เบื้องหลัง Daily in Depth #ผนงรจตกม

เบื้องหลัง Daily in Depth #ผนงรจตกม

อยากชวนทุกคนลองชมรายการ the standard daily x tdri
ประจำเดือน มีนาคม นี้นะครับ เราตั้งชื่อตอนว่า ผนงรจตกม. 

ซึ่งจริงๆ ก็เป็นปรากฎการณ์ใน social media ที่น้องๆ ที่จัดกิจกรรมงานบอลนำเสนอความคิดกันนะครับ

โดยเบื้องหลังไอเดียจริงๆ ก็มาจากการประชุมของทีมงานทั้งหมดนะครับ ว่าอยากพูดประเด็นว่าด้วยความต่างของ Generation ที่แสดงออกกันบนพื้นที่ทางการเมืองนะครับ

(สำหรับใครที่อยากดูก่อนสามารถข้ามไปดูด้านท้ายของโพสเลยนะครับ ส่วนต่อไปจะเล่าถึงไอเดียและเนื้อหาในรายการครับ)

เราเลยพยายามหาคีย์เวิร์ดเป็นตัวแกนของการเล่าเรื่อง ซึ่งพอใช้ชื่อตอนว่า – ผนงรจตกม นี่ก็เรียกแขกได้มากเลย

ทำให้ยอดคนดูสดของทั้ง facebook และ YouTube สูงกว่าค่าเฉลี่ยพอตัวเลยครับ

ซึ่งจากชื่อตอน #ผนงรจตกม ที่ยาวๆ เราเลยพยายาม ตัดช่วง ให้เป็นกลุ่มข้อความ 3 ช่วง เพื่อให้ทั้งคนเล่าเรื่อง (ทั้ง ดร.สมเกียรติ และ คุณต๊ะ พิภู) และคนดู มีจังหวะช่วงที่พักหายใจ และ Conceptual Idea ได้ง่ายขึ้น

เราเลยแยกเป็นกลุ่มคำ 3 กลุ่ม และเป็น 3 แกนเนื้อหา คือ

#ผนง – “ผู้นำงง” ส่วนนี้ เราพยายามจะพูดถึงปรากฎการณ์ที่บอกว่า ผู้นำงง (จะใช้คำอื่นก็ไม่ว่ากันนะครับ) มีทุกยุคทุกสมัย และทีมเราพยายามสำรวจข้อมูลว่า ระบบการเมืองแบบปิด นี่มีส่วนทำให้ผู้นำงงได้ง่ายมากๆ โดยดูแค่อายุก็ได้นะครับ

ว่า สนช. / สว. ที่เลือกกันเอง ค่าเฉลี่ยอายุสูงมากๆ ส่วน ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งค่าเฉลี่ยอายุต่ำกว่ามาก 

และการยุบพรรคอนาคตใหม่ลงไปนั้น ก็ส่งผลทั้งตัวแทนของคนหนุ่มสาวที่เลือก พร้อมกับการทำให้ค่าเฉลี่ยสูงขึ้นไปอีก

#รจต – รู้จักแตกต่าง ส่วนนี้ พยายามอธิบายถึง ความแตกต่างแบบสองแง่มุม คือ เอาเข้าจริง ทุกคนที่ยังอายุน้อยย่อมต้องมีความเป็นขบถในตัวเอง แต่ขบถแต่ละยุคสมัยก็จะมีความท้าทายที่แตกต่างกัน 

เขียนเป็นสมการเล่นๆ ประมาณนี้นะครับ ถ้า “ความเป็นหนุ่มสาว = ความเป็นขบถ” 
คนรุ่น 60-70 = ความเป็นขบถ + สงครามเย็น
คนรุ่น 90 = ความเป็นขบถ + Globalization
คนรุ่นนี้ = ความเป็นขบถ + Disruption 

ซึ่งนี่คือ ผลผลิตของยุคสมัย เราเลี่ยงไม่ได้

#กม. – คำนี้ ตอนแรกเราคิดว่าจะใช้คำว่า “เกมใหม่” เพื่อที่จะบอกว่า โลกใหม่คนรุ่นก่อนหน้าเข้าใจได้ยากแน่ๆ แต่ท้ายที่สุดสรุป คือคำว่า “กล้ามั้ย” เนื้อหาเป็นอย่างไรลองไปดูกันในคลิปนะครับ

แถมท้ายด้วย ข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้าที่เราเอามาทำเป็นภาพ โดย 3 ภาพนี้ที่พยายามจะเล่าถึงว่า คนแต่ละรุ่นมีความต้องการแตกต่างกัน  ถ้าเป็นคนอายุน้อยก็จะอยากให้เพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา และการประกันการว่างงานมากกว่า  ในทางกลับกัน คนสูงอายุก็ต้องการงบประมาณด้านสุขภาพ และเงินบำนาญที่มากขึ้น 

 ภาพที่สองแสดงว่า คนทุกรุ่นเห็นตรงกันว่า ในประเทศเรา ทหาร/กองทัพ มีอิทธิพลต่อการทำงานของรัฐบาลมากกว่าหน่วยงานอื่นๆ และแม้แต่ประชาชน ซึ่งเมื่อโยงกับภาพที่ 3 คือ เมื่องบประมาณมีจำกัด หากประชาชนต้องการลดงบประมาณลง ควรลดงบประมาณด้านใดเป็นอย่างแรก … คงไม่ต้องเฉลยนะครับ ให้ข้อมูลบอกเองนะครับ 🙂  

 

Clip Promo “บทบาทของกรมราง กับ หลักเกณท์ในการกำหนดราคาและปรับราคาค่าโดยสารของรถไฟในประเทศไทย”

Clip Promo “บทบาทของกรมราง กับ หลักเกณท์ในการกำหนดราคาและปรับราคาค่าโดยสารของรถไฟในประเทศไทย”

ชวนชมคลิปวีดีโอ เรื่อง “บทบาทของกรมราง กับ หลักเกณท์ในการกำหนดราคาและปรับราคาค่าโดยสารของรถไฟในประเทศไทย” ความยาว 3:45 นาที

จะเข้าใจว่าทำไมประเทศไทยต้องมีกรมรางครับ

บทโดย Kokoyadi และ วิภาดา บุญเลิศ
กราฟฟิก โดย ThaninBeer
Animation โดย Cowboy_Punkrock

Drone – โดรน

Drone – โดรน

Infographics “Drone – โดรน” อากาศยานไร้คนขับ 

เผยแพร่ครั้งแรกในงาน TDRI Annual Public Conferance 2018 

เพื่อบอกเล่าถึง ความสวนทางกันระหว่าง การพัฒนาทางเทคโนโลยี และ ทัศนคติของภาครัฐในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลในช่วงเทคโนโลยีปั่นป่วน

โดรนถูกเริ่มพัฒนาโดยกองทัพสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2517 เพื่อใช้ในการสอดแนมและทิ้งระเบิด หลังจากนั้นโดรนจึงถูกพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงและราคาถูกลงเพื่อจำหน่ายเป็นโดรนใช้งานทั่วไป (Consumer drone)

เช่น การเล่นเป็นงานอดิเรก และถูกนำมาประยุกต์ทางการพาณิชย์มากขึ้น เช่น การถ่ายภาพมุมสูงสำรวจพื้นที่ก่อสร้างในธุรกิจการก่อสร้าง หรือประเมินเจริญเติบโตของพืชในธุรกิจเกษตร  การประยุกต์ใช้โดรนกำลังพัฒนาล้ำหน้ามากขึ้นเมื่อภาคธุรกิจในต่างประเทศเริ่มทดลองนำโดรนเข้ามาใช้ในการส่งพัสดุ เช่น บริษัทอีคอมเมิร์ซ Amazon.com Inc. ซึ่งทดลองการให้บริการ Amazon Prime Air ตั้งแต่ปี 2556

การนำโดรน มาใช้ในพื้นที่เปิดในลักษณะนี้สร้างความกังวลให้แก่องค์กรกำกับดูแลของรัฐว่าจะมีการนำไปใช้ละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน เนื่องจากโดรนมักประกอบด้วยกล้องถ่ายภาพและวีดีโอ และสร้างอันตรายต่อชีวิตและความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน เช่น เกิดอุบัติเหตุชนกับอากาศยานอื่น

การกำกับดูแลโดรนของไทยอยู่ภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497[3]  และ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และมีหน่วยงานกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากโดรน 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และ สํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ผู้ใช้โดรนจะต้องขึ้นทะเบียน “ผู้ครอบครองโดรน” และเครื่องโดนกับสำนักงาน กสทช.[4]  และขึ้นทะเบียน “ผู้บังคับโดรน” กับสํานักงานการบินพลเรือนฯ โดรนที่ต้องขึ้นทะเบียนประกอบด้วยโดรนที่ติดกล้องและโดรนที่ไม่ติดกล้องแต่มีน้ำหนักมากกว่า 2 กิโลกรัม ผู้ที่ไม่ดำเนินการขึ้นทะเบียนโดรนอาจได้รับโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การกำกับดูแลการใช้โดรนของประเทศไทยมีทั้งส่วนที่สอดคล้องกับหลักสากลและส่วนที่ยังต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับหลักสากล ส่วนที่สอดคล้องกับหลักสากลมีอยู่ 4 ข้อสำคัญ คือ ต้องบังคับโดรนให้บินในวิสัยการมองเห็น (Visual line of sight) เท่านั้น ห้ามบินกลางคืน ห้ามบินสูงกว่า 90 เมตรจากพื้นดิน และ ห้ามทำการบินละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ส่วนหลักการการกำกับดูแลที่ยังต้องปรับปรุงให้เป็นสากลมี 2 ข้อ ข้อแรกคือการที่ผู้ใช้โดรนจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแล 2 แห่ง ในขณะที่ในต่างประเทศนั้น มีหน่วยงานกำกับดูแลโดรนเพียงแห่งเดียว เช่น Federal Aviation Administration ที่กำกับดูแลการใช้โดรนเพียงแห่งเดียวในสหรัฐอเมริกา และ ข้อสองคือการกำหนดให้รัฐมนตรีเป็นผู้ให้อนุญาตการใช้โดรนเพื่อการพาณิชย์และเพื่องานทางวิชาการ ในขณะที่ในต่างประเทศการอนุญาตการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับโดรนจะจบที่หน่วยงานกำกับดูแล โดยไม่ไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองแต่อย่างใด เพื่อมิให้การอนุญาตถูกการเมืองแทรกแซง

ติดตามเพิ่มเติมได้ใน https://tdri.or.th/2018/04/tdri-annual-public-conference-2018/ 

สมการคอร์รัปชัน: แก้โจทย์บวกลบคูณหารในสังคมไทย

สมการคอร์รัปชัน: แก้โจทย์บวกลบคูณหารในสังคมไทย

 สังคมไทยควรเข้าใจตัวแปรต่างๆในสมการ พยายาม (+) กลไกลความรับผิดชอบ ลบ (-) การผูกขาดและการใช้ดุลยพินิจที่ไม่เหมาะสมออกจากสังคม และจะช่วยให้แก้ปัญหาคอร์รัปชันได้สำเร็จ ขึ้นอยู่กับตัวคูณ (x) ที่สำคัญ คือ ประชาชนต้องรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงผลกระทบจากคอร์รัปชั่นที่ทุกคนในประเทศต้องหาร (÷) เท่าและเสีย หาย เฉลี่ยกันทั้งประเทศ

หนังสือที่นำกรอบแนวคิดสมการคอร์รัปชั่นของ ศาสตราจารย์โรเบิร์ต คลิตการ์ด (Robert Klitgaard) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับคอร์รัปชันอันเป็นที่ยอมรับมากที่สุดคนหนึ่ง สมการคอร์รัปชันชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นจะเพิ่มขึ้นหากระบบเศรษฐกิจมีการผูกขาด และมีการใช้ดุลยพินิจสูง ในทางตรงกันข้าม ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจะลดลงหากสังคมมีกลไกความรับผิดชอบที่ดี

หนังสือเล่มนี้จะนำ 3 ตัวแปร (การผูกขาด การใช้ดุลยพินิจ และกลไกความรับผิดชอบ) มาใช้ทำความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทย พร้อมทั้งชวนหาวิธีแก้โจทย์โดยนักวิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคสังคม และสื่อมวลชน และชวนผู้อ่านคิดต่อในบทปิดท้ายว่าด้วย “การเมืองแบบเปิด” ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเปิดข้อมูลเพื่อความโปร่งใส อันเป็นรากฐานอันสำคัญของการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นที่ยั่งยืน