อายัดอามหิต: แผนฟอกเงินเหนือเมฆ กระบวนการสร้างแพะ และนิติสงครามใต้เงาปูติน

อายัดอามหิต: แผนฟอกเงินเหนือเมฆ กระบวนการสร้างแพะ และนิติสงครามใต้เงาปูติน

Bill Browder เขียน สฤณี อาชวานันทกุล แปล Salt พิมพ์

อ่านเล่มนี้จบปุ๊บ อยากซื้อให้หมอท่านหนึ่งเลย ในฐานะที่เสนอนโยบายแก้คอร์รัปชั่นด้วยการให้ยกเลิกแบงค์พัน เล่มนี้เล่าให้ฟังว่า การฟอกเงินไม่ใช้เงินสดอีกแล้ว วิธีการที่ใช้หลักๆ เลย คือ การเงินโอน โดยการสร้างบัญชีเป็นร้อยๆ บัญชีในธนาคารหลายสิบแห่ง แล้วใช้ “บริษัทกล่อง” จำนวนมากที่ตั้งขึ้นในที่ต่างๆ แล้วโอนเงินผ่านหลายๆ สกุลเงิน ผ่านหลายๆ ประเทศ แต่ปลายทางเหมือนกัน คือ ฝรั่งเศส สวิตเซอรแลนด์ สหรัฐฯอังกฤษ ในรูปแบบของเงินสะสมในธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ ของแบรนด์เนม เรือยอช์ต อัญมณี และงานศิลปะ

แต่คิดอีกที คงไม่เป็นไร เพราะมีคนโหวตให้พรรคนั้นทั้งประเทศรวม 0.28% คงบอกอะไรได้เยอะแล้ว 

บิลล์ บาวเดอร์ เขียนหนังสือ Freezing Order ตีพิมพ์ 2022 

เขาจบเศรษฐศาสตร์ที่ ม.ชิคาโก และปริญญาโทบริหารธุรกิจจากสแตนฟอร์ด ทำงานเป็นวาณิชธนกิจและตั้งกองทุนเฮ็ดจ์ฟันด์ในมอสโก ต่อมาเงินกองทุนหายไประดับสองร้อยกว่าล้านโดยฝีมือของกลุ่มทุนเศรษฐีการเมืองที่โยงไปได้ถึงระบอบของปูติน ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นเป็นปกติจนคนวงการเดียวกันยอมรับว่าเป็นต้นทุนของการทำธุรกิจในรัสเซีย 

บิลล์ไม่คิดเช่นนั้น จึงเริ่มสู้กลับ ค้นหาความจริง และเปิดเผยต่อสาธารณะ จนปูตินประกาศว่าบิลล์เป็นภัยความมั่นคงของชาติและถูกเนรเทศออกจากรัสเซีย ไม่เพียงแค่นั้นแต่ยังรวมถึงการจัดการองคาพายพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องบริษัท กองทุน สินทรัพย์ และบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งทางกฎหมายและวิธีการนอกกฎหมาย 

เซียร์เกย์ มักนิตสกี ทนายความคนสำคัญคนที่ช่วยเหลือบิลล์ ถูกกล่าวหาโดยกระทรวงมหาดไทยว่ามีส่วนในการฉ้อโกงเงินมหาศาล สุดท้ายถูกจับและถูกทำลายทั้งชีวิตในคุกพร้อมกับความจริงต่างๆ ด้วยคำโกหกจากการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ และเซียร์เกย์ไม่ใช่เหยื่อเพียงคนเดียวในกระบวนการแบบ “โหดสัสรัสเซีย” ที่เกิดขึ้น

สิ่งที่บิลล์พยายามทำ คือ “ทำให้ไอ้ชั่วพวกนั้นไม่มีวันลืมชื่อ เซียร์เกย์ มักนิตสกี” เลย 

และท้ายที่สุด ชื่อของเขากลายเป็นชื่อของ กฎหมายมักนิตสกี ซึ่งเป็น กม.ที่ช่วยแบนวีซ่าและอายัดทรัพย์สินของผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัสเซีย ที่รวมถึงคนที่ก่ออาชญากรรมกับเซียร์เกียด้วย กม.นี้เริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาและมีการผลักดันให้อีก 34 ประเทศทั่วโลกออกกฎหมายนี้ และในที่สุดมีผลบังคับใช้ในอีก 16 ประเทศที่ช่วยอายัดเงินสกปรกจากรัสเซีย 

ใครสนใจลองหาอ่านกันนะครับ เล่มนี้เราอ่านแล้วเปลี่ยนทัศนคติแบบชัดมากๆ เรื่องนึง คือ การมองตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐเปลี่ยนไป ในนี้เล่าในฟังว่าเจ้าหน้าที่รัฐและพวกตำรวจรัสเซีย คนมักจะนึกถึงผู้ชายแต่งเครื่องแบบล้าสมัย ขับรถยุคโซเวียต แต่กับพวกที่หาประโยชน์จากการฟอกเงิน ทุจริตต่างๆ พวกนี้แต่งตัวดีเป็นพิเศษ ชอบสวมสูทดีไซเนอร์อิตาลี สวมนาฬิกาแพงยับ ชอบอวดชีวิตปาร์ตี้ และมีทริปพักผ่อนยาวๆ หลังก่ออาชญากรรมเลยนึกถึงเคสบ้านเรา เคยได้ยินว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนที่มีบ้านที่ต่างประเทศ และบรรดาลูกเมียของคนกลุ่มนี้ก็ใช้ชีวิตเหมือนที่บิลล์เขียนเลยแหละ 

Homo Gaia มนุษย์กาญ่า ฟื้นสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ที่มนุษย์เรานั้นเป็นส่วนหนึ่งเสมอมา

Homo Gaia มนุษย์กาญ่า ฟื้นสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ที่มนุษย์เรานั้นเป็นส่วนหนึ่งเสมอมา

สรณรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์ เขียน salt พิมพ์

พี่อ้อย หรือ ดร.สรณรัชฏ์ เป็นนักนิเวศวิทยา ทำงานสื่อสารเรื่องราวธรรมชาติหลายสิบปี แต่หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ตั้งใจเขียนเป็นหนังสือเล่มอย่างจริงจัง และเวลาผมอ่านมีหลายช่วงที่เหมือนเสียงพี่อ้อยลอดออกมาจากหนังสือเลย 

มีตอนหนึ่งในหนังสือพูดถึง เวลาที่คนบางกลุ่มมักจะนิยาม “สัตว์เดรัจฉาน” ว่าเป็นสัตว์ที่ไร้จิตสำนึก ไม่ฉลาดเหมือนมนุษย์ “ได้แต่กินขี้ปี้นอน ไม่มีศีลธรรม ไม่มีวัฒนธรรม ไม่สามารถพัฒนาจิตใจได้เหมือนมนุษย์ผู้ที่สามารถฝึกตนเป็นสัตว์ประเสริฐได้” เราเดาออกเลยว่าเสียงพี่อ้อยจะมีอารมณ์แบบไหน ในการพูดและเขียนว่า “ฉันไม่มีความรู้หรอกว่าสัตว์สามารถพัฒนาจิตใจ ได้ถึงขั้นเข้าสู่นิพพานได้หรือไม่ และฉันก็ไม่สนใจจะถกเถียงด้วย ฉันไม่มีความรู้เรื่องนิพพาน และไม่รู้จักสัตว์มากเพียงพอ คนที่ดูแคลนสัตว์ก็เช่นกัน ฉันพบว่าคนที่พูดจาแบบนี้ช่างไม่รู้แทบไม่รู้จักสัตว์เลย”

จากนั้นพี่อ้อยก็ชวนเราทำความรู้จักเรื่อง conscious จิตรู้สำนึก หรือจิตที่มีการรับรู้และรู้สึกอะไรบางอย่างได้ โดยมองมันทั้งในมุมของมนุษย์และในมุมของสัตว์ต่างๆ ตั้งแต่ วาฬหลังค่อม ลิงหิมะญี่ปุ่น หมาป่า และหมาบ้านที่มีความแตกต่างแบบที่ถ้าเราไม่เปิดผัสสะของการสังเกตและเรียนรู้ ก็จะไม่เคยรู้จักและเข้าถึงได้เลย

ผัสสะ สำหรับพี่อ้อย คือ เครื่องมือที่สิ่งมีชีวิตใช้รับรู้ความเป็นไปในโลกรอบตัว สำหรับมนุษย์ที่เกิดและโตในเมือง“ผัสสะ” ถูกจำกัดและใช้อย่างแคบลงจนเราไม่รู้จักโลกรอบตัวที่มีอยู่กว้างพอ ในหนังสือเล่มนี้ยังช่วยให้เราพยายามฝึกผัสสะหลายๆ เรื่อง อย่างเช่น ตา ที่ข้อมูลจากโลกภายนอก 80% มาจากสัมผัสที่เราใช้ตาเพื่อรับภาพ มนุษย์ถูกสอนแค่โฟกัสในสิ่งที่อยู่ข้างหน้าและประเมินระยะแบบเลนส์เทเลโฟโต้เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเรามีเลนส์วายแองเกิลที่เราไม่ค่อยใช้ในชีวิต เลนส์แบบนี้คล้ายกับเราสวมสายตาของนกฮูกที่มันเห็นได้กว้างมาก เราควรฝึกดึงศักยภาพตานกฮูกในตาของเราออกมา

อีกอันหนึ่งที่สนุกดี คือเรื่องการเดิน ให้เดินอย่างหมาจิ้งจอก เพราะเวลามันเดิน มันไม่สร้างแรงสั่นสะเทือนใดๆ ทำให้มันล่าเหยื่อได้เยอะ  การเดินของมนุษย์ส่วนใหญ่มีแรงกระแทกเยอะ ส่งผลไม่ดีต่อข้อต่างๆ ในร่างกาย วิธีการคือให้เดินปิดหูแล้วลองสังเกตว่าเราเดินอย่างไร ใช้ส่วนไหนของฝ่าเท้าลงพื้น และมีแรงกระแทกจนเกิดเสียงมากน้อยแค่ไหน 

แน่นอนที่แอบยกมาเล่าให้ฟัง คงเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่พี่อ้อยพยายามเปิดผัสสะการรับรู้ทางร่างกาย และพาไปถึงระดับวิธีคิด จิตวิญญาณที่ฉุดและดึงให้พวกเรากลับมาเป็นมนุษย์กาญ่า ที่ต้องออกห่างจากความเป็นโฮโม เซเปียนส์ดำรงชีวิตของเผ่าพันธุ์ตัวเองไปพร้อมกับการบดขยี้ธรรมชาติและเพื่อนร่วมสายพันธ์ุต่างๆ ในระดับวินาศสันตะโร 

ใครสนใจหาอ่านได้จาก สำนักพิมพ์ Salt นะครับ และแนะนำมากๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังเลี้ยงลูกเล็กแบบตั้งคำถามเก่งๆ นะครับ เราจะมี story และบททดสอบที่จะทำให้กิจกรรมนอกบ้าน ในสวน สนุกกว่าในบ้านและในห้างครับ

The Fearless Organization – องค์กรไม่กลัว

The Fearless Organization – องค์กรไม่กลัว

Amy Edmondson เขียน ทิพย์นภา หวนสุริยา แปล Bookscape พิมพ์ 

หนังสือเล่มนี้ Edmondson ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยธุรกิจ ฮาร์วาร์ด นำเสนอเรื่อง “ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยา” ที่สำคัญมากในโลกที่ความรู้และนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญสำหรับความสำเร็จขององค์กร และในทางกลับกัน การไม่มีความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาก็ทำให้องค์กรหลายแห่งล้มเหลวได้เช่นกัน 

Edmondson เล่าให้ฟังว่า งานในวันนี้พนักงานส่วนใหญ่ใช้เวลาทำงานร่วมกับผู้อื่นเพิ่มขึ้น 50% จากเมื่อ 20 ปีก่อน การจ้างคนที่ทำงานเก่งอย่างเดียวจึงไม่พออีกต่อไป ต้องเป็นคนที่ทำงานร่วมกันกับคนอื่นเป็นด้วย

เขาบอกว่าการทำงานเป็นทีมเป็นศิลปะแบบหนึ่ง เพราะการทำงานเป็นทีม ต้องการความสามารถในการสื่อสาร การประสานงานกับคนที่สามารถก้าวข้ามความแตกต่างหลากหลายของความเชี่ยวชาญ สถานะ และระยะทางให้ได้

หนังสือเล่มนี้มีตัวอย่างสนุกๆ หลายเรื่องที่ทำให้เห็นว่า การไม่มี “ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยา” ทำบริษัทพังได้เลย อย่างเคสของบริษัทโฟล์คสวาเกน ที่มีคดี “ดีเซลเกต” ที่หลอกลวงว่า รถโฟล์คสวาเกน ปลอมข้อมูลการปล่อยมลพิษรถยนต์เพื่อให้ผ่านเกณท์มาตรฐานและมาใช้โฆษณาว่าเป็นรถยนต์ “พลังดีเซลสะอาด” ย้อนไปดูวัฒนธรรมการทำงานของบริษัทที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวและการข่มขวัญ ผู้บริหารโฟล์คหลายคนที่ทำงานสืบทอดกันมาใช้เทคนิคเดียวกันในการตั้งโจทย์การทำงานที่กดดันทีมและ “ปรี๊ดแตก” ใส่ทีมเป็นประจำ ทำให้ทีมงานไม่กล้ารายงาน “ข่าวร้าย” ไม่พูดข้อเท็จจริง และไปไกลถึงการโกหก ปลอมแปลงข้อมูลเพื่อเอาตัวรอดในองค์กร 

ในอีกด้านหนึ่ง ตัวอย่างที่ดีสำหรับการสร้างความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาอย่าง บริษัท Pixar ที่ทำภาพยนตร์ Toy Story และอีกหลายเรื่องที่ได้ทั้งเงินและคำชื่นชม ผู้ก่อตั้งพิกซาร์ Pixar เล่าใหฟังว่า “หนังดราฟแรกๆ ของเราทุกเรื่องห่วยหมด” อย่าง Toy story ก็เลี่ยนและน่าเบื่อ แต่ในบริษัทมีกลุ่ม “Braintrust” ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กๆ เจอกันเรื่อยๆ เพื่อประเมินภาพยนตร์ที่อยู่ในกระบวนการสร้าง ให้ฟีดแบคที่ตรงไปตรงมากับผู้กำกับ และช่วยแก้ปัญหาในการสร้างสรรค์ก่อนที่หนังจะเริ่มเดินไปผิดที่ผิดทาง คีย์หลักของเรื่องนี้ส่วนผสมหลักของสูตรนี้คือ “ความจริงใจ” ซึ่งแบบว่าเค้าก็เล่าให้ฟังเหมือนกันว่าความจริงใจแม้จะเรียบง่ายแต่ไม่เคยทำได้ง่ายๆ เลย

วัฒนธรรมในกลุ่ม “Braintrust” มีทริกที่น่าสนใจ อย่างเช่น การให้ฟีดแบ็กต้องสร้างสรรค์เกี่ยวกับตัวงานไม่ใช่ตัวบุคคล คนสร้างก็จะไม่ปกป้องตัวเองหรือเอาคำวิจารณ์มาเป็นประเด็นส่วนตัว  ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะไม่ใช่คำสั่งและไม่มีความหมายในเชิงบังคับ สุดท้ายจริงๆ แล้วผู้กำกับที่รับผิดชอบเรื่องนั้นๆ จะยอมรับหรือไม่ยอมรับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฟีดแบ็กที่ตรงไปตรงมาไม่ใช่การจับผิด แต่ต้องมาจากมุมของความเข้าอกเข้าใจ ซึ่งจะความเข้าอกเข้าใจกันได้ต้องผ่านกระบวนการนี้ในบทบาทที่หลากหลาย คือ ทั้งได้ให้และรับฟีดแบ็ก

แต่สำหรับองค์กรทั่วไป เป็นเรื่องปกติที่คนส่วนใหญ่ต้องมั่นใจจริงๆ ถึงจะกล้าพูด เพราะคนเราถูกฝึกให้กลัว กลัวทำผิด ในสังคมของเราทำให้คนง่อยเปลี้ย เพราะตั้งแต่อนุบาลเราถูกสอนให้หาคำตอบที่ถูกต้อง แทนที่จะเรียนรู้วิธีการล้มเหลว วิธีการทดลอง เพื่อปูสู่เส้นทางการคิดเชิงนวัตกรรมและการคิดด้วยตัวเอง  ในมุมขององค์กรจึงต้องสร้างพื้นที่ที่มีความปลอดภัยเชิงจิตวิทยา เพื่อทำให้คนที่มีภาวะขาดความมั่นใจได้กล้าพูดมากขึ้น และแม้จะมีความมั่นใจไม่มากเท่าไหร่ก็ตาม

ในเรื่องของความกลัว Edmondson บอกว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะมันจำกัดความสามารถในการคิดและลงมือทำอย่างมีประสิทธิภาพ แม้แต่กับคนที่มีพรสวรรค์สูงสุด ผู้นำที่ดีจึงต้องเต็มใจรับหน้าที่ขจัดความกลัวออกไปจากองค์กร เพื่อสร้างสภาวะที่เหมาะแก่การเรียนรู้ พัฒนานวัตกรรม และการเติบโตไปร่วมกัน

หลายองค์กรขับเคลื่อนองค์กรด้วยความกลัว แต่ความกลัวไม่ใช่สิ่งจูงใจที่มีประสิทธิภาพ เพราะความกลัวเป็นตัวขัดขวางการเรียนรู้ มันดึงทรัพยากรและพลังงานของสมองที่ต้องใช้ในเรื่องความจำและประมวลผล และผลที่เลวร้ายคือ มันสร้างความเสียหายต่อคุณภาพของการคิดเชิงวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ไขปัญหาไป 

ดังนั้น ความกล้าและความกลัว เป็นโจทย์สำคัญสำหรับวัฒนธรรมองค์กรที่ทำงานความรู้และนวัตกรรม ใครสนใจไปหาอ่านกันที่ https://bookscape.co เลยครับ 

Deep work ดำดิ่งท่ามกลางสิ่งรบกวน: ทักษะที่สำคัญที่สุด ในโลกที่เวลาและความสนใจมีจำกัด

Deep work ดำดิ่งท่ามกลางสิ่งรบกวน: ทักษะที่สำคัญที่สุด ในโลกที่เวลาและความสนใจมีจำกัด

Cal Newport เขียน พรรณี ชูจิรวงศ์ แปล WeLearn พิมพ์ 

Newport เป็นอาจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ 

คีย์ที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือ อินเตอร์เน็ตส่งผลต่อสมองและอุปสรรคนิสัยในการทำงานของเรา มันลดทอนความสามารถในการจดจ่อของเรา งานวิจัยของแมคคินซีย์บอกว่า “คนที่ทำงานใช้ความรู้ใช้เวลากว่า 60% ในการติดต่อสื่อสารค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตและอีกเกือบ 30% ของเวลานั้นใช้ไปกับการอ่านและตอบอีเมลเพลงอย่างเดียว” 

มีตัวอย่างอันหนึ่งที่สนุกดี เขาเล่าว่า Tech company แห่งหนึ่ง อ้างถึงปริมาณการส่งข้อความต่อวันของพนักงานในบริษัทว่าส่งข้อความหากันถึงวันละ 2.5 ล้านข้อความ เขารู้สึกว่านี่คือ ความสำเร็จของการทำงานร่วมกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง เกิดคำถามว่าข้อความจำนวนมากสะท้อนเรื่องประสิทธิภาพของการทำงานหรือว่าเป็นเพียง ”กิจกรรมของวัยรุ่นช่างจ้อ” กันแน่ 

ไม่ใช่แต่ วงการของบริษัทเทคโนโลยีเท่านั้นแต่ในมุมของวงการข่าว หลายบริษัทกระตุ้นให้นักข่าวผลิตเนื้อหาและปรากฏตัวบนโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ เช่นที่ เดอะนิวยอร์กไทม์ที่กระตุ้นให้นักข่าวและพนักงานของตัวเองมีบัญชีทวิตเตอร์เป็นของตัวเองและโพสต์ข้อความต่างๆ โดยคิดว่าความก้าวหน้าของโลก = ความก้าวหน้าที่ต้องบีบให้ผู้คนมีส่วนร่วม  ซึ่งเขาก็ตั้งคำถามว่านักข่าวควรต้องจดจ่อกับกระบวนการเขียนข่าวการทำงานในเชิงลึก จดจ่อกับกระบวนการตรวจสอบแหล่งข่าว การเชื่อมโยงกับประเด็นที่เกี่ยวข้อง ร่วมถึงลงมือเขียนข่าวที่น่าเชื่อถือ 

แต่การขอให้นักข่าวมีตัวตนบนโซเชียลมีเดีย คือ การหยุดใช้ความคิดอันลึกซึ้งเพื่อไปคุยเรื่องสัพเพเหระบนช่องทางออนไลน์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเขียนข่าวเลย มันอาจทำให้ พวกเขามีความน่าเชื่อถือน้อยลง และที่แย่ที่สุดมันรบกวนสมาธิของการทำงานข่าว ผลทางสังคมขนาดใหญ่คือ ข่าวที่มีคุณภาพเชิงลึกและเชื่อมโยงกับโลกที่ซับซ้อนจะยิ่งมีพื้นที่เหลือน้อยลงเรื่อยๆ หรือในที่สุดอาจหายไปก็ได้

Newport บอกว่า “การทำงานแบบดำดิ่ง” สามารถอธิบายได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ เพราะในสมองจะมี “ไมอีลิน” ที่เป็นชั้นเหนือเยื่อไขมันที่ห่อหุ้มเซลล์ประสาทจะส่งสัญญาณประสาทได้ไวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าถูกใช้และฝึกบ่อยๆ  ดังนั้น คนที่เชี่ยวชาญอะไรเยอะๆ หรือมีทักษะที่เข้มข้นกว่าชาวบ้านเขา มันอธิบายได้ว่า เป็นเหตุจากการที่สมองสร้างไมอีลินมาห่อหุ้มเซลล์ประสาท ทำให้วงจรในเซลล์สมองส่งกระแสประสาทได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

เขายกตัวอย่างว่ามีคนมากมายที่ใช้ “การทำงานแบบดำดิ่ง” ที่ช่วยให้ทำงานได้อย่างดีเลิศและประสบความสำเร็จ ตั้งแต่… 

  • คาร์ล ยุง นักจิตแพทย์คนสำคัญช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ทำเรื่องจิตวิทยาเชิงวิเคราะห์
  • มาร์ค ทเวน นักเขียนที่ผลงานชิ้นสำคัญคือ the adventures of Tom Sawyer 
  • วูดดี้ อัลเลน นักเขียนบทและผู้กำกับที่เข้าชิง osgar บ่อยครั้ง ซึ่งเขาทำงานโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์เลยใช้เครื่องพิมพ์ดีดโอลิมปัสและไม่ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่รบกวน
  • เจเคโรว์ลิ่ง ต้องใช้การทำงานแบบดำดิ่งในการปิดจบ Harry Potter ภาคสุดท้ายโดยการหาเวลาไปเช่าโรงแรม (ใช้เวลาเข้าถ้ำ) แม้จะใช้คอมพิวเตอร์ก็ตาม
  • บิล เกตส์ CEO ของ Microsoft ใช้สัปดาห์แห่งการครุ่นคิดปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เค้าจะปลีกวิเวกเพื่ออ่านหนังสือและคิดเรื่องสำคัญโดยไม่ทำอย่างอื่นเลย
  • อดัม แกรนด์ นักเขียน Best seller และอาจารย์มหาวิทยาลัย พยายามจัดการกลุ่มงานที่ต้องใช้ความคิดให้สัมพันธ์กับเวลาที่เค้าทำงาน เพื่อให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยปราศจากสิ่งรบกวน เค้าจัดสรรเวลาทั้งภาพรวมและปลีกย่อยเวลาแต่ละปี เช่น การจัดงานสอนช่วงหนึ่งและแบ่งอีกช่วงหนึ่งที่แยกออกจากงานสอนไปทำงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้งานวิจัยที่เค้าทำมีประสิทธิภาพสูงเพราะไม่มีสิ่งรบกวนต่างๆ ในระดับปลีกย่อย เขาแบ่งเวลาจัดสรรให้กับนักศึกษาอย่างชัดเจน ในช่วงเวลาที่เขาต้องการจดจ่อเค้าจะตั้งอีเมลตอบกลับอัตโนมัติว่าเค้าไม่ได้อยู่ในที่ทำงานเพื่อให้ผู้ทำงานไม่ต้องรอคำตอบแม้ว่าเค้าจะนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานก็ตาม
  • เจอร์รี่ ไซน์เฟลด์ นักแสดงตลก ก็บอกเคล็ดลับของการเป็นนักแสดงตลกที่เรียกเสียงฮาและความชื่นชอบของผู้คนว่าคือ การทำอย่างต่อเนื่องและมีวินัย เขาใช้ปฏิทินเป็นตัวช่วยเตือนว่า เขาทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นสายโซ่โดยบันทึกลงปฏิทินทุกวันที่เค้าเขียนมุก ทำให้เขาจดจ่อกับสายโซ่ของการทำงานที่เป็นของเครื่องหมายบนปฏิทิน ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการเพาะบ่มความเคยชินที่ช่วยกระตุ้นให้ตัวเองลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ และเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนนิสัย

อ่านเล่มนี้แล้ว รู้สึกเลยว่า สูตรสำคัญของการผลิตผลงานคุณภาพสูง มันคือ “เวลาที่ใช้ไป” x “ระดับของการจดจ่อ” เพราะงานที่จดจ่อในระดับสูงสุดช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่มีคุณค่าสูงขึ้นไปในตามเวลาที่ใช้ และงานวิจัยหลายชิ้น ก็ชี้ว่านักวิจัยจำนวนมากพบว่าการทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กันส่งผลต่อประสิทธิภาพอย่างมีนัยยะสำคัญ การตกค้างและครุ่นคิดกับเรื่องเดิมทำให้ความจดจ่ออยู่ในระดับต่ำและงานไม่รู้เรื่องไม่ลุล่วง

การทำงานแบบตอบสนองผู้คนอย่างรวดเร็ว หลายครั้งทำลายต้นทุนที่สำคัญที่สุดของการทำงานไป คือ โฟกัส ซึ่งแน่นอนแต่ละคนให้คุณค่ากับเวลาของคนอื่นย่อมไม่เท่ากัน 

การเคารพคนและทีมงานในบางลักษณะ มันก็เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้แหละ ว่า คุณให้ความสำคัญกับเวลาของคนอื่นมากน้อยเพียงใด 

โลกละลาย: เมื่อมนุษย์ไม่อาจอาศัยอยู่บนโลกได้อีกต่อไป

โลกละลาย: เมื่อมนุษย์ไม่อาจอาศัยอยู่บนโลกได้อีกต่อไป

David Wallace-Well เขียน | ณิชาภา ชิวะสุจินต์ แปล | Cactus พิมพ์ 

เล่มนี้เป็นหนังสือที่ฉายภาพปัญหาโลกร้อนได้สยดสยองมาก และโดยเฉพาะความเก่งกาจในการเปรียบเทียบตัวเลขที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของโลกร้อนกับเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ เช่น ถ้าดูแค่เรื่องมลพิษทางอากาศเพียงสาเหตุเดียวนะ จะมีประชากร 150 ล้านคนทั่วโลกที่เสียชีวิตด้วยอาการต่างๆ เพียงแค่โลกร้อนขึ้น 2 องศา ตัวเลขแบบนี้อาจไม่แน่ใจว่ามันใหญ่แค่ไหนเค้าบอกว่าเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลก 25 ครั้ง นี่ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกเหรอ 

หรือ โลกเคยเจอ “ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในยุโรป” ที่จริงๆ ก็มาจากผลของสงครามที่เกี่ยวพันโลกร้อนและความแห้งแล้งช่วงปี 2011 นั่นแหละ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้าเกิดน้ำท่วมในบังกลาเทศจริงอย่างที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่ายังไงก็เกิด เหตุการณ์ในเอเชียใต้จะส่งผลต่อผู้คนมากกว่า 10 เท่า และไม่ได้เกิดที่เอเชียเท่านั้น แต่ประเทศรวมถึงแถบลาติน อาแฟริกา ด้วยรวมๆ แล้วจะส่งผลต่อคนกว่า 150 ล้านคน ซึ่งใหญ่กว่า ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ถึงร้อยเท่า แล้วโลกจะปั่นป่วนแค่ไหน 

ปรากฏการณ์โลกละลาย จะป่วนโลกในทุกระดับ 

อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จะส่งผลต่อการปลูกข้าวโพดทำให้ผลผลิตลดลงโดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้นำผลิตข้าวโพดอย่าง สหรัฐฯ จีน อาร์เจนตินา บราซิลและเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 4 องศาผลผลิตจะลดลงอย่างน้อยหนึ่งในห้าของทั้งหมด

“ภัยแล้ง” จะเกิดขึ้นในวงกว้างจนเป็นภัยต่อการผลิตอาหาร เนื่องจากพื้นดินที่เหมาะกับการเพาะปลูกจะหายไปเป็นทะเลทรายอย่างรวดเร็ว พื้นที่เกษตรถูกจำกัดลง ผลผลิตก็จำกัดลงด้วย ในอีกด้านพายุฝนและปริมาณน้ำฝนจะทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พื้นที่ที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำต่างๆจะกลายเป็นจะไม่สามารถใช้ได้ในอนาคต ผลคือ ประชากรในกลุ่มยากจนส่วนใหญ่เกิดภาวะขาดสารอาหารซ่อนเร้น ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกมากกว่า 1,000 ล้านคน และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นสำหรับประเทศยากจน 

มีนักวิจัยไปสำรวจปริมาณโปรตีนในข้าว 18 สายพันธุ์พบว่าคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณสารอาหารทุกอย่างลดลง ตั้งแต่โปรตีน ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามิน B1, B2, B5 และ B9 

ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 2 เมตรแน่นอนแม้ว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามเป้าหมาย 2 องศาก็ตาม แต่ว่าหากทำไม่สำเร็จระดับน้ำทะเลจะสูงกว่านั้น คือ 6 เมตร จนคนเขียนเรียกว่า “ทะเลจะกลายเป็นนักฆ่า” 

อีกไม่นาน (หรือว่าเกิดแล้วก็ไม่รู้) คือ ประชากร 5% ของโลกจะเจอน้ำท่วมทุกปี ตัวอย่างอย่างจาการ์ตาที่เคยเป็นเมืองเติบโตเร็วที่สุด แต่ในปี 2050 ประชากรกว่า 10,000,000 จะต้องไปเสี่ยงกับน้ำท่วม

คำถามสำคัญ คือ โลกมนุษย์จะปรับตัวเข้ากับ "แนวชายฝั่งแห่งใหม่" ได้อย่างไร ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับระดับความเร็วของน้ำที่เพิ่มขึ้นและความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ 

นักวิทยาศาสตร์เสนอศัพท์ใหม่ คือ “sunny day flooding – น้ำท่วมวันแดดออก” หมายถึง ปรากฏการณ์ที่น้ำขึ้นเพียงอย่างเดียวก็ทำให้น้ำท่วมเมืองโดยไม่ต้องอาศัยปริมาณจากน้ำฝนพายุเลย

สำหรับ มหาสมุทร ที่ทำหน้าที่ดูดซับ ทั้ง “คาร์บอน” และ “ความร้อนส่วนเกิน” ซึ่งปริมาณคาร์บอนมากกว่า 1 ใน 4 ที่มีอยู่ในทะเลตอนนี้ เกิดขึ้นจากที่มนุษย์ปล่อยออกมาในช่วง 50 ปีหลังนี้เอง ส่วนความร้อนส่วนเกินจากภาวะโลกร้อนมากกว่า 90% ก็มาจบที่มหาสมุทรในการดูดซับมัน ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดปรากฎการณ์ “ทะเลกรด”  

โดยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำทะเลที่ไม่มีออกซิเจนเพิ่มขึ้นทั่วโลกกว่า 4 เท่า ทำให้โลกมีพื้นที่มรณะทางทะเลมากกว่า 400 แห่ง พื้นที่ขาดออกซิเจนดังกล่าวรวมมากกว่าหลาย 1 ล้านตารางกิโลเมตรเทียบเท่ากับพื้นที่ของทวีปยุโรปทั้งหมด เมืองชายฝั่งต่างๆ ที่ติดอยู่กับมหาสมุทรมีปริมาณออกซิเจนต่ำและเหม็นเน่าเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้นทำให้กักเก็บออกซิเจนได้น้อยลง 
แล้วทะเลกรดก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นก็จะไปทำลายปะการังฟอกขาวแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลรวมถึงทำลายห่วงโซ่ของมันซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะวนมาที่สัตว์ทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ครึ่งองศา ทำให้เกิดความขัดแย้งทางตรงที่มีอาวุธเข้ามาเกี่ยวข้องได้มากขึ้นถึง 10 ถึง 20% ความเสี่ยงของสงครามที่เกิดจากโลกร้อนจริงๆ แล้วอาจมีผลมาจากการแย่งชิงทรัพยากรตัวอย่าง เช่น กองทัพอเมริกา หันมาสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนเพนตากอนประเมินอันตรายจากสภาพภูมิอากาศและพยายามวางแผนรับมือความขัดแย้งที่เป็นผลมาจากโลกร้อน 

อีกมุมหนึ่ง ที่น่าสนใจมาก คือ ผลจากโลกละลายยังส่งผลต่อเด็กทั้งร่างกายและจิตใจ ตัวอย่างที่เวียดนาม อินเดีย เอกวาดอร์ ฝนตกน้ำท่วม อุณหภูมิสุดโต่ง และความแปรปวนของสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีนักเรียนที่เข้าเรียนได้ช้ากว่าเกณฑ์ ส่งผลทำให้ผลการเรียนก็ไม่ดี และยิ่งส่งผลมาต่อครอบครัวยากจน เพราะผลจากการขาดสารอาหารเรื้อรังกระทบต่อความสามารถในการคิดลดลง ความเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น

มีการวิจัยที่พบว่าในช่วงเก้าเดือนที่ทารกอยู่ในครรภ์ หากมีวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 90 องศามากเท่าไหร่ รายได้ตลอดชีวิตของเขาก็จะลดลงจนสามารถวัดผลกระทบได้ และจะสะสมจนส่งผลต่อชีวิตในภายหลัง นอกจากนี้ การศึกษาในไต้หวัน แคนาดา และเม็กซิโก พบว่าปริมาณมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นแต่ละหน่วยสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์มากถึงสองเท่า

สำหรับผลต่อจิตใจ ตอนที่เฮอริเคนแอนดรูว์โจมตีฟลอริดาในปี 1992 แม้มีผู้เสียชีวิตไม่มาก แต่เด็กครึ่งหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์นั้นได้รับการประเมินว่า กระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจในระดับปานกลาง-รุนแรง โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เป็นเพศหญิงจะมีอาการที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างร้ายแรงมากกว่าเพศชายและเมื่อยิ่งเกิดผลกระทบจากพายุนานยิ่งขึ้นจะเจอปัญหาภาวะซึมเศร้า ความเครียด มากจนมีสิ่งที่นักวิจัยค้นพบว่าเกิด “ความคิดพยาบาท” แต่หนังสือก็ไม่ได้เราเพิ่มเติมว่าพยาบาทใครหรืออะไร ในระดับของความรุนแรงต่อเด็กและวัยรุ่นจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในรายที่มีอาการรุนแรง เขาเปรียบเทียบว่า ผลของมันรุนแรงพอๆ กับทหารที่กลับจากสงครามที่มีภาวะป่วยทางจิตเลยทีเดียว 

อันนี้ ที่เล่ามาทั้งหมด คือ ส่วนหนึ่งของความสยองที่เราจะต้องเผชิญในโลกก่อนปี 2100 นี้เท่านั้น เชื่อมั้ยครับว่า หนังสือเขาเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันประเทศที่ลงนามความตกลงปารีสมีจำนวน 195 ราย แต่มีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่ทำได้ตามข้อกำหนด

ใครสนใจเรื่องนี้ ก็ชวนอ่านกันครับ เพราะโลกละลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความหมายของภาวะโลกร้อนที่มีต่อวิถีชีวิตของเราบนโลก ปัญหานี้เป็นวงจรผลสะท้อนกลับ หลากหลาย ซับซ้อนและย้อนแย้ง และถูกครอบด้วยความไม่แน่นอน นี่แหละครับความจริงที่น่ากลัวของมัน

เราคือ ภูมิอากาศ ภารกิจกู้โลกเริ่มต้นได้ตั้งแต่มื้อเช้า

เราคือ ภูมิอากาศ ภารกิจกู้โลกเริ่มต้นได้ตั้งแต่มื้อเช้า

Jonathan Safran Foer เขียน พลอยแสง เอกญาติ แปล Cactus Publishing พิมพ์

หนังสือเล่มนี้คนเขียนเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ ได้เก่งมาก เค้าพยายามพูดถึงเรื่องการต่อสู้กับเรื่องปัญหาโลกร้อนโยงกับเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ การฆ่าตัวตาย การต่อสู้สิทธิของกลุ่มคนผิวสี การเล่นเวฟในสนามเบสบอล ว่าทุกอย่างมันพันกับโลกร้อนยังไง

อย่างเรื่องเล่าจากเหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขายกเรื่องที่ชาวอเมริกันตามเมืองชายฝั่งพยายามช่วยกันปิดไฟช่วงค่ำ เป้าหมายคือไม่ให้เรือดำน้ำเยอรมันสังเกตเห็นเรือที่จะออกจากท่าแล้วโจมตีเรือเหล่านั้น การดับไฟกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในเมืองและลามไปทั่วประเทศ แม้แต่เมืองที่อยู่ไกลจากท่าเรือก็ตาม ทำให้พลเรือนในอเมริกันมีส่วนร่วมกับความขัดแย้งที่มองไม่เห็นเกิดความร่วมแรงร่วมใจจนสร้างแรงกระเพื่อมให้คนในทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนในการต่อสู้สงคราม แม้แต่บริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ ก็หันไปผลิตอุปกรณ์สำหรับกองทัพ วงการภาพยนตร์ก็มาช่วยทำหนัง สารคดี ส่งเสริมความรู้สึกรักชาติ

แม้ว่า กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อชัยชนะของสงคราม แต่ในทางกลับกันหากไม่มีกิจกรรมเหล่านี้ก็อาจทำให้ไม่สามารถชนะสงครามได้

การรณรงค์เรื่องโลกร้อนก็เช่นกัน ช่วยเล็กน้อยแม้ไม่ใช่แก่นแต่ละเลยไม่ได้.เปรียบเทียบการเล่นเวฟในสนามเบสบอล เหมือนบรรทัดฐานทางสังคมต่อให้คนเข้าร่วมจะกระตือรือร้นอยากเล่นแค่ไหนก็ต้องรอให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันก่อนถึงจะเริ่มเล่นได้เรื่องหลายหลายเรื่องใช้เวลาสะสมอย่างเช่น เทศกาลแต่งกิ๊ฟวิ่งใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จแต่สำเร็จแล้วใครจะให้หยุดคงยาก บรรทัดฐานเหล่านี้ต้องถูกทำให้มันง่ายอย่างเช่นเทศกาลแต่งกิ๊ฟวิ่งมันเป็นไปได้เพราะมีวันหยุดที่ช่วยให้การเฉลิมฉลองเป็นไปได้

หรือตัวอย่างเคสของการทำวัคซีนโปลิโอ ที่โรคโปลิโอ จริงๆ มีอีกชื่อหนึ่งคือ “อัมพาตในทารก” (Infantile paralysis) ทำให้คนเข้าใจผิดว่ามีเพียงทารกและเด็กอ่อนเท่านั้นที่เป็นกลุ่มเสี่ยง การณรงค์ทำความเข้าใจเรื่องนี้จึงไม่ง่าย คนทำวัคซีนอย่าง โจนาส ซอล์กที่ทำวัคซีนเชื้อตายแม้จะสำเร็จในลิงแล้ว แต่การทดสอบกับมนุษย์ไม่ง่าย ในช่วงต้น เขาจึงใช้ตัวเอง ภรรยาและลูกชายอีกสามคนในการทดลองวัคซีน แม้ไม่มีการรับประกันอะไรว่าวัคซีนปลอดภัยจริงแต่ในช่วงต้นก็มีคนเกือบ 2 ล้านคนยินดีที่จะเป็นผู้บุกเบิกวัคซีนโปลิโอ

อย่างที่บอกว่า ชื่อของโรค มันทำให้คนเข้าใจผิด อัตราการฉีดในวัยรุ่นจึงต่ำมาก ทำให้ต้องรณรงค์หลายอย่าง จนกระทั่ง เอลวิส เพรสลีย์ ที่สนับสนุนโครงการนี้ด้วยการไปถ่ายรูปตอนฉีดวัคซีนโปลิโอทำให้ภาพถ่ายนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศ ทำให้คนมักยกเหตุการณ์นี้ว่ามีสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนฉีดวัคซีนอย่างมหาศาล แม้ว่าพลังของดาราจะสร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลในแง่ของความตื่นตัวในการสร้างความในการสร้างภูมิคุ้มกันก็จริง แต่นักประวัติศาสตร์ก็บอกว่าตัวแปรสำคัญอย่างแท้จริงมาจากกลุ่มวัยเด็กวัยรุ่นเองได้ก่อตั้งกลุ่มวัยรุ่นต้านโปลิโอเข้าไปรณรงค์แบบเคาะประตูบ้าน จัดงานเต้นรำที่อนุญาตให้เฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้าร่วม นี่เลยเป็นเหตุการณ์แรกๆ ที่แสดงถึงพลังของวัยรุ่นในการทำความเข้าใจและสื่อสารกับคนรุ่นเดียวกัน

เรื่องนี้ เขาพยายามอธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงในสังคมในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องโลกร้อน ต้องพยายามให้เกิดจากปฏิกิริยาห่วงโซ่หลายห่วงทำงานพร้อมกัน ต่างต้องพยายามทำให้เกิดวงจรสะท้อนกลับไปกลับมา เขาพยายามอธิบายเพิ่มว่าไม่มีองค์ประกอบใดเพียงอย่างเดียวที่เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเดียวของการเกิด พายุฮอริเคน ภัยแล้ง ไฟป่า ซึ่งก็เหมือนกับ “การทำให้คนเลิกสูบบุหรี่” เช่นกัน แต่ทุกองค์ประกอบล้วนสำคัญและมีความหมายที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง และนี่แปลว่าทุกคนต้องช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งของวงจรนี้ด้วย

และปัญหาของเรื่องการรณรงค์เรื่องมันยากขึ้นไปอีกตรง เรื่องนี้ คนส่วนใหญ่พอรู้ พอทราบ แต่รู้แล้วยังไงต่อล่ะ ซึ่งประโยคที่เด็ดที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับผมคือ “น่าเสียดายนะแทนที่จะมีคนกลุ่มน้อยที่ไม่ชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เรากลับมีคนกลุ่มใหญ่ที่เชื่อ แต่ไม่คิดจะทำอะไร”

ในภาวะของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่าง #Climatechange” ที่นักวิทยาศาสตร์พยายามสื่อสารว่า เรียกว่า Change เฉยๆ ไม่ได้แล้ว มันต้องเรียกว่า #ClimateCrisis ได้แล้ว ซึ่งก็น่าสนใจนะครับว่า Crisis จริงๆ แล้ว รากของคำนี้มาจาก กรีก ที่แปลว่า “ตัดสินใจ” และตรงมากๆ ว่า เราคงต้อง ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างจริงๆ จังๆ แล้วล่ะ

ใครสนใจลองอ่านดูนะครับ เล่มนี้มีคำตอบว่า ต้องทำอะไรและแรงระดับไหนถึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ