by kokoyadi | May 4, 2022 | Read
เจสัน เฝิง เขียน | ลลิตา ผลผลา แปล | Bookscape พิมพ์
เล่มนี้เป็นเล่มที่สนุกดี ท้าทายความเชื่อแทบทุกอย่างที่เราคุ้นเคยเกี่ยวกับโรคอ้วน อย่างเช่น อาหารมื้อเช้าสำคัญที่สุด จะลดความอ้วนให้สำเร็จต้องจัดการขาออกให้มากกว่าขาเข้าหรือออกกำลังกายให้มากกว่ากิน นับแคลอรี่เป็นเรื่องสำคัญ ฯลฯ
เล่มนี้เขียนโดย เจสัน เฝิง หมอที่เชี่ยวชาญด้านโรคไต ซึ่งเป็นผลมาจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และส่วนใหญ่คนไข้ของเขามาพร้อมกับโรคอ้วน และจุดเริ่มต้น ของการค้นคว้าโรคอ้วนก็เพราะคนไข้ของเขาถามว่า หมอบอกให้ลดน้ำหนัก แต่อินซูลินที่หมอให้ทำให้น้ำหนักของเค้าเยอะขึ้น สรุปมันมีประโยชน์จริงเหรอ และซึ่งเรื่องนี้เป็นที่รบกวนจิตใจของเขาเขาจึงค้นหาคำตอบและเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้
ความสนุกของหนังสือเล่มนี้คือ เรื่องเล่าและการเปรียบเปรยของการศึกษาโรคอ้วน เช่น การทำความเข้าใจโรคอ้วนเป็นเรื่องระยะยาวจะศึกษาในช่วงเวลาสั้นๆ ระดับเพียงหลายสัปดาห์ไม่พอ เพราะถ้าคนเฉลี่ยน้ำหนักขึ้นปีละ 0.5 หรือ 1 กิโลกรัม 10 ปีก็เกือบ 10 กิโล เหมือนกับ จะเข้าใจว่าสนิมเกิดได้อย่างไรต้องสังเกตโลหะหลายเดือนไม่ใช่หลายชั่วโมง
หรือจะศึกษาโรคอ้วนกับคนก็ต้องศึกษาจากคนเท่านั้น มันมีความจำเพาะ เขาชวนให้ไปลองดูวงจรชีวิตของสัตว์ปกติ ส่วนใหญ่เมื่ออาหารอุดมสมบูรณ์ขึ้น มันจะนำไปสู่การเพิ่มของจำนวนของสัตว์ ไม่ใช่การเพิ่มขนาดตัว นึกถึงหนูหรือแมลงสาบดูได้ เมื่อขาดแคลนอาหาร ประชากรหนูก็จะต่ำ แต่เมื่ออาหารอุดมสมบูรณ์จะมีหนูขนาดปกติจำนวนเพิ่มขึ้น ไม่ใช่หนูจำนวนเท่าเดิมที่มีโรคอ้วน
ข้อสรุปที่สำคัญที่สุดของหนังสือเล่มนี้ คือโรคอ้วนไม่ได้มาจากการคุมแคลอรี่ จะขาเข้าหรือขาออกก็ตาม เราทำด้วยตัวเองไม่ได้ เพราะร่างกายมีระบบอันละเอียดอ่อนที่ชี้นำให้เรากินหรือไม่กิน การควบคุมร่างกายหลายอย่างถูกควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติคล้ายกับการหายใจที่เราไม่ต้องเตือนตัวเองให้หายใจ หรือแม้แต่คุมจังหวะให้มันเต้นไม่ได้ กลไกส่วนใหญ่ทุกคลุมด้วยกลไกที่รักษาสมดุลย์ในร่างกายด้วย
คนมักจะเชื่อว่าเราคุมการกินของเราได้ คือ จะคุมแคลลอรี่ขาเข้า แล้วเชื่อว่า เดี๋ยวน้ำหนักก็ลด แต่ความจริงคือร่างกายฉลาดกว่านั้น เพราะมันรู้จักปิดตัวเองได้ มันพยายามลดการใช้พลังงานทุกด้านเพื่อรักษาตัวเอง และลดการใช้พลังงานในบางเรื่องมันจะส่งผลต่อระบบร่างกายต่างๆ เช่น การให้ความร้อนแก่ร่างกายซึ่งอาจทำให้เราทนหนาวยากขึ้น การสูบฉีดโลหิตของหัวใจทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง การรักษาระดับความดันเลือดซึ่งอาจทำให้เรามีสมาธิน้อยลง คิดช้าลง เฉื่อยชาขึ้น
ซึ่งพอระบบมันรวน มันก็จะสั่งให้เราหิว สั่งให้เรากิน แล้วเราจะไม่ทน ซึ่งนั่นก็กลับมาสู่ภาวะปกติภายในไม่นาน
…นี่ก็เหมือนเราสู้กับความอ้วน แต่ความอ้วนมันสู้กลับเลย…
เรื่องแคลอรี่ขาออกก็เช่นกัน คนมักจะเข้าใจว่าการออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญในการลดน้ำหนัก เพราะเท่ากับแคลอรีขาออก แต่ความจริงการใช้พลังงานส่วนใหญ่ของมนุษย์คือการเผาผลาญความร้อนที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การหายใจการรักษาอุณหภูมิในร่างกายการขับเคลื่อนหัวใจให้สูบฉีดโลหิตการบำรุงรักษาอวัยวะต่างๆการทำงานของสมองตับไต ซึ่งการออกกำลังกายเป็นส่วนน้อย ประมาณ 5% ของการใช้พลังงานโดยรวมเท่านั้น คุณหมอเปรียบเทียบว่า การโฟกัสที่การออกกำลังกายในการลดน้ำหนักเหมือนการติวสอบข้อสอบจากเนื้อหา 5% เท่านั้นจากข้อสอบทั้งหมดแล้วเชื่อว่าจะสอบผ่าน โอ้ย!!!
การลดน้ำหนักที่ยากและไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะเราต้องต่อสู้กับร่างกายตัวเองอยู่ตลอดเวลา เมื่อน้ำหนักลดร่างกายก็จะทำให้มันเพิ่ม คำตอบทั้งหมดของเรื่องนี้จึงอยู่ที่ ความไม่สมดุลย์ของฮอร์โมน และจะชนะได้ต้องเข้าใจกลไกรักษาสมดุลย์ ที่ช่วยจัดการสมดุลย์ของฮอร์โมน
และจะกินยังไงให้ไม่อ้วน (ไว้ค่อยเล่านะครับ ใครรีบ…) ลองไปหาอ่านดูนะครับ ป้ายยาเท่านี้พอ 🙂
by kokoyadi | Apr 14, 2022 | Read
ชาติชาย มุกสง เขียน | สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์
เป็นหนังสือที่ไล่เรียงประวัติศาสตร์ของโรคระบาดระดับโลก สู่แนวคิดเรื่องเชื้อโรคและโรคระบาดของไทยที่สัมพันธ์กับเรื่องสังคมการเมือง
ขอเล่าส่วนของไทยก็พอนะครับ…
ในประวัติศาสตร์ โรคระบาดสำคัญที่ทำลายชีวิตคนที่สังคมไทยก่อนสมัยใหม่ มีอยู่ 3 โรคใหม่ คือ กาฬโรค อหิวาตกโรค และไข้ทรพิษ
และฟังจากบันทึกของหมอบลัดเลย์ ก็จะเล่าว่าโรคฝีดาษระบาด เกิดขึ้นทุกๆ ปีในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ส่วนหมอมัลคอล์ม สมิธ ก็บันทึกว่าโรคอหิวาตกโรค เป็นโรคระบาดของสยามทุกปีในหน้าแล้งระหว่างเดือนเมษาถึงกรกฎาคม ส่วนเดือนที่เหลือก็ให้โรคมาลาเรียซึ่งก็มาจากยุงชุม สรุปว่าโรคระบาดเป็นตลอดนะครับ และนี่มีผลต่อเรื่องประชากรของสยามที่ผ่านมา ทำให้สะสมกำลังคนในทางทหาร การปลูกอะไรไม่ค่อยได้ จำนวนคนถึงไม่ได้เยอะมาก
และเมื่อเกิดโรคระบาด รัฐไทยแบบจารีตมักจะใช้พิธีกรรมทางศาสนาอย่างพระราชพิธีอาพาธพินาศและการสวดอาฏานาฏิยสูตรเพื่อสร้างขวัญ และกำลังใจให้ผู้คน หรือถ้าทำไม่สำเร็จก็จะย้ายคนออกจากพื้นที่ระบาด และหนักที่สุดคือย้ายเมือง อย่างที่พระเจ้าอู่ทองย้ายมาตั้งเมืองอยุธยาก็ด้วยสาเหตุเดียวกันนี้
เดิมสังคมไทยไม่มีความรู้เรื่องโรค เมื่อเกิดโรคระบาดเลยมักเรียกรวมรวมว่าเป็น “โรคห่า” ห่าจึงไม่ได้หมายถึงโรคใดโรคหนึ่งเป็นการเฉพาะ อย่างในช่วงอยุธยาโรคห่าจึงน่าจะหมายถึง โรคไข้ทรพิษ กาฬโรคและมาเลเรีย ส่วนต้นรัตนโกสินทร์โรคห่า จะหมายถึง โรคอหิวาตกโรค แต่เอาเข้าจริงอาจแบ่งชัดๆ แบบนี้ไม่ได้เท่าไหร่เพราะขึ้นอยู่กับการบันทึก ของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสยาม ซึ่งส่วนใหญ่ก็บันทึกตามปรากฎตการปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการพบเห็นบอกเล่า และสังคมยังไม่มีความรู้เรื่องเชื้อโรคมากพอในการอธิบาย
จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการยกเลิกพิธีกรรมอย่างพระราชพิธีอาพาธพินาศ เพราะแก้ปัญหาเรื่องการระบาดของอหิวาตกโรคไม่สำเร็จ ซึ่งในช่วงเวลานั้น หมอบลัดเลย์ มิชชั่นนารีชาวอเมริกาเริ่มนำความรู้ด้านการแพทย์ยารักษาโรคมารักษาผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค ซึ่งก็ได้ผลดี
ในจดหมายเหตุเล่าให้ฟังว่า หมอบลัดเลย์แนะนำรัฐบาลให้จัดแจงกรุงเทพฯ “ให้ปราศจากสิ่งโสโครก ให้บ้านเมืองสะอาดจะช่วยป้องกันโรคนห่าลงได้ ต้องประกาศให้ราษฎรเจ้าของบ้านทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาดเหมือนกับที่พวกเขาชอบอาบน้ำให้สะอาด เขาว่าเมืองไทยไม่ค่อยสนใจความสะอาดบ้านเรือนโดยเฉพาะพวกใต้ถุนบ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ และแนะนำให้ออกเป็นกฎหมายรักษาความสะอาดเหมือนที่มีในตะวันตก“
คำอธิบายของโรคระบาดที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม และความสะอาดของบ้านเมือง กลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่รัฐต้องเข้ามาจัดการ จากที่ไม่เคยอยู่ในบทบาทของรัฐ ดังนั้น ในทางประวัติศาสตร์ “กรมสุขาภิบาล” จึงถือกำเนิดขึ้นก่อน และอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ต่อมาถึงจะมี “กรมสาธารณสุข” ที่เป็นส่วนหนึ่งของ “กรมสุขาภิบาล” อีกที
ด้วยความเข้าใจที่เปลี่ยนไป ทำให้ภาระกิจของรัฐในการจัดการโรคระบาด จึงต้องเริ่มเข้ามาจัดการสุขาภิบาล การพัฒนาเมือง การกำจัดของเสียน้ำเสีย สิ่งปฏิกูลต่างๆ การสร้างถนน การระบายน้ำ และการสิ่งแวดล้อมให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อต่อสู้และแก้ไขปัญหาเรื่องโรคระบาด
ด้านการจัดการโรค เริ่มมีการตั้งสถาบันทางการแพทย์เข้ามาดูแลสุขภาพของประชาชน ช่วงนั้นจึงเกิด “โรงศิริราชพยาบาล” เพื่อรักษาคนไข้ ซึ่งก่อนหน้านั้นจริงๆ แล้วมีโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้นหลายแห่งแล้วโดยบทบาทของมิชชันนารีชาวต่างชาติและไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกรุงเทพเท่านั้น ยังมีอีกหลายที่ในภูมิภาค
ในประวัติศาสตร์ สังคมไทยรู้จักอาการป่วยไข้ต่างๆ ที่เกิดจากโรคระบาดส่วนใหญ่มาจากบันทึกที่เกิดจากพระสงฆ์พระผู้ใหญ่ ซึ่งในบันทึกจะมีการบันทึกอาการอย่างละเอียด รวมถึงวิธีการรักษา และจะบันทึกอาการจนถึงมรณภาพ ซึ่งโดยปกติการรักษาพระผู้ใหญ่จะเน้นการแพทย์แผนไทยมากกว่า การใช้ยารักษาโรคจากตะวันตกที่ในขณะนั้นเริ่มมีเข้ามาในสังคมแล้วก็ตาม
และเมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่หก สังคมเริ่มมีความรู้แยกแยะโรคแต่ละชนิดได้ว่าคือ อะไร เกิดความชัดเจนในการเรียกชื่อโรค คำว่า “ห่าลง” ก็สิ้นสุดไปด้วย
ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กรมสาธารณสุขและกรมสุขาภิบาลอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย การแพทย์สมัยใหม่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่กับชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองมากกว่าการเผยแพร่สู่ราษฎรอย่างกว้างขวาง แต่หลัง 2475 เป็นครั้งแรกที่อธิบดีกรมสาธารณสุขเป็นแพทย์ คือ “พระยาบริรักษ์เวชการ” ภายใต้การบริหารของรัฐบาลคณะราษฎรที่มี ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ทำให้เกิดนโยบายขยายการจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชน มีโครงการสร้างโรงพยาบาลและสุขศาลาในส่วนภูมิภาคให้ครบทุกจังหวัด
ต่อมาในสมัยของ จอมพลปอ พิบูลสงคราม เริ่มมีเป้าหมายการสร้างชาติที่มั่นคง จำนวนประชากรและสุขอนามัยเป็นสิ่งสำคัญ จึงมีการ ยกระดับ “กรมสาธารณสุข” ให้เป็น “กระทรวงสาธารณสุข” แม้ว่าในขณะนั้นฝ่ายตรงข้ามจะคัดค้านนโยบายนี้ ว่ายังไม่พร้อมและอ้างเรื่องการขาดงบประมาณก็ตาม (ซึ่งถ้าใครอ่านขุนศึก ศักดินา พญาอินทรีย์ คงพอเดาออกนะครับว่า ฝ่ายตรงข้ามคือใคร)
… ใครว่าเรื่องสาธารณสุขต้องไม่ใช่เรื่องการเมืองน้าาา
by kokoyadi | Apr 10, 2022 | Read
Alan Weisman เขียน | สรณรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์ แปล | Salt พิมพ์
ถ้าหนังสือ sapian คือหนังสือที่สรรเสริญความสามารถของมนุษย์เซเปียนในการครอบครองโลก เล่มนี้คงเปรียบดังคำสาปแช่งของโลกต่อมนุษย์
คนเขียนพยายามวาดภาพว่า เราได้ชโลมยาพิษใส่โลกใบนี้รวมทั้งตัวเราด้วยโดยที่ไม่ตั้งใจอยู่หรือเปล่า เรายังใช้และย่ำยี น้ำและดินไปพร้อมๆ กัน พร้อมไปกับการเหยียบย่ำชีวิตต่างสายพันธุ์ต่างๆ นับ 1000 ชนิดที่คงไม่ฟื้นคืนกลับมาง่ายๆ
หนังสือเล่มนี้จึงตั้งคำถามว่าหาเอามนุษย์ออกไปจากโลกทันทีจะเป็นอย่างไรจะใช้เวลานานแค่ไหนที่ธรรมชาติจะฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับสู่สภาพสวนสวรรค์อีเดน การรื้อเมืองและระบบสาธารณูปโภคอันมโหฬารต่างๆ การสลายพลาสติกวัสดุสังเคราะห์เป็นพิษต่างๆ ขนาดมหาศาลให้กับไปสสารพื้นฐานที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยได้อย่างไร หรือว่าสสารบางอย่างมันผิดธรรมชาติจนทำลายไม่ได้เสียแล้ว
บทแรกเล่าถึงป่าดึกดำบรรพ์ที่อยู่ระหว่างใช้แดนโปแลนด์และเบลารุสที่ต้องเผชิญหน้ากับการบุกรุกของคนบดขยี้ผ่านประวัติศาสตร์
และหลังจากนั้นคนเขียนสวม พลังวิเศษที่พาให้เราจินตนาการไปพร้อมกับเขาว่าเพียงหนึ่งวันนับจากวันที่มนุษย์หายไปจาก โลก ธรรมชาติจะกลับเข้ามายึดครองและทำความสะอาดบ้านอย่างไร บ้านที่สร้างจากไม้คอนกรีตเหล็กจะถูกน้ำกัดเซาะและทำลายยังไง เหล่าฝูงสัตว์กระรอกและแรคคูณ กิ้งก่า จะเข้าไปในบ้านของคุณและสร้างรังในกำแพงและเริ่มบทขยี้โครงสร้างต่างๆ จนมันพังทลายลง
เมืองที่ไม่มีเราจะถูกน้ำถาถม เค้าชวนเราไปดูระบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่มันเคยทำงานอยู่ต่อสู้กับแรงดันน้ำมหาศาลจากมหาสมุทร แต่เมื่อไม่มีมนุษย์อยู่ ปั๊มน้ำปิดระดับน้ำจะท่วมอุโมงค์รถไฟทั้งหมดภายใน 36 ชั่วโมง ทางน้ำใหม่ๆ จะก่อตัวขึ้น น้ำที่ขังในรถไฟใต้ดินจะทำให้เพดานอุโมงค์ถล่มลง ถนนหลายเส้นจะยุบตัวลงมันจะกลายเป็นแม่น้ำสายใหม่
วัชพืชจะบุกเมืองต้นไหมจะยึดครองในเวลาต่อมาความหลากหลายชีวภาพจะเพิ่มขึ้นเมื่อตึกรามบ้านช่องอาคารต่างๆ สุดล้มลงฟาดกันเป็นซากปรักหักพังและ ป่าคอนกรีตจะเปิดทางให้ป่าจริงเข้าครอบครอง
ให้หลังเพียง 100 ปีฝนที่ตกลงมาจะกลายเป็นฝนที่ไม่เป็นฝนกรด ต้นไม้ที่อยู่ไม่ต้องทนกับสารปนเปื้อนมากเท่าที่ช่วงที่มนุษย์ครอบครองโลกสารเคมีต่างๆ ค่อยๆ ถูกชะล้างออกไปจากระบบ ในช่วงเวลาหลายทศวรรษต่อมา พื้นที่อุตสาหกรรมจะถูกทับถมให้ฝังลึกลงไปเปิดพื้นที่ให้กล้าไม้พื้นถิ่นรุ่นต่อไปได้มีชีวิตที่ดีขึ้น
หนังสือเล่มนี้นอกจากพาให้เราจินตนาการไปถึงอนาคตแล้ว ยังพยายามอธิบายการใช้ชีวิตของมนุษย์ว่าส่งผลต่อธรรมชาติอย่างไร อย่างเรื่องพลาสติก เป็นของที่ย่อยสลายได้ยาก เมื่อมนุษย์จัดการไม่ดีพอ สุดท้ายก็จะไหลลงสู่ท่อน้ำทิ้ง สู่แม่น้ำ และตรงไปยังมหาสมุทร และสุดท้ายกลายเป็นอาหารขนาดพอดีคำสำหรับสัตว์ทะเลเล็กๆ นักวิทยาศาสตร์เก็บข้อมูลสัตว์ทะเลในมหาสมุทรรอบเกาะอังกฤษพบว่าสัตว์เกือบทุกชนิดมีพลาสติกเป็นผสม จนเปรียบเทียบน้ำหนักกับมนุษย์แล้ว ประมาณว่า มนุษย์กลิ่นพลาสติกไป 2 กิโลกรัม !!! และนี่ยังไม่นับสัตว์จำนวนมากที่เสียชีวิตจากพลาสติกที่ย่อยไม่ได้แล้วไปอุดตันลำไส้หรือส่วนต่างๆ ของร่างกายของน้องๆ เหล่านั้น
การผลิตพลาสติกในช่วง 50 ปีที่ผ่านมามีมากเกินกว่า 1 พันล้านตันและมีเหลืออีกหลาย 100 ชนิดที่เราไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนรูปได้อย่างไร การย่อยสลายทางชีวภาพกับชิ้นพลาสติกตัวอย่างกับแบคทีเรียที่เพราะเอาไว้ ระยะเวลาหนึ่งปีพลาสติกย่อยสลายได้น้อยกว่า 1% เท่านั้น และหากอยู่ในมหาสมุทรการย่อยสลายยิ่งแย่กว่าหลายเท่า
ด้านการเกษตรก็เช่นกัน แม้ว่าเกษตรจะเป็นที่ๆกำเนิดเมือง ทำให้เราลุกขึ้นมาควบคุมชีวิตของเมล็ดพืชและฝูงสัตว์ หนังสือใช้คำว่า “เรากำหนดวิถีชีวิตมัน เกลี้ยกล่อมมัน ให้เติบโตได้ดังใจมากขึ้น ในปริมาณที่สูงขึ้นมาก” สิ่งเหล่านี้มันตามมาด้วยการทดลองใช้สารฆ่าหญ้า ฆ่าแมลงศัตรูพืช ใช้สารเคมีต่างๆ ทำให้ภาวะดินเปลี่ยนไปอย่างมาก ในสงครามเวียดนามสหรัฐสาดฝนเหลืองใส่เวียดนาม กว่า 12,000,000 แกลลอนทำให้ป่าไม่สามารถฟื้นตัวนานกว่าสี่ทศวรรษต่อมา
แม้ว่าบทเรียนจากสงครามจะทำร้ายธรรมชาติทางตรง แต่ในอีกด้านหนึ่งพื้นที่สงครามที่ห้ามมนุษย์เข้าถึงอย่างเขตปลอดทหารก็เป็นบทเรียนว่าเมื่อมนุษย์ไม่เข้าถึงพื้นที่เหล่านั้น เหล่าธรรมชาติ อย่างสัตว์ป่าและพันธ์ุพืชต่างๆ ก็ทวงคืนพื้นที่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่สัตว์แทบสูญพันธุ์แปลกหลายอย่างก็ฟื้นคืนกลับมา
ปัญหาสำหรับสัตว์ต่างๆในการดำรงชีวิตของมนุษย์ คือ เราไม่ได้ฆ่าพวกมันทางตรง แต่เรามีวิธีการที่หลากหลายในการฆ่ามัน เช่น การกำจัดแหล่งอาหารของมัน เราทำลายป่าในที่ต่างๆ เพื่อเพาะปลูกอาหารของเราเอง หรือเราสร้างเสาส่งสัญญาณวิทยุ แสงกระพริบสีแดงท่ามกลางหมอกและลมพัดทำให้นกพุ่งเข้าหามัน นักปักษีวิทยาประเมินว่ามีนกเกือบ 200 ล้านตัวชนเสาเช่นนี้ตายทุกปี และนี่นับเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ส่วนในเมือง นกบางประเภทแยกแยะระหว่างกระจกใสกับกระจกสะท้อนไม่ออก ทำให้นกอพยพที่เคยคุ้นเคยสภาพทุ่งโล่งหรือป่าไม้ ชนตึก ทำให้มีนกคอหักตายในแต่ละปีเกือบ 100 ล้านตัว
จนในหนังสือเขียนไว้ว่า “โดยนิยาม เราเป็นผู้บุกรุกต่างถิ่น ทุกแห่งทุกหน ยกเว้นแอฟริกา ทุกครั้งที่โฮโมซาเปียนส์ไปไหนก็ตามต้องมีชีวิตสูญพันธุ์”
ไปอ่านกันเถอะ เล่มนี้สนุกจริงและทำให้เปลี่ยนภาพการมองโลกของเราไปมากๆ
by kokoyadi | Apr 6, 2022 | Read
สำนักพิมพ์มติชน
ชื่อตัวเล็กๆ ที่ต่อท้าย คือ “สมรภูมิเศรษฐกิจการเมืองไทยกับประชาธิปไตยที่ไม่ลงหลักปักฐาน” หนังสือเล่มนี้มาจากงานวิจัยเรื่อง “การปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำกับการสร้างระบบประชาธิปไตยในช่วงปี 2475 ถึง 2500” ที่พยายามทำความเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และการปฏิวัติ 2475 จนถึงการรัฐประหารปี 2500
เริ่มต้นปัญหาของเรื่องนี้คือ ระบบกรรมสิทธิ์โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ที่เกิดขึ้นจากความต้องการข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นสูง ทำให้สยามต้องขยายพื้นที่การเพาะปลูก เริ่มมีการลงทุนในที่ดินรกร้างว่างเปล่าเพื่อการผลิตข้าว การขุดคลองในช่วงสมัย ร.4 ถึง ร.5 หลายเส้นเป็นส่วนสำคัญในการเปิดพื้นที่ปลูกข้าว จากการดำเนินการของรัฐบาลที่ดำเนินการขุดคลองเองจนถึงการให้มีระบบสัมปทานในการขุดคลองของเอกชน ทำให้เริ่มมีการจับจองที่ดินขึ้น และกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ เจ้านายและขุนนางที่ใกล้ชิด ชาวนาจึงกลายเป็นผู้เช่าที่ดินของบรรดาเจ้านายและขุนนางในการทำการเพาะปลูกข้าวในรอบๆ เขตพระนครและภาคกลาง
การบุกเบิกที่ดินรกร้างนำมาสู่การครอบครองที่ดินและสร้างประโยชน์ทางทรัพย์สินให้กับชนชั้นนำ ในทางกลับกัน แม้ว่าชาวนาจะได้ประโยชน์จากการทำเกษตรและราคาข้าวจากตลาดโลกในบางช่วงจะดีขึ้นก็ตาม แต่การไม่เข้าถึงกรรมสิทธิ์และต้องจ่ายค่าเช่านับเป็นความเหลื่อมล้ำที่ที่เกิดจากทรัพย์สินนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างเจ้าที่ดินที่เป็นชนชั้นสูงกับสามัญชนที่เป็นชาวนา
จนมาถึงหลังการปฏิวัติ 2475 ผู้นำระบบใหม่พยายามจะปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะถูกต่อต้านจากชนชั้นเจ้าที่ดินอย่างรุนแรง ซึ่งนี้ก็เป็นส่วน หนึ่งของเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีพนมยงค์ที่ถูกกล่าวหาว่ามีแนวทางแบบคอมมิวนิสต์
หนังสือเล่าไว้ได้น่าสนใจมากว่า อีกฝ่ายหนึ่งพยายามโต้ปรีดีว่า “ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสยามมิได้อดอยากแร้นแค้น รายได้และฐานะการกินอยู่ของราษฎรดีกว่าทุกๆ ประเทศในภาคพื้นทวีปเอเชีย” คุ้นๆ มั้ยครับ และดีเบตเรื่องการครอบครองที่ดินก็ต่อสู้ยาวมาจนถึงปี 2500 ซึ่งมีรายละเอียดปีกย่อยเยอะเลย แต่คงไม่ต้องเดานะครับว่าจะออกมาหน้าตาเป็นยังไง
การต่อสู้เรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจในเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้อยู่เพียงการครอบครองที่ดินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเด็นเรื่องทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ การจัดการมรดก ที่เป็นประเด็นการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายคณะราษฎร ความสนุกของประเด็นนี้ คือการลากยาวไปถึงปูมหลังที่มาของทรัพย์สินของพระคลังข้างในสมัย ร.4 ว่ามีปัญหาอย่างไร (เล่าถึงขั้นว่าเงินพระคลังข้างที่มีไม่พอจัดงานพระศพสมเด็จพระจอมเกล้าจนต้องไปยืมเงินกรมสมเด็จพระสุดารัตน์มาใช้) และการปฏิรูปในสมัย ร.5 ในการดึงอำนาจคืนจากขุนนางเก่า การสร้างระบบราชการใหม่ และ และใช้กลไกข้าราชการในการเก็บภาษี และให้ทุกอย่างรวมศูนย์มาไว้ที่องค์พระมหากษัตริย์ ทั้งหมดนั้น ช่วยนำมาซึ่งความมั่นคงทางการคลังที่มากขึ้น แต่จะกระจายประโยชน์สู่ราษฎรมากน้อยเพียงใดต้องไปดูที่การจัดสรรงบประมาณด้านการคลัง
โดยด้านงบประมาณการคลัง ความแซ่บของบทนี้คือ การเปรียบเทียบเรื่องรายจ่ายด้านต่างๆ ในช่วงก่อนและหลัง 2475 เช่น รายจ่ายส่วนพระมหากษัตริย์ ด้านการสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการทหาร ซึ่งสรุปเร็วๆ คือ รายจ่ายก่อน 2475 ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อรักษาความสงบภายใน รักษาผลประโยชน์และเสริมสร้างสถานะของชนชั้นปกครองมากกว่าการคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษา/สาธารณสุขสำหรับประชาชน
ซึ่งหากเราอ่านประวัติศาสตร์แล้ว เห็นความพยายามของชนชั้นนำในการสนับสนุนการศึกษา/ สาธารณสุขเป็นชิ้นๆ คงซาบซึ้งใจอยู่บ้างแต่หากลองเปรียบเทียบกับภาพใหญ่ เช่น
(1) สัดส่วนงบประมาณ ในหนังสือเล่าให้ฟังว่า โรงเรียนเป็นกลไกในการรักษาสถานะทางสังคมเดิมของชนชั้นขุนนาง อย่างเช่น โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบก็เป็นที่ศึกษาของเชื้อพระวงศ์และลูกหลานของตระกูลขุนนาง พอเริ่มมีสามัญชนอยากเข้าถึงการศึกษาเช่นนี้โรงเรียนก็เริ่มเก็บค่าเล่าเรียนเพื่อกีดกันสามัญชนไม่ให้เข้าเรียนได้โดยง่าย
ส่วนโรงเรียนราษฎรอย่างโรงเรียนประถมวัดมหรรณพารามที่เป็นโรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรก ก็มีจำกัดและพัฒนาอย่างเชื่องช้าสัดส่วนการให้การสนับสนุนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับงบประมาณของโรงเรียนสำหรับชนชั้นสูง ในหนังสือเล่าว่า งบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปอุดหนุนการศึกษาระดับมัธยมและภาคภาษาอังกฤษสำหรับชนชั้นสูงเพื่อเตรียมความพร้อมให้บรรดาเชื้อพระวงศ์ที่จะไปศึกษาต่อที่ยุโรป
(2) หรือการเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการปฏิรูปในเวลาไล่เลี่ยกันอย่างการปฏิรูปประเทศสมัยเมจิที่ญี่ปุ่น ข้อมูลในปี พ.ศ. 2453 คือหลังปฏิรูปประมาณสองทศวรรษ สัดส่วนของนักเรียนทั้งชายและหญิงในช่วงอายุ 7-14 ปีของไทยอยู่ในโรงเรียนเพียง 15% ในขณะที่ญี่ปุ่นในช่วงอายุเดียวกันอยู่ในโรงเรียนแล้วถึง 98%
ด้านการสาธารณสุขก็เช่นเดียวกัน แม้การแพทย์สมัยใหม่เริ่มเข้ามาในสยามแล้ว แต่การจัดบริการสาธารณสุขเกิดขึ้นจากแรงจูงใจในการทำบุญทานทำทานมากกว่าจะยอมรับว่ากิจการสาธารณสุขเป็นหน้าที่ของรัฐ การเร่งสร้างโรงพยาบาลในต่างจังหวัด การเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ ล้วนเกิดขึ้นจริงและส่งผลต่อประเทศ หลังการปฏิวัติ 2475 อย่างกระทรวงสาธารณสุขเกิดขึ้นหลัง 2475 เดิมกรมสาธารณสุขมาจากกรมพยาบาลที่อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย
หากลองดูงบประมาณ บริการด้านสาธารณสุขต่อหัวประชากร ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อยู่ที่ 0.11 บาท/คน หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพิ่มขึ้นเป็น 1.25 บาท/คน และเพิ่มเป็น 4 บาท/คนในช่วงปี 2500
ใครสนใจ รากของประวัติศาสตร์ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาในเชิงโครงสร้างทางการเมืองลองหาอ่านกันได้ครับ
by kokoyadi | Apr 4, 2022 | Read
Amarin How to / 355 บาท
หนังสือเล่มนี้มีสองส่วน ส่วนแรกเป็นการรวบรวมการพูดในที่ต่างๆ ของ เกรต้า ธุนเบิร์ก ในช่วงปี 2018 หลังจากที่เธอหยุดเรียนประท้วงเรื่องสภาพภูมิอากาศที่นอกรัฐสภาสวีเดน จนถึงปลายปี 2019 รวม 16 ครั้ง ในเวลาเพียง 13 เดือนเท่านั้น
ส่วนที่สองเป็นข้อเขียนที่ครอบครัวของเธอร่วมกันเขียนขึ้น โดยเฉพาะแม่ของเธอที่เล่าเรื่องต่างๆ ที่ทำให้เรารู้จักครอบครัว และตัวตนของเธอมากขึ้น
อย่างเช่นครอบครัวของเกรต้าที่คุณแม่เป็นนักร้อง Opera คุณพ่อเป็นมือเบสซึ่งทั้งสองนิยามตัวเองว่าเป็นคนทำงานด้านวัฒนธรรม Cultural worker ซึ่งทำงานอย่างมี passion ในงานที่ทำ สนใจประเด็นซีเรียสอย่างสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และผู้อพยพ รวมถึงการอ่านหนังสือประเภทต่างๆทางสังคมวัฒนธรรมที่ช่วยหล่อหลอมวิธีคิดให้ลูกของเธอทั้งสองคนทั้งกีตาร์และบีเอสต้า
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตของเกรต้าในวัย 11 ปีที่มีปัญหาด้านการกินอาหาร คือทานอาหารอะไรไม่ได้เป็นเวลากว่าสองเดือน ทำให้น้ำหนักจากเดิมที่ไม่มากอยู่แล้วลดลงไปกว่า 10 กิโล ส่งผลต่อปัญหาทางร่างกายทำให้อุณหภูมิร่างกายต่ำชีพจรความดันเลือดก็มีปัญหาต้องส่งตัวเข้าโรงพยาบาลดูแลปัญหาทางร่างกายและรวมถึงการวินิจฉัยสภาพทางจิตของเธอ
ในช่วงนั้นนักจิตวิทยาก็บอกกับแม่ของเธอว่าเกรต้ามีอาการ “แอสเพอร์เกอร์ซินโดรมแบบศักยภาพสูง” ซึ่งก็เป็นกลุ่มออทิสติกรูปแบบหนึ่งที่คนมีภาวะแบบนี้จะมีความสามารถพิเศษสูงในบางเรื่อง มีพัฒนาการไม่ต่างจากเด็กปกติ แต่จะมีปัญหาเรื่องปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นซึ่งในช่วงนั้น เกรต้าก็จะไม่พูดคุยกับใครเลย จะพูดคุยผ่านพ่อแม่เท่านั้น
ซึ่งปัญหาแบบที่เกรต้าเป็นอยู่ในโรงเรียนก็ยอมเป็นเรื่องแปลกสำหรับเพื่อนๆ และ แน่นอนเธอถูกแกล้งอย่างรุนแรง
ในอีกมุมนึงเกรต้าเป็นเด็กฉลาดเธอมีความทรงจำแบบภาพถ่าย มีความสามารถในการจำชื่อเมืองหลวงทั้งโลก ตารางธาตุ และอะไรที่เธอสนใจอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนกระทั่งเธอสนใจทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนเอาคำตำหนิพ่อของเธอว่า “พ่อเพิ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไป 2.7 ตันจากการบินไปโน้นแล้วกลับมา นั่นเท่ากับการปล่อยก๊าซทั้งปีของคนห้าคนในเซเนกัล” จนในที่สุด ครอบครัวนี้ก็เลี่ยงการเดินทางด้วยเครื่องบิน และใช้รถยนต์ไฟฟ้าและเรือในการเดินทางข้ามประเทศแทน
ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เกรต้าเท่านั้น แต่บีเอต้าน้องของเธอ ก็มีปัญหาโรคสมาธิสั้น ย้ำคิดย้ำทำ โรคดื้อต่อต้าน และมีอาการแอสเพอร์เกอร์ซินโดรมด้วย คือยิ่งอ่านแล้วก็ยิ่งเห็นใจครอบครัวเธอมากๆ ซึ่งก็ด้วยความสตรองของคุณแม่ก็พยายามหาทางออกในหลายๆ ทางแม้แต่การเข้าฟังงานบรรยายด้านจิตเวชวัยรุ่น ทำให้เราได้รู้ว่า ความไม่เท่าเทียมทางเพศของการศึกษาทางจิตเวชในวัยรุ่นเป็นอย่างไร เพราะการวินิจฉัย การประเมินการรักษา และข้อมูลต่างๆ ถูกอ้างอิงมาจากเด็กผู้ชายเท่านั้น
แต่หนังสือก็ไม่ได้เศร้าขนาดนั้น เพราะก็มีเบื้องหลังฉากสำคัญที่เกรต้าหยุดเรียนประท้วง โดยการเตรียมตัวศึกษา พูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ผ่านพ่อแม่ของเธอ การทำวิจัยฉบับย่อยๆ ว่าสื่อมวลชนรายงานข่าวเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศมากแค่ไหน และรวมถึงการเตรียมป้ายหยุดเรียนประท้วงด้วยเงินเพียง 20 โครนา (71 บาท) แต่เขย่าให้โลกฟังเธอ
นี่ คือ ภาพแรกที่เกรต้า หยุดเรียนและนั่งประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศ โดยมือถือของเธอที่ขอให้คนที่เดินผ่านคนหนึ่งช่วยถ่ายรูปให้
ใครสนใจลองหาอ่านได้ครับ และกำไรของหนังสือเล่มนี้ เกรต้าและครอบครัวจะมอบให้องค์กรการกุศลต่างๆ แปดแห่งที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เด็กที่เป็นโรค และสิทธิสัตว์ด้วย
by kokoyadi | Apr 3, 2022 | Read
สนพ. Sophia – บิล เกตส์ เขียน มันตา คลังบุญคลอง แปล
เล่มนี้ชอบมากอ่านแล้วเปิดโลกดี เพราะเรื่อง “Climate disaster” หรือ “โลกรวน” สำหรับเราจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ยากมากในการทำความเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อนระดับโลก แต่ตั้งแต่บทเริ่มต้นของหนังสือพยายาม บิล เกตส์ ทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้ผ่านตัวเลขสองตัวคือ 51,000 ล้านตัน ที่เป็นปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้นทุกๆ ปี กับเลข 0 ที่เป็นเป้าหมายที่เราต้องลดลงให้ได้
อันที่จริงตัวเลข 51,000 ล้านตัน คืออะไรเราไม่มีทางนึกออกหรือจินตนาการได้เลย แต่หนังสือเล่มนี้พยายามค่อยๆ ฉายภาพเปรียบเทียบให้เราเห็นว่าเราต้องดีลกับ อะไรบ้างในแต่ละเรื่องและแต่ละเรื่องมีความยากและซับซ้อนแตกต่างกันระดับไหน
ตัวอย่างเช่น เวลามีคนบอกว่าอุตสาหกรรมบางอย่างเปลี่ยนวิธีการใช้พลังงานทำให้ลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอุตสาหกรรมได้ถึง 17 ล้านตัน มันก็ฟังดูเยอะดีใช่ไหม แต่เค้าบอกว่าลองเอา 51,000 ล้านตัน ไปหารดูแล้วจะรู้ว่ามันช่วยโลกได้มากน้อยแค่ไหน ความเป็นจริงคือ 0.03% ของที่พูดมา นั่นแปลว่าอะไร อาจจะดีก็ได้ถ้ามันมีศักยภาพพัฒนาได้ดียิ่งๆ ขึ้นไป แต่ถ้าตัวเลขมันหยุดแค่ 17 ล้านตันแค่นั้นมันอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรเลยก็ได้
และโครงของหนังสือเล่มนี้ เอาตัวเลข 51,000 ล้านตัน เป็นตัวตั้ง แล้วอธิบายว่า…
27% คือ การใช้ไฟฟ้าและทิศทางมันเป็นยังไง เราควรจัดการยังไงกับมันต่อในแง่ของพลังงานต่างๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ชีวมวล ก๊าซ นิวเคลียร์
35% คือ การผลิตสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต ตั้งแต่ ซีเมนต์ เหล็ก พลาสติก
19% คือ การเพาะปลูกต่างๆ ทั้งภาคเกษตรอุตสาหกรรมสัตว์
16% คือ การเดินทางในทุกรูปแบบของมนุษย์ทั้งรถยนต์ เรือ เครื่องบิน
และ 7% สุดท้ายที่แยกออกมาสำหรับเรื่องการดับร้อนและคลายหนาวของมนุษย์อย่างเดียวคือการใช้แอร์และเครื่องทำความร้อนต่างๆ
ซึ่งในแต่ละเรื่องที่ว่ามา ก็มีความเฉพาะตัวมากๆ เช่นเรื่อง เช่นการผลิตพลังงานไฟฟ้า แหล่งพลังงานที่แตกต่างกันมันใช้พื้นที่ต่างกัน อย่างฟาร์มโซล่าใช้พื้นที่มากกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเกือบ 50 เท่า ส่วนฟาร์มกังหันลมใช้พื้นที่มากกว่าฟาร์มโซล่าเป็น 10 เท่า
บางเรื่องเป็นเรื่องของราคาที่จัดการยาก เพราะราคาที่เราใช้อยู่มันมีราคาถูกมาก เมื่อเทียบราคาแบบกรีนพรีเมี่ยมที่ต้องจ่ายเพิ่มสำหรับช่วยลดคาร์บอน ตลาดให้ใส่ใจความกรีนแต่แพงมันแทบเป็นไปไม่ได้เลย จึงต้องเร่งหากลไกด้านนโยบายและนวัตกรรมเป็นตัวช่วยสำคัญในการจัดการ
หรืออย่าง ปัญหา “มีเทน” ที่เป็นก๊าสเรือนกระจกตัวสำคัญที่มาจากจาก อึ เรอ ตด ของวัว อันนี้ก็ตลกดี พันธุ์วัวในแอฟริกาครองแชมป์ปล่อยก๊าซมีเทนมากกว่าวัวในแถบอเมริกา วัวในยุโรปปล่อยน้อยที่สุดเพราะมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ลำไส้ผลิตมีเทนได้น้อยกว่า หรือบางแห่ง นักวิทยาศาสตร์พยายามให้ฉีดยาให้วัวเพื่อลดแบคทีเรียที่ผลิตมีเทนในลำไส้ของวัว
ที่น่าสนใจสำหรับผม คือ บิล เกสต์ พยายามชี้ให้เห็นว่า คนรวยและคนรายได้ปานกลาง คือ กลุ่มที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนมากที่สุด แต่คนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด กลับเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งที่คนกลุ่มนี้มีส่วนในการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยที่สุด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายในการช่วยเหลือกลุ่มเปาะบางต่างๆ การบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภูมิอากาศแปรปรวน และในทางการเมืองเรื่องโลกร้อนมันเลยจัดการไม่ง่ายในเชิงสร้างที่เกี่ยวพันกับชนชั้นทั้งทางสังคม และชนชั้นมุมที่ระดับประเทศแบบประเทศรวย/จน ที่ต้องการเร่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วย