
Infographics “Drone – โดรน” อากาศยานไร้คนขับ
เผยแพร่ครั้งแรกในงาน TDRI Annual Public Conferance 2018
เพื่อบอกเล่าถึง ความสวนทางกันระหว่าง การพัฒนาทางเทคโนโลยี และ ทัศนคติของภาครัฐในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลในช่วงเทคโนโลยีปั่นป่วน
โดรนถูกเริ่มพัฒนาโดยกองทัพสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2517 เพื่อใช้ในการสอดแนมและทิ้งระเบิด หลังจากนั้นโดรนจึงถูกพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงและราคาถูกลงเพื่อจำหน่ายเป็นโดรนใช้งานทั่วไป (Consumer drone)
เช่น การเล่นเป็นงานอดิเรก และถูกนำมาประยุกต์ทางการพาณิชย์มากขึ้น เช่น การถ่ายภาพมุมสูงสำรวจพื้นที่ก่อสร้างในธุรกิจการก่อสร้าง หรือประเมินเจริญเติบโตของพืชในธุรกิจเกษตร การประยุกต์ใช้โดรนกำลังพัฒนาล้ำหน้ามากขึ้นเมื่อภาคธุรกิจในต่างประเทศเริ่มทดลองนำโดรนเข้ามาใช้ในการส่งพัสดุ เช่น บริษัทอีคอมเมิร์ซ Amazon.com Inc. ซึ่งทดลองการให้บริการ Amazon Prime Air ตั้งแต่ปี 2556
การนำโดรน มาใช้ในพื้นที่เปิดในลักษณะนี้สร้างความกังวลให้แก่องค์กรกำกับดูแลของรัฐว่าจะมีการนำไปใช้ละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน เนื่องจากโดรนมักประกอบด้วยกล้องถ่ายภาพและวีดีโอ และสร้างอันตรายต่อชีวิตและความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน เช่น เกิดอุบัติเหตุชนกับอากาศยานอื่น
การกำกับดูแลโดรนของไทยอยู่ภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497[3] และ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และมีหน่วยงานกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากโดรน 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และ สํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ผู้ใช้โดรนจะต้องขึ้นทะเบียน “ผู้ครอบครองโดรน” และเครื่องโดนกับสำนักงาน กสทช.[4] และขึ้นทะเบียน “ผู้บังคับโดรน” กับสํานักงานการบินพลเรือนฯ โดรนที่ต้องขึ้นทะเบียนประกอบด้วยโดรนที่ติดกล้องและโดรนที่ไม่ติดกล้องแต่มีน้ำหนักมากกว่า 2 กิโลกรัม ผู้ที่ไม่ดำเนินการขึ้นทะเบียนโดรนอาจได้รับโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การกำกับดูแลการใช้โดรนของประเทศไทยมีทั้งส่วนที่สอดคล้องกับหลักสากลและส่วนที่ยังต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับหลักสากล ส่วนที่สอดคล้องกับหลักสากลมีอยู่ 4 ข้อสำคัญ คือ ต้องบังคับโดรนให้บินในวิสัยการมองเห็น (Visual line of sight) เท่านั้น ห้ามบินกลางคืน ห้ามบินสูงกว่า 90 เมตรจากพื้นดิน และ ห้ามทำการบินละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ส่วนหลักการการกำกับดูแลที่ยังต้องปรับปรุงให้เป็นสากลมี 2 ข้อ ข้อแรกคือการที่ผู้ใช้โดรนจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแล 2 แห่ง ในขณะที่ในต่างประเทศนั้น มีหน่วยงานกำกับดูแลโดรนเพียงแห่งเดียว เช่น Federal Aviation Administration ที่กำกับดูแลการใช้โดรนเพียงแห่งเดียวในสหรัฐอเมริกา และ ข้อสองคือการกำหนดให้รัฐมนตรีเป็นผู้ให้อนุญาตการใช้โดรนเพื่อการพาณิชย์และเพื่องานทางวิชาการ ในขณะที่ในต่างประเทศการอนุญาตการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับโดรนจะจบที่หน่วยงานกำกับดูแล โดยไม่ไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองแต่อย่างใด เพื่อมิให้การอนุญาตถูกการเมืองแทรกแซง
ติดตามเพิ่มเติมได้ใน https://tdri.or.th/2018/04/tdri-annual-public-conference-2018/
0 Comments