสตร์ จึงควรมีความรู้ ในเรื่องของ Data ด้านการเก็บข้อมูล ประมวลผลใช้ข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ ฟังดูเหมือนมันห่างไกลกันมาก แต่จุดที่ สำคัญคือ ตอนนี้ในสังคมเรามีข้อมูลเยอะ มาก เพราะฉะนั้น การทำข่าวที่มีความรู้กว้างรู้ลึก มันจะช่วยตอบโจทย์สังคม”

นักข่าวพยายามจะช่วยกันยกระดับ ให้สังคมมีความเป็นเหตุผล มีความรู้ หาข้อมูลได้ดีขึ้นหรือเปล่า เช่น เรื่อง ไสยศาสตร์ เรื่องลี้ลับ และเชื่อมโยงให้ มันเป็นเหตุเป็นผล คำถามคือคนในสังคม จะมีความเชื่อมั่นกับสื่อมวลชนมากน้อย แค่ไหน เพราะทุกวันนี้ ถึงขั้นมีคำพูด ที่ว่าใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้ ก็เป็นอย่าง นั้นจริงๆ เพราะนักข่าวไม่ได้มีความ สามารถในการอธิบายปรากฏการณ์ได้ ทุกเรื่อง

แต่กลับกัน ด้วยแพลตฟอร์ม อย่าง Social Media เช่น Facebook, Google มันช่วยให้คนที่อยู่ในเชิงลึก เรื่องนั้นๆ สามารถพูดด้วยภาษาของ เขา สื่อสารไปถึงคนอื่นๆ ได้ด้วย ทั้งที่ อันนี้เป็นบทบาทของนักข่าว แต่นักข่าว ไม่สามารถทำหน้าที่นั้นหรือบทบาทนี้ได้” “โจทย์จึงกลับมาที่ห้องเรียนของนิเทศฯ วารสารฯ ว่า การที่มี Active Learning คือห้องเรียนที่เป็นห้องทำงาน เป็นสนาม เรียนรู้ ลองของใหม่ๆ ตลอดเวลา มันจะ ช่วยหล่อหลอมคนอีกแบบหนึ่ง

ผมคิดว่า นี่เป็นหัวใจสำคัญ ที่การเรียนการสอน ในอนาคตควรจะปรับเพิ่ม หรือแม้แต่ คณะอื่นๆ การเรียนสาขาอื่นๆ ก็เป็น ไปในทางแนวโน้มแบบเดียวกัน เพราะ เทรนด์ของโลกเป็นไปแบบนี้ ทุกคนต้อง รู้ทุกกระบวนการ รู้ทุกอย่าง แต่ในขณะ เดียวกันก็ต้องมีโฟกัสของตัวเองด้วย มัน คือการ Balance กันในห้องเรียน ในสื่อ ปัจจุบันเองทุกวันนี้ผู้บริหารสื่อหลายคนรู้ อยู่แล้วว่าของหลายๆอย่างจะถูก Disruption ฉะนั้นการที่เขาถูก Disrupt กับการ ที่ Disrupt ตัวเอง ตัวผลลัพธ์มันต่างกัน เยอะ ถ้าถูก Disrupt นั่นคือนั่งรอ แต่ถ้า เรา Disrupt ตัวเอง เราก็จะได้ลองของ ใหม่ ล้มเอง เล่นเองก็จริง แต่ได้ของที่ ตัวเองกำหนดปลายทางได้…

สำหรับใครอยากอ่านความเห็นคนอื่นๆ ในเรื่องนี้ ติดตามได้ #นิเทศศาสตร์ Never Die
https://www.tja.or.th/books/34-journalist-day/4919–5-2561-

The 101 World – “เปลี่ยนสถาบันวิจัย TDRI อันขรึมขลังสู่ Community Space”

The 101 World – “เปลี่ยนสถาบันวิจัย TDRI อันขรึมขลังสู่ Community Space”

ชวนติดตามบทสัมภาษณ์ของผม โดยทีมงาน The 101 World  

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง
เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

——————————————————————————

 

ที่ทำงานในฝันของคุณเป็นแบบไหน

มีพื้นที่กว้างๆ ให้เลือกนั่งได้ตามสบาย มีห้องสมุดที่อัดแน่นด้วยหนังสือที่คุณสนใจ มีโต๊ะปิงปองให้คุณไปเล่นได้ทุกครั้งที่เครียด มีระเบียงที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ มีโต๊ะทำงานที่สะอาดสะอ้าน มีมุมเงียบสงบส่วนตัวเวลาคุณไม่อยากยุ่งกับใคร หรือมีโต๊ะให้เล่นบอร์ดเกม แล้วยังเหลือพื้นที่ว่างให้สั่งไก่มากินระหว่างเล่นได้ด้วย ?

บางคนอาจบอก — การไม่ต้องทำงานต่างหากคือความฝันที่แท้จริง เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งปลอบประโลมความเหนื่อยยากในการทำงานเท่านั้น แต่กับบางคนที่ชีวิตกับงานไม่ได้แยกขาดออกจากกัน และมองว่างานมิใช่ความทุกข์ ที่ทำงานที่ดีย่อมส่งผลต่อความสุขของชีวิต

ข้างต้นที่กล่าวไป ทั้งหมดเกิดขึ้นจริงแล้วในสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เพิ่งรีโนเวทภายในอาคาร ปรับโฉมจากออฟฟิศที่ขรึมขลังอย่างนักวิชาการ โต๊ะทำงานแยกส่วนอยู่ใครอยู่มันคนละแผนก ให้กลายเป็นออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับ ‘พื้นที่’ เพราะพวกเขาเชื่อว่าพื้นที่สร้างคนได้ Community Space ที่กว้างขวางจึงเกิดขึ้น พร้อมๆ กับใส่ใจพื้นที่ทำงานที่เรียกได้ว่า ‘คิดทุกเม็ด’ จริงๆ

ทีดีอาร์ไอก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2527 ในรูปของมูลนิธิ เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ทำงานวิจัยเชิงนโยบาย ไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังทำงานวิจัยด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การต่อต้านคอร์รัปชัน สิ่งแวดล้อม ระบบสวัสดิการสังคม ฯลฯ เป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ที่นี่จึงมีนักวิจัย นักวิชาการทำงานอยู่มากมาย ที่ผ่านมา งานวิจัยจำนวนมหาศาลที่ล้วนเข้มข้นและน่าสนใจจึงเกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้

ลบภาพนักวิชาการสวมแว่นหนาเตอะ นั่งอยู่ในห้องทำงานบนหอคอยงาช้าง มีกองหนังสือพะเนินท่วมหัว คร่ำเคร่งกับงานวิจัยที่คนทั้งโลกไม่มีวันเข้าใจทิ้งไป

เมื่อเราขึ้นมาบนชั้น 5 ที่เป็น Town Hall ทีดีอาร์ไอต้อนรับเราด้วยบาร์สีสว่าง และถามเราว่า จะรับน้ำเปล่า น้ำส้ม หรือกาแฟ

 

 

พื้นที่สร้างคน

 

“โจทย์ใหญ่ที่พวกเราพยายามทำก็คือทำงานวิจัยเชิงนโยบายที่ตอบโจทย์สังคม และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้คนจริงๆ” โก้ – พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ ผู้จัดการอาวุโส ด้านงานสร้างสรรค์และสื่อสารสาธารณะ ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการรีโนเวทออฟฟิศครั้งนี้ เริ่มต้นบทสนทนา

 

โก้ – พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ ผู้จัดการอาวุโส ด้านงานสร้างสรรค์และสื่อสารสาธารณะ ทีดีอาร์ไอ

 

เขาเล่าว่าเพราะต้องการทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ปัญหาสังคมที่ซับซ้อน และสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงจำเป็นต้องได้นักวิจัยเก่งๆ ที่อาจไม่เหมือนที่เคยมีเข้ามาทำงาน เช่น จากเดิมอาจเก่งวิชาการ แต่วันนี้ต้องการความเก่งที่หลากหลายขึ้น เช่น ต้องสื่อสารเป็น ต้องทำงานร่วมกับคนที่หลากหลายได้ ต้องทำงานเป็นทีมได้ ขณะเดียวกันบรรยากาศการทำงานก็ต้องสนุกพอไม่คร่ำเคร่งเกินไปจนปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ เพราะที่นี่อยากให้คนมีความสุขเพื่อการเติบโตทางความคิดในทางวิชาการด้วย

“นำมาสู่โจทย์ที่ว่าถ้าออฟฟิศเราจะดีพอ หรือดียิ่งขึ้น ต้องทำยังไงบ้าง” พีระพงษ์เริ่มเล่าที่มาในการตั้งโจทย์สู่การออกแบบ

“ตอนนี้ นักศึกษาจบใหม่เป็นคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าคนยุคมิลเลนเนียลส์หน้าตาเป็นยังไง ต้องการอะไร ที่ผ่านมา TDRI ทำหลายอย่างแล้ว พยายามวางแบรนดิ้งใหม่ ดีไซน์โลโก้ หน้าตาเว็บไซต์ วิธีสร้างสรรค์งานอีเวนต์ต่างๆ เปลี่ยนโฉมไปเยอะมากเลย แต่ตัวตึกเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราเปลี่ยน เพราะอาจจะปรับไม่ง่ายเท่าไหร่

“สุดท้ายเราไปได้ทีมดีไซเนอร์ที่เข้าใจเรื่องคน ทีมชื่อว่า Paperspace เป็นบริษัทออกแบบภายใน เขาตีโจทย์ไว้หลายอย่าง อย่างโจทย์ของคนยุคมิลเลนเนียลส์เป็นยังไง ยกตัวอย่างว่าคนยุคมิลเลนเนียลส์ต้องการสภาพแวดล้อมการทำงานที่ได้เรียนรู้ ได้การโค้ชชิ่ง ได้ทำงานไปด้วย รับฟีดแบกไปด้วย ดังนั้นในแง่ฟังก์ชันต้องตอบโจทย์แบบนี้ให้ได้

“ในด้านอารมณ์ความรู้สึกต่อสถานที่เขาคงรู้สึกแฮปปี้กับที่ทำงานที่เขาจะถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียได้ เพราะฉะนั้นต้องดีไซน์ออฟฟิศให้สวย แต่สวยอย่างเดียวก็คงไม่พอ ยังมีโจทย์การชูเรื่อง identity ของทีดีอาร์ไอ ชูเรื่องงานสร้างสรรค์ และโจทย์เรื่องวิธีการทำงานของคนในแต่ละเจนด้วย

“อย่างแรกเราเอาข้อมูลเก่าๆ เกี่ยวกับการใช้ตึกทั้งหมดมาดู เช่นเรื่องการใช้ห้องประชุมเป็นยังไง การจัดสรรกำลังคน ใครนั่งตรงไหน เราพยายามจะวางเลย์เอาท์ใหม่ทั้งหมด รื้อใหม่หมดเลยว่าใครเคยนั่งตรงไหน ลืมไปให้หมด

“สมัยยังเป็นตึกเก่า คิดภาพองค์กรที่มีหน่วยวิจัยประมาณเกือบ 20 หน่วย แต่ละหน่วยอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง โอกาสได้เจอคนต่างกลุ่มกันก็น้อย โอกาสได้แลกเปลี่ยนก็น้อย คราวนี้เราทำไง วิธีง่ายสุดคือทลายกำแพงทิ้ง คือกำแพงแบบ physical เลยนะ กำแพงคือตัวกันแสง แต่โดยตัวมันเองก็ไม่ได้กันแค่แสงอย่างเดียว แต่กันความรู้สึกของผู้คนภายในตึกด้วย ว่าส่วนนี้เป็นของใคร กลุ่มไหน เราอยากสร้างความรู้สึกที่คนเชื่อมโยงกันภายในสถาบันทั้งหมด เราจึงต้องเปลี่ยน

“พอทลายกำแพงทิ้งเสร็จ ไม่พอแล้ว ต้องทำยังไงให้คนมาคุยกันด้วย ถ้าเราไม่ใส่กิจกรรมหรือวัฒนธรรมอะไรบางอย่าง คนจะมาเจอกันมั้ย ก็นั่งที่เดิม ใส่หูฟัง นั่งดูหน้าจอของตัวเอง 8 โมงมา 5 โมงกลับ ก็จบ”

 

พื้นที่ Town Hall ชั้น 5 ของอาคารทีดีอาร์ไอ เปิดให้เป็นพื้นที่อิสระสำหรับคนทำงาน

 

นี่เป็นเหตุผลที่ทีดีอาร์ไอสร้างสรรค์พื้นที่ใหม่ๆ ในชั้น 5 ให้เปิดเป็นพื้นที่อิสระ ใครอยากจะมานั่งทำงาน พูดคุยกันก็มีโต๊ะจำนวนมากให้เลือกใช้ ขณะเดียวกันกำแพงก็พร้อมจะกลายเป็นบอร์ดให้คนมาขีดเขียน เอาโพสต์อิทมาแปะ นั่งถกประเด็น และเสนอโปรเจ็กต์ตัวเองได้อย่างอิสระ เครื่องดื่มวางอัดแน่นอยู่ในตู้แช่เย็นเฉียบ ไม่จำเป็นต้องมีคนคุมหน้าแคชเชียร์ เพราะป้าย QR code ทำหน้าที่รับเงินอยู่แล้วอย่างขยันขันแข็งไม่ส่งเสียง อยู่กันด้วยความไว้อกไว้ใจ

“เราเลือกใส่กิจกรรมภายในต่างๆ หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ CEO Talk ที่ชวน CEO ที่ประสบความสำเร็จภาคธุรกิจมาแบ่งปันประสบการณ์ ชวนอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ท้าทายมาคุยในกิจกรรม Academic Talk ชวนคนทำงานนโยบายมาเล่าโจทย์ใหญ่ของประเทศอย่าง Policy Talk

“รวมถึงการหยิบเอาหนังสือที่น่าสนใจมาเปิดประเด็นพูดคุย โดยเชิญคนแปลและคนเขียนมาเล่าเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับคนทำงาน เช่น เชิญ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้แปล เซเปียนส์  และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เขียน Chaina 5.0 รวมถึงสร้างคลับเอาหนังสือที่ต่างคนต่างอ่านมาชวนกันคุย เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้นักวิจัยในทีดีอาร์ไอให้รู้ลึกและรู้กว้าง”

ตัวกิจกรรมที่พวกเขาพยายามทำ เป็นส่วนที่ดึงนักวิจัยจากที่แยกกันทำงานบนโต๊ะของตัวเอง ให้เริ่มขยับรวมกลุ่มกันมากขึ้น เดินมาหากาแฟขนมนมเนยทาน และว่ากันว่า ไอเดียดีๆ มักจะเกิดจากการคุยเล่นกันซะส่วนมาก

เมื่อกำแพงทลายลงและพื้นที่กว้างขึ้น เส้นแบ่งระหว่างช่วงวัยก็ค่อยขยับเข้ามาหากัน พนักงานในทีดีอาร์ไอมีตั้งแต่เด็กจบใหม่ วัยกลางคน ไปจนถึงผู้ใหญ่อายุ 80 ปี เมื่อกิจกรรมหลากหลายมากขึ้น คนต่างรุ่นกันก็ได้แลกเปลี่ยนกันมากขึ้นไปด้วย

“ห้องนักวิชาการที่นี่ เวลาทำงานไม่ค่อยปิดประตูกันนะ” พีระพงษ์กล่าวด้วยรอยยิ้ม

“เราว่านี่เป็นเรื่องใหญ่นะ ถ้าเขาปิดประตู ก็จะสร้างวัฒนธรรมบางอย่าง เวลาเราไปหาต้องเคาะก๊อกๆ แล้วถึงจะไปคุยกับเขาได้ เพราะฉะนั้น power relations คนละเรื่องกัน นักวิชาการยิ่งเป็นผู้ใหญ่มักจะไม่ปิดประตู ถามว่าเพราะอะไร เพราะต้องการบรรยากาศที่ว่าเขานั่งทำงานอยู่แล้วเข้าถึงได้ ไม่ได้มีวัฒนธรรมที่มีพิธีรีตอง ที่ทำให้เราต้องเดินไปเคาะห้อง แล้วต้องเข้าไปขออนุญาตคุย ส่วนใหญ่ทำงานแบบร่วมมือกัน

“พูดดูสวยเนอะ แต่ของที่มองไม่เห็นที่ช่วยให้คนร่วมมือกัน ต้องทำยังไง เดิมตัวห้องเป็นกระจก ติดฟิล์มทั้งอันเลย เรารู้สึกว่า แบบนี้เป็นบรรยากาศที่เพิ่มระยะห่างโดยไม่จำเป็น โอเค เราควรจะติดฟิล์มเพื่อมี privacy อะไรบางอย่าง เลยมีฟิล์มเท่าที่จำเป็น แล้วส่วนใหญ่บรรยากาศคือเปิดประตู เวลคัมคนตลอด เพราะฉะนั้นการจะสร้างบรรยากาศการทำงานแบบร่วมมือกัน มีของที่มองไม่เห็นด้วย ทำยังไงให้ของแบบนั้นไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานในออฟฟิศ”

เมื่อเราเดินดูรอบออฟฟิศ พบว่าบรรยากาศในชั้นทำงานสว่างไสว แต่ละโต๊ะมีพื้นที่ของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ไม่ปิดกั้นโอกาสในการพูดคุยกับคนอื่น มุมไหนต้องการสมาธิมาก ที่กั้นด้านหน้าจะสูงหน่อย ส่วนมุมไหนต้องรับแขก ที่กั้นข้างหน้าก็ลดลงมาต่ำจนแทบไม่มีเส้นกั้น — และจริง ห้องนักวิชาการไม่ปิดประตู

 

ระดับของโต๊ะทำงานและตู้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตา ทำให้ห้องดูโล่งไม่ทึบทึม สังเกตตรงถาดวางกระถางต้นไม้ ออกแบบเฉพาะโดยใช้วัสดุที่ไม่เปื่อยเมื่อเปียกน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่ทำงาน และห้องทางขวามือคือห้องของนักวิชาการที่เปิดไว้ตลอดเวลา

 

ออฟฟิศเก่าก่อนรีโนเวท ชั้นวางของและเสาวางบังแนวสายตา และมีกำแพงกั้นแต่ละฝ่ายหนาแน่น

 

ไม่ใช่เท่านั้น ที่นี่ยังมีล็อกเกอร์เตรียมเอาไว้ให้พนักงาน โดยวัดขนาดความสูงให้ใส่ไม้แบดฯ ได้พอดี คนที่นี่นัดออกกำลังกายกันเป็นปรกติ ตอนเย็นเข้าฟิตเนส ตีปิงปอง เล่นโยคะ เรียนเต้น ยังไม่พอ ยังออกกำลังสมองด้วยการจัดกิจกรรมอ่านหนังสือ โดยคัดประเด็นที่น่าสนใจ ในวันที่เราไปกำลังอยู่ในช่วง Book Series : Aging ครั้งที่ 2 ว่าด้วยเรื่องสังคมผู้สูงอายุที่จะมาถึงในไม่ช้า ที่น่าอิจฉาไปกว่านั้น คือที่ทีดีอาร์ไอให้พนักงานเบิกเงิน สำหรับการออกกำลังกายกับเพื่อนร่วมงานและค่าหนังสือได้ทุกเดือน !

 

ฟิตเนสอุปกรณ์ครบครัน “หลัง 5 โมงเย็น ไม่เคยไม่มีคน”

 

ห้องประชุมทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เก้าอี้มีล้อเลื่อนทุกตัว เพื่อการเคลื่อนย้ายที่สะดวกและมีอิสระเวลานั่ง

 

“เราเชื่อว่า เรามีระบบสวัสดิการที่พยายามให้เราแข็งแรงทั้งทางร่างกายและสติปัญญา”

“ถ้าถามว่าที่ทำงานที่ดีเราอยากเห็นอะไรบ้าง เราอยากเห็นคนทำงานแบบร่วมมือกัน เราอยากเห็นคนทำงานที่ได้เรียนรู้อะไรระหว่างทำงานไปด้วย ไม่ได้เรียนรู้แต่ตัวงานอย่างเดียว แต่เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน ที่ทำงานที่ดีควรจะเปิดให้คนที่ทำงานได้กล้าลองผิดลองถูก ได้ลองของใหม่ๆ ในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และออฟฟิศที่ดีช่วยเรื่องนี้ได้”

 

 

Quiet Zone มุมส่วนตัวเอาไว้สำหรับอยากอยู่เงียบๆ คุยโทรศัพท์ งีบหลับ หรือแม้แต่แอบกินมาม่า ดูไปก็คล้ายๆ มุมเชื่อมต่อไปกระทรวงเวทมนตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ อยู่ไม่น้อย

 

เส้นแบ่งพร่าเลือนของการงานและครอบครัว

 

ว่ากันว่า หากใครมีเส้นทางการทำงานที่รุ่งโรจน์ ก็มิอาจสมดุลชีวิตส่วนตัวให้รุ่งเรืองตามไปได้ แต่ในยุคสมัยนี้อาจไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป ทั้งเทคโนโลยีที่คนสามารถทำงานที่บ้านได้ หรือกฎเกณฑ์ที่เปลี่ยนไปในหลายๆ ออฟฟิศ ไม่มีข้อบังคับหยุมหยิม หรือวางระเบียบแน่นเป๊ะจนลืมเคารพชีวิตส่วนตัวของคนทำงาน

“ออฟฟิศเราไม่ตั้งกฎอะไรเยอะนะ เพราะใน core value ของเรา มีประโยคหนึ่งที่พวกเราย้ำกันเสมอคือ ให้เคารพคนและทีมงาน”

เมื่อทำให้บรรยากาศของที่ทำงานผ่อนคลายแล้ว ตอนคนกลับบ้านไปจึงไม่ได้หอบความเครียดกลับไปด้วย จึงอาจช่วยสมดุลชีวิตครอบครัวที่ดีในอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันคนทำงานที่นี่ก็มองว่าการเก็บงานไปคิดต่อที่บ้านเป็นความท้าทายสำหรับพวกเขามากกว่าการนั่งทนทุกข์

“สำหรับผมเมื่อพูดถึงครอบครัวที่ดี ก็แล้วแต่ว่าแต่ละครอบครัวจะดีไซน์ยังไง อย่างน้อยที่สุดคนทำงานที่นี่จะมีโอกาสดีไซน์ตัวเอง เวลาคนเติบโตขึ้น ทุกคนก็จะมีทางเลือกที่ดีในการดีไซน์ชีวิตตัวเอง แล้วเวลาเราพูดถึงครอบครัว เราไม่ได้มองว่า ครอบครัวมีแค่แบบเดียว ที่นี่เคารพความหลากหลายทางเพศด้วย การจัดการครอบครัวจึงขึ้นอยู่กับแต่ละคน”

“หรือสำหรับคนที่มีลูกแล้ว พื้นที่ตรงนี้ก็ไม่ได้ปิด ที่ห้องมัลติฟังก์ชันรูม ที่เอาไว้ใช้เต้นแอโรบิก เล่นโยคะ ก็มีลูกของพี่ที่ออฟฟิศมาเต้นโคฟเวอร์เกาหลีกัน

“น้องที่มาเต้น ผมก็เห็นตั้งแต่เขาเล็กๆ ออฟฟิศไม่ได้มีข้อห้ามว่าห้ามมาใช้งานเสาร์-อาทิตย์นะ เราไม่ตั้งกฎอะไรหยุมหยิมหรอก เวลาปิดเทอม น้องๆ ก็มาใช้ชีวิต มานั่งเรียนรู้ เวลาทำรายงานก็มีพี่ๆ นักวิจัยเป็นที่ปรึกษาให้ด้วย เขาเป็นลูกเป็นหลานของคนทั้งออฟฟิศ

“ผมคิดว่า Happy Family ของเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของออฟฟิศด้วย เราเห็นน้องเขาเติบโต แล้วก็มาใช้พื้นที่ร่วมกับเรา เราเห็นพื้นที่ของเรามีชีวิตชีวาแบบนั้น”

 

ห้องมัลติฟังก์ชันรูมเอาไว้ใช้เต้นแอโรบิก เรียนโยคะ หรือแม้กระทั่งซ้อมเต้นโคฟเวอร์เกาหลี

 

นอกจากเรื่องการใช้พื้นที่ร่วมกันของคนในออฟฟิศและครอบครัวแล้ว ที่ทีดีอาร์ไอยังมีแนวคิดเรื่อง Universal Design สนับสนุนการสร้างห้องให้นมบุตร รวมถึงให้ลาคลอดได้ 90 วัน และมีสวัสดิการเบื้องต้นที่เหมาะสมสำหรับพนักงานทุกคน ทั้งนี้กฎเกณฑ์ทั้งหลายก็ไม่ได้เป็นเส้นตาย ที่ขึงขังจนคุยให้ขยับปรับกันไม่ได้

“วิธีคิดของคนที่นี่ เราพยายามไม่ตั้งกฎ แบบไหนคุยกันได้ก็คุย เราเข้าใจด้วยว่าชีวิตครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ แล้วก็ให้พื้นที่กับเรื่องพวกนี้พอสมควร ทั้งในกรณีของผู้ชายและผู้หญิง เบื้องต้นก็ตามกฎหมาย ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องที่คุยกันได้หมดเลย”

“เราเชื่อว่าจริงๆ หลายครอบครัวที่ไม่อยากมีลูก เพราะคิดว่าการมีลูกต้องออกแรงเยอะ โดยปรกติทุกออฟฟิศอยากให้คนออกแรงเพื่องาน เพื่อ productivity ทีนี้โจทย์ของการทำงานแบบที่คาดหวังว่าคนจะออกแรงน้อยลง แล้วแบ่งแรงไปให้ครอบครัวจะทำยังไง เราคิดว่าการทำงานร่วมกันน่าจะเป็นคำตอบนะ

“เพราะสำหรับเรา การทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมงาน แล้วเห็นตัวตน เห็นหัวจิตหัวใจของเขา เห็นข้อจำกัดของแต่ละบุคคล เป็นเรื่องสำคัญนะ ถ้าเกิดบอกว่า คนนี้มีลูก แล้วจะใช้เวลากับลูก เราคิดว่าคนที่เหลือถ้าเห็นเขาเป็นเพื่อน เป็นสมาชิกในคอมมิวนิตี้ของเรา เราคิดว่าทุกคนเข้าใจและพร้อมจะยื่นมือมาช่วย”

เมื่อเราถามว่าบรรยากาศออฟฟิศแบบไหนที่ทำให้คนมีความสุข ทั้งในเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว พีระพงษ์ ตอบว่า

“บรรยากาศของออฟฟิศที่ดี คือออฟฟิศที่เห็นความสำคัญของคน เห็นคุณค่าและความหมายของคนที่อยู่ร่วมกัน และได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน”

 

 

 

“ทางรอดคนสื่อ”

“ทางรอดคนสื่อ”

สัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวชวนให้ไปคุยเรื่อง “ทางรอดคนสื่อ” พร้อมกับโจทย์เรื่อง Data Journalism ซึ่งแอบเดาว่า ทางสมาคมเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญเลยชวนผมไปคุย

ส่วนตัวค่อนข้างแน่ใจว่า คำตอบเรา กับ ความคาดหวังของผู้จัด คงไม่ตรงกันแน่ๆ เลยพยายามสื่อสารและตีโจทย์ไว้ 3 -4 ประเด็น ขอแอบเอา Key Message มาเล่าไว้อีกทีนะครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่พยายามจะผลักดันให้เรื่องนี้เกิดจริงๆ ในไทยและไปรอดถึงฝั่ง

1. Data Journalism อาจไม่ใช่ทางรอดของคนสื่อ และทางรอดของ “คนสื่อ” โดยเฉพาะทางธุรกิจไม่สำคัญเท่ากับทางรอดของ “สื่อ” ต่อ Trust ของสังคม ที่ทุกวันนี้ Trust ต่อสังคมที่ยึดโยงกับสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยมันตกต่ำเกินกว่าจะให้ประชาชนศรัทธาในบทบาทของสื่อ

2. Data Journalism ที่มันเกิดมาเกือบ 200 ปีที่แล้ว มันเกิดจาก “ความไม่เชื่อ” ในผู้มีอำนาจ การตั้งถาม และพลังของการเอาข้อมูลที่มีมาต่อสู้ Mentality แบบนี้มันต้องการสื่อที่มีพลังคัดคานอำนาจ ความรู้ และสถานะทางสังคมของผู้มีอำนาจ

3. งาน Data Journalism ต้องการการทำงานเป็นทีม มีทักษะที่หลากหลาย และเข้าใจการทำงานพื้นฐานของกันและกัน การสร้าง Ecosystem ให้คนทำงานที่หลากหลายได้เจอกัน ได้แลกเปลี่ยนกัน ได้เห็นเครื่องมือของกันและกัน จะสร้างบรรยากาศและความร่วมมือใหม่ให้เกิดได้ คำถามว่าจะเอา “Coder มาเทรนเป็นนักข่าว หรือ จะเอานักข่าวมาเทรนเป็น Coder จึงเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจว่าโลกของการทำงานยุคใหม่เป็นอย่างไร

4. แม้ว่า ต้นทุนของ Data Journalism จะสูง แต่หลาย Business ในแง่ Content ก็สามารถทลายข้อจำกัดด้านการจ่ายเงินได้ ทั้งในรูปแบบของ Subscribe การมี Sponsor หรือแม้กระทั่งการบริจาค ดังนั้น ถ้าผลงานให้คำตอบสังคมได้ในแง่ของ Trust (ในข้อ1) เรื่องต้นทุนไม่ใช่ของยาก

5. Data Journalism เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วย Branding ให้สำนักข่าว เพราะคุณค่า ความน่าเชื่อถือในตัวมันเอง และที่สำคัญใครก็ลอกไม่ได้

ป.ล. บนเวที ผมเปิดประเด็นเรียกแขกว่า นักข่าวต้องเรียน Coding มั้ย ซึ่งก็สนุกดีนะครับที่คนเริ่มมาเถียงกัน สุดท้าย ก็มีสไลด์ที่เตรียมไปอันนึงพอเปิดเล่าให้ฟังจบ คุณสุทธิชัยหัวเราะใหญ่เลยนะครับ

วีดีโอ facebook live ของทาง ThaiPBS

https://www.facebook.com/ThaiPBSFan/videos/247214969282712/  

 

ส่วนสไลด์ที่เตรียมไปอยู่ใน 
https://www.scribd.com/…/DataJournalism-%E0%B8%97%E0%B8%B2%…

.

“ที่ทำงานแห่งอนาคต” ใน ที่นี่บ้านเรา ทาง ThaiPBS

“ที่ทำงานแห่งอนาคต” ใน ที่นี่บ้านเรา ทาง ThaiPBS

ชวนชมรายการ “ที่นี่บ้านเรา” ที่ทาง ThaiPBS พามาดูที่ทำงานของสถาบันวิจัย พร้อมไปกับการสำรวจเทรนด์ใหม่ของการทำงานในปัจจุบัน

ซึ่งผมเป็นส่วนหนึ่งของการรันโปรเจ๊กซ์นี้ครับ 

คลิปต้นทางจาก https://program.thaipbs.or.th/Banrao/episodes/58670 
รายการ ที่นี่บ้านเรา ตอน “ที่ทำงานแห่งอนาคต” ออกอากาศครั้งแรก วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 13.30 น. ทางไทยพีบีเอส

โลกใหม่ ไม่ทำลาย “สื่อฯ” หากทำงานมืออาชีพ สะท้อนความจริงสังคม

โลกใหม่ ไม่ทำลาย “สื่อฯ” หากทำงานมืออาชีพ สะท้อนความจริงสังคม

สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์มาชวนคุยเรื่อง โจทย์ที่ท้าทายในอนาคตของวงการข่าว 
วันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2562 เอามาเก็บไว้ก่อน

 

https://www.tja.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=4884:2019-01-24-14-10-44&catid=168:2018-05-09-12-47-39

ในยุค 2019 ยุคที่เทคโนโลยีสื่อสาร ถาโถม หนักหน่วง  “สื่อสารมวลชน” รวมทั้ง อุตสาหกรรมสื่อฯ จะตั้งรับและปรับเข้าหา  “โอกาส” นั้นได้อย่างไร หรือ คลื่นของเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะกลายเป็น “วิกฤต” ที่เกิดเป็น “สึนามิ”  ที่ “สั่นสะเทือน” ไปทั้งวงการ แต่ไม่ว่าจะเป็น “โอกาส” หรือ “วิกฤต”มีสิ่งที่น่ารู้ และ เรียนรู้ เพื่อรับมือกับ โลกใหม่ที่กำลังเปิดประตูมาทักทาย

“ราชดำเนิน” พาไปพูดคุยกับ “อ.พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์” นักจัดการความรู้มืออาชีพ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)” ถึงทิศทางอุตสาหกรรมสื่อในภาพรวมปี 2562

“สถานการณ์ดูเหมือนจะแย่ลง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เพราะในโลกของอุตสาหกรรมสื่อฯ หากมองในมุมด้านธุรกิจ จะพบว่ามีทั้ง ผู้แพ้ และ ผู้ชนะ  ปัจจัยชี้วัดที่ง่ายที่สุดในแง่นี้ คือ รายได้ที่เข้าสู่ธุรกิจสื่อ แต่มองปัจจัยที่วัดนี้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะยังมีปัจจัยเรื่องคุณภาพของสื่อ คุณค่าของสื่อ ผลกระทบต่อสังคม ที่ต้องพิจารณาร่วมด้วยว่า ช่วยให้สังคมไทยเป็นไปในที่ทางที่ดีขึ้นหรือไม่ ที่ผ่านมา สื่อสารมวลชนได้สร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นในฐานะคนทำงานมืออาชีพให้กับประชาชนดีพอหรือไม่ เป็นคำถามที่ผู้คนมักถามถึงอยู่เสมอ  ซึ่งตามทฤษฎีสื่อพื้นฐานแล้ว สื่อมวลชนต้องมีหน้าที่ทั้งสะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคม และนำพาสังคมไปสู่ภาพที่ดีกว่าให้ได้  หากสื่อฯ ยังคงทำหน้าที่นั้นอยู่ ระดับความศรัทธาของสื่อในสายตาประชาชนก็ดีขึ้นได้”
ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่าง สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศทั่วโลก เขายึดถือและเชื่อถือในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และตรวจสอบกันเอง สื่อก็มีบทบาทสำคัญมากต่อสังคม และในทางกลับกัน ผู้คนก็ให้ความหมายและคุณค่ากันสื่อเป็นอย่างมาก  ยิ่งไปกว่านั้น  ในยุคสมัยที่โลกที่ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น มีความท้าทายใหม่ ขณะที่ โจทย์ยิ่งทวีความยาก

เห็นได้จาก กรณี Disruption ที่กระทบกับผู้คนมากมาย ความอยู่รอดเป็นคำถามให้กับคนจำนวนมาก ที่ไม่เว้นแม้แต่ตัวสื่อมวลชนเองที่ต้องปรับตัวด้วย
กับโจทย์ใหม่ที่ “อ.พีระพงษ์” แนะนำให้ “สื่อมวลชน” ควรปรับเพื่ออยู่รอด นอกจากยึดฐานมั่นในเรื่องความเป็นมืออาชีพ สร้างสรรค์ข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับสังคมแล้ว ต้องติดดาบ “วิทยายุทธ” ให้ตัวเอง คือ

1. สื่อต้องมีวิชาตัวเบา  การเรียนรู้สิ่งใหม่ การเรียนรู้ของเดิมด้วยวิธีใหม่ๆ และ สามารถถอดรื้อการเรียนรู้ที่เรียนมา ทำตัวให้เบา ไม่ยึดติดกับ ความรู้ ความเชื่อใดๆ และพร้อมกับการท้าทายเรื่องราวต่างๆ จากโลกยุคใหม่เสมอ
“เพราะความรู้และข้อมูลข่าวสารของโลกนี้อายุสั้นลงเรื่อยๆ หลายอย่างที่เชื่อว่าจริง อาจจะไม่จริง หลายอย่างที่เชื่อแบบนี้ ในยุคสมัยหนึ่งอาจไม่เป็นอย่างที่เชื่อ อย่างวิชาตัวเบา ที่สื่อฯ ต้องมี คือ การเรียนรู้สิ่งใหม่ ลืมการเรียนรู้ด้วยวิธี หรือแนวคิดแบบเก่า”

2.ต้องมีความรู้รอบด้านต่างๆ ไม่ใช่แค่มีทักษะอ่านออก เขียนได้เท่านั้น เพราะโลกยุคใหม่ต้องการมากกว่าแค่ “อ่านออกเขียนได้” แต่ความรู้เฉพาะทางจำเป็นต่อการสร้างต้นทุนที่ทำให้สังคมดีขึ้น  อนาคตแหล่งที่มาของความรู้ มีอยู่อย่างไม่จำกัด มีความรู้แพร่กระจายอยู่หลากหลาย หากสื่อมวลชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ เชื่อว่านักข่าวจะเป็นส่วนที่ตอบโจทย์ของคำว่า สังคมจะดีขึ้นได้อย่างไร และเมื่อทำได้ จะนำไปสู่การฟื้นความศรัทธาจากประชาชนได้

และ 3. ความรู้เฉพาะทางเชิงลึก ในอนาคตแนวโน้มของห้องข่าวจะเล็กลง เพราะปัจจัยทางธุรกิจต้องควบคุมค่าใช้จ่าย ต้องใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีเข้าช่วย ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก คือ นักข่าวต้องทำงานกับคนที่มีความรู้หลากหลาย และกว้างขวางมากขึ้น เพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่มีคุณภาพที่จำเป็นในโลกอันซับซ้อน
กับโจทย์ใหญ่อีกเรื่อง คือ กระแสของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้ง Facebook Live, YouTube ที่เป็นเครื่องมือ – ตัวช่วยสื่อสารไปยังประชาชน ได้รวดเร็ว ขณะเดียวกัน “คน” สามารถสื่อสาร หรือเป็นนักข่าว ให้คนนอกพื้นที่รับรู้เรื่องราวได้ นี่คือ แนวโน้มที่สื่อกระแสหลักต้องพังทลายหรือไม่  “อ.พีระพงษ์” มองว่า เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ต้องเรียนรู้ และปรับตัว บนความคาดหวังรวมถึงพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลง แนวโน้มของโลก ในยุคปัจจุบันมีงานวิจัยคาดการณ์ว่า คนจะหันมาฟังพอดแคสต์และอ่านข้อความมากกว่า ดูวีดีโอที่มีแต่โฆษณา และของแบบนี้เปลี่ยนเร็ว อาจจะกลับไปกลับมาตาม อัลกอริทึมของคอมพิวเตอร์หรือพฤติกรรมของผู้คนอีก ซึ่งสื่อยิ่งต้องรู้ให้ไว ตามให้ทัน
นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาปั่นป่วน ปฏิเสธการปรับตัวไม่ได้ แต่สิ่งที่จะทำให้ นักข่าว แปรวิกฤต เป็นโอกาส คือ ต้องทดลอง และ ลองของใหม่ตามความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้  หากเรียนรู้บ่อยๆ ลองของใหม่ตลอด แม้จะผิดพลาด แต่ก็ เจ็บตัวน้อยกว่า

“ปัจจุบันคำว่า sand box ถูกใช้ในความหมายไกลกว่าแค่ กระบะทราย แต่เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ ได้ลองผิดลองถูก ควบคุมความเสียหายได้  เด็กๆ จะเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ดีกว่าในห้องเรียน เพราะได้ลองของใหม่ๆ สิ่งที่ได้คิดเอง ได้ตั้งโจทย์เอง ส่วนการเรียนในห้องเรียน คือ การเรียนที่คอยเดินตามครู  ดังนั้นหากได้ลองเล่นเอง เจ็บเอง แม้จะล้ม ก็เหมือนล้มในกะบะทราย แม้จะเจ็บ แต่ก็ยังปลอดภัยมากกว่า ดังนั้นหากเปิดพื้นที่ห้องข่าว เปิดโอกาสใช้คนข่าวได้กล้าลองคิด เลือก สร้างนวัตกรรม ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะหลากหลาย จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ ที่ตอบโจทย์คน และสร้างความน่าเชื่อถือ”

เมื่อวิกฤตที่เข้ามา สิ่งที่ต้องทำให้อยู่รอด คือ การปรับตัว แล้ว จะเริ่มต้นยังไงดี “นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ” ชี้เป็นแนวทางซึ่งเป็นหัวใจว่า   “นักข่าวต้องเป็นผู้ประกอบการ และสร้างนวัตกรรม”

“ผมไม่ได้บอกว่านักข่าวต้องสร้างไอโฟนเป็น แต่ต้องคิดสิ่งที่สร้างมูลค่า และพาให้คนอ่านได้ประโยชน์และสังคมต้องดีกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีโจทย์ใหญ่เรื่องศรัทธากับความเชื่อถือ  ของยากแบบนี้ ต้องการวางโจทย์ที่ถูกของสื่อร่วมกับองค์กร สร้างแรงผลักดันที่มีความคิด ริเริ่ม และสร้างสรรค์ เพราะในโลกยุคใหม่ ผมไม่เชื่อว่าจะมีสำนักข่าวเดียว หรือ เจ้าใหญ่เพียงที่เดียว จะผูกขาดความน่าเชื่อถือได้ ดังนั้นโอกาสคือการเกิดขึ้นของห้องข่าวเล็กๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม และสร้างความน่าเชื่อถือได้ต่อเนื่อง แบบระยะยาว”
กับประเด็นนี้ ทำให้นึกถึง “หุ่นยนต์ผู้ประกาศข่าว” ที่จะเข้ามาแทนที่ “ผู้ประกาศข่าว” และจะเป็น วิกฤตคนข่าว ที่ต้องหาวิธีรับมือหรือไม่

“อ.พีระพงษ์” มองว่า แม้ว่าหุ่นยนต์อ่านข่าว ตอบโจทย์ได้หลายอย่าง ทั้งเร็ว สะดวก และควบคุมได้ แต่ยังมีสิ่งที่เป็นคำถามที่ท้าทายไม่น้อย โดยเฉพาะยุคสงครามข่าวสาร สร้างข่าวเท็จ ข่าวปลอม ข่าวลือ ข่าวปล่อย จะทำอย่างไร ยิ่งให้ผ่านเทคโนโลยียิ่งเนียน ซึ่งถึงจุดหนึ่งคนจะเห็นตัวอย่างทั้งดีและไม่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ
“เชื่อว่าคนจะระวังกันเยอะ และตั้งคำถามด้านความน่าเชื่อถือ เพราะข่าวสาร หัวใจสำคัญคือการสร้างความน่าเชื่อถือ ถ้าใช้หุ่นยนต์แล้วต้องสูญเสียความน่าเชื่อถือ ดังนั้น เอ.ไอ. ก็สู้นักข่าวจริงๆ ไม่ได้”