ก้าวเฉพาะหน้า… เพื่อน้อง

kokoyadi
2022-04-27

เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา กสศ. ชวนผมไปร่วมพิจารณาทุน “ก้าวเพื่อน้อง” ของพี่ตูน ซึ่งก็เป็นปีที่สองที่ได้รับคำชวนให้ไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน และพอเป็นปีที่ 2 เลยจับความรู้สึกและความต่างที่พอสังเกตอะไรบางอย่างได้ เลยอยากแชร์ให้ฟังกัน 

“ทุนก้าวเพื่อน้อง” จะให้กับนักเรียนที่กำลังจะจบ ม. 3 เพื่อให้ได้เรียนต่อ ม.ปลาย/วิชาชีพ แบบที่มีค่าใช้จ่ายรายเดือนให้พร้อมกับค่าเล่าเรียนตลอด 3 ปี เป็นเงิน 264,000 บาท ในขณะที่ทุนอื่นอาจได้เป็นรายปีหรือเป็นรายครั้ง และอันที่จริง ทุนระดับ ม.ปลาย/วิชาชีพในบ้านเรามีจำกัดมากกว่าระดับอื่นๆ เพราะอยู่นอกเหลือการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ในมุมของรัฐจึงคิดว่า การศึกษาในระดับในนี้เป็นการลงทุน อยากเรียนต่อต้องกู้เอาจาก กยศ. 

ปีนี้ที่ต่างจากปีที่แล้วแบบชัดมากๆ คือ ปีนี้ จำนวนทุนที่พร้อมให้นักเรียนเพียง 40 คนเท่านั้น เทียบกับปีที่แล้วที่ระดุมทุนได้กว่า 27 ล้านบาท และมอบทุนให้นักเรียนได้ถึง 109 คน เห็นได้ชัดว่าปีนี้โครงการนี้ได้เงินบริจาคและทำกิจกรรมขายของน้อยกว่าปีที่แล้วอย่างมาก แอบเดาว่าคงเป็นกระทบจากโควิดที่ลากยาวด้วยส่วนหนึ่ง และปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลจากกระแสการวิพากษ์วิจารณ์โครงการ “ก้าวคนละก้าว” ที่ทำให้กิจกรรมต่างๆ ทำไม่ได้ตามเป้า และอาจมีอุปสรรคในแง่ของการสื่อสารโครงการรวมอยู่ด้วย 

พอเห็นข้อมูลแบบนี้ ก็มีคำถามคาใจอยู่บ้างเช่นกัน แม้ว่าโดยส่วนตัวจะไม่ค่อยเชื่อเรื่องการทำบุญเท่าไหร่ (เคยเขียนถึงเรื่องทำบุญว่า มันสร้างปัญหายังไงไว้ 2 ปีที่แล้ว https://www.kokoyadi.com/philanthropy/) แต่เหตุการณ์นี้ ผมรู้สึกว่าเป็นโจทย์ยากพิลึกเลยนะครับ ว่า ถ้าคำวิจารณ์ทำให้คนทำบุญน้อยลง  เพราะคาดหวังให้มีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าการทำบุญที่คิดว่าเป็นแค่เรื่อง “ฉาบฉวย” พร้อมไปกับการคาดหวังให้พี่ตูนเรียกร้องนโยบายการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึงจากรัฐ หรือ ความสมเหตุสมผลของการใช้งบประมาณ แบบเลิกซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำก็เลี้ยงเด็กยากจนได้ทั่วประเทศแล้ว 

แต่การจะแก้ไขปัญหาเชิงระบบแบบนี้ ที่มีทั้งเรื่องกฎระเบียบ ขั้นตอน รวมถึงความเป็นไปได้ทางการเมืองต่างๆ จึงย่อมจะแก้โจทย์ไม่ได้ภายในชั่วข้ามคืน  ทำให้รู้สึกว่าการบริจาคในกรณีนี้ ยังรู้สึกว่าจำเป็นในการจัดการปัญหาที่เฉพาะหน้ามากๆ 

เพราะว่าการให้ความช่วยเหลือปัญหาการเข้าถึงการศึกษาแบบที่ช่วยแบบที่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายด้วย เป็นหลักประกันที่สำคัญสำหรับน้องๆ ที่คาดว่าคงไม่ได้เรียนต่อแน่ๆ จากลักษณะร่วมที่น้องๆ รุ่นม. 3 ที่อายุประมาณ 14-15 หลายร้อยคนในประเทศนี้เจอ คือ เรียนดี (ซึ่งสำหรับผม 3 ขึ้นไปนับว่าเรียนได้แล้วนะครับ) ทำกิจกรรมบ้าง แต่สภาพครอบครัวรายได้น้อย มีพ่อแม่อายุในช่วง 35-45 บ้าง พ่อแม่หย่าร้างบ้าง อยู่กับยายบ้าง หรือกรณีที่รุนแรงมากคือพวก domestic violence ในรูปแบบต่างๆ 

ดังนั้น การให้ทุนสำหรับน้องๆ กลุ่มนี้ จึงเป็น “การตัดตอนปัญหาความยากจนข้ามชั่วคน” ที่สำคัญมากๆ ที่เว้นการช่วยเหลือไปหรือช่วยคนได้น้อยลง ก็จะมีน้องๆ ที่โตในตลาดแรงงานราคาไม่สูง และจะแก้ปัญหาความยากจนสำหรับเขาก็ย่อมยิ่งจะยากขึ้นไป และอาจจะต้องไปแก้ในอีกรุ่นของลูกของพวกเขาก็ตาม 

นอกจากนี้ ในกระบวนการคัดเลือกโครงการนี้ มีคำถามที่ทำให้เรารู้จักเด็กแบบที่น่าสนใจดี คือ นักเรียนจะต้องเขียนตอบคำถามว่า

“ถ้าหากขอพรวิเศษได้ 3 ข้อ ผู้ขอรับทุนจะขออะไร เพราะอะไร จึงขอสิ่งนั้น”

ความรู้สึกแรกเพราะอ่านงานของเด็กๆ ไปสักพัก แล้วรู้สึกว่าพรวิเศษของเด็กๆ ปีนี้ต่างจากรุ่นที่ผ่านมา คือ เด็กๆ รุ่นที่แล้วจะมีพร ที่อยากได้ ไปไกลกว่าแค่ ครอบครัวหรือตัวเอง คือ ขอให้ชุมชนที่เค้าอยู่ดีขึ้น มีหลายเรื่องที่เป็นประเด็นทางสังคม ที่อ่านแล้วรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องรอบตัวของชุมชน/หมู่บ้านของเขา เช่น ความเจริญ ปัญหายาเสพติด ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเผาป่า การจัดการขยะ การทำมาหากินของผู้ใหญ่ ฯลฯ หรือแม้การจินตนาการพรของเขาที่เชื่อมโยงถึงอาชีพในอนาคตของเขาได้

แต่กับเด็กรุ่นนี้ เท่าที่ผมอ่าน ส่วนใหญ่เค้าจินตนาการถึงเรื่องเหล่านั้นไม่ค่อยออก และต้องไม่ลืมว่าเด็กรุ่นนี้ คือ นักเรียนที่เผชิญกับสถานการณ์โควิด 2 ปี และเป็น 2 ปีที่ต้องเรียนออนไลน์ และได้โอกาสเรียนรู้น้อยกว่าภาวะปกติ  และในฐานะที่เคยเป็นครูมาก่อน เรารู้สึกว่าความสามารถทางภาษาต่างไปอย่างเห็นได้ชัด ส่วนใหญ่เป็นประโยคความเดียว เป็นภาษาที่ไม่มีความซับซ้อน ไม่มีประโยคที่ร้อยเรียงคำและความหมายแบบเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อเทียบปีที่แล้ว และเรื่องราวที่เล่ามาก็ไม่ได้ไกลกว่าเรื่องตัวเองและครอบครัว ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่จะตำหนิอะไรกัน แต่อยากสะท้อนว่าภาวะโควิดทำร้ายการเรียนรู้และโอกาสในการใช้ชีวิตของเด็กที่จะเรียนรู้และอยู่กับสังคมที่มีเรื่องราวมากมาย

เล่ามาซะยึดยาวเนี่ย เพราะนอนไม่หลับและคิดว่าทำไมเรื่องนี้โจทย์มันซับซ้อนจัง และก็อยากจะบอกว่า เรายังเชียร์ให้มีโครงการ ”ก้าวเพื่อน้อง” นี้ต่อไป และถ้าจะคาดหวังให้โครงการนี้เลิกไป จริงๆ ก็เพราะเหตุผลว่าสังคมไทยพร้อมจะโอบอุ้มผู้คนผ่านนโยบายที่ inclusive และ effective มากกว่าการที่จะเลิกโครงการคำวิพากษ์วิจารณ์ครับ

0 Comments

Share This

Share This

Share this post with your friends!