จากปีศาจสู่เชื้อโรค: ประวัติศาสตร์การแพทย์กับโรคระบาดในสังคมไทย

kokoyadi
2022-04-14

ชาติชาย มุกสง เขียน | สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์

เป็นหนังสือที่ไล่เรียงประวัติศาสตร์ของโรคระบาดระดับโลก สู่แนวคิดเรื่องเชื้อโรคและโรคระบาดของไทยที่สัมพันธ์กับเรื่องสังคมการเมือง

ขอเล่าส่วนของไทยก็พอนะครับ 

ในประวัติศาสตร์ โรคระบาดสำคัญที่ทำลายชีวิตคนที่สังคมไทยก่อนสมัยใหม่ มีอยู่ 3 โรคใหม่ คือ กาฬโรค อหิวาตกโรค และไข้ทรพิษ 

และฟังจากบันทึกของหมอบลัดเลย์ ก็จะเล่าว่าโรคฝีดาษระบาด เกิดขึ้นทุกๆ ปีในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์  ส่วนหมอมัลคอล์ม สมิธ ก็บันทึกว่าโรคอหิวาตกโรค เป็นโรคระบาดของสยามทุกปีในหน้าแล้งระหว่างเดือนเมษาถึงกรกฎาคม ส่วนเดือนที่เหลือก็ให้โรคมาลาเรียซึ่งก็มาจากยุงชุม สรุปว่าโรคระบาดเป็นตลอดนะครับ และนี่มีผลต่อเรื่องประชากรของสยามที่ผ่านมา ทำให้สะสมกำลังคนในทางทหาร การปลูกอะไรไม่ค่อยได้ จำนวนคนถึงไม่ได้เยอะมาก 

และเมื่อเกิดโรคระบาด รัฐไทยแบบจารีตมักจะใช้พิธีกรรมทางศาสนาอย่างพระราชพิธีอาพาธพินาศและการสวดอาฏานาฏิยสูตรเพื่อสร้างขวัญ และกำลังใจให้ผู้คน หรือถ้าทำไม่สำเร็จก็จะย้ายคนออกจากพื้นที่ระบาด และหนักที่สุดคือย้ายเมือง อย่างที่พระเจ้าอู่ทองย้ายมาตั้งเมืองอยุธยาก็ด้วยสาเหตุเดียวกันนี้ 

เดิมสังคมไทยไม่มีความรู้เรื่องโรค เมื่อเกิดโรคระบาดเลยมักเรียกรวมรวมว่าเป็นโรคห่าห่าจึงไม่ได้หมายถึงโรคใดโรคหนึ่งเป็นการเฉพาะ  อย่างในช่วงอยุธยาโรคห่าจึงน่าจะหมายถึง โรคไข้ทรพิษ กาฬโรคและมาเลเรีย ส่วนต้นรัตนโกสินทร์โรคห่า จะหมายถึง โรคอหิวาตกโรค แต่เอาเข้าจริงอาจแบ่งชัดๆ แบบนี้ไม่ได้เท่าไหร่เพราะขึ้นอยู่กับการบันทึก ของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสยาม ซึ่งส่วนใหญ่ก็บันทึกตามปรากฎตการปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการพบเห็นบอกเล่า และสังคมยังไม่มีความรู้เรื่องเชื้อโรคมากพอในการอธิบาย 

จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการยกเลิกพิธีกรรมอย่างพระราชพิธีอาพาธพินาศ เพราะแก้ปัญหาเรื่องการระบาดของอหิวาตกโรคไม่สำเร็จ  ซึ่งในช่วงเวลานั้น หมอบลัดเลย์ มิชชั่นนารีชาวอเมริกาเริ่มนำความรู้ด้านการแพทย์ยารักษาโรคมารักษาผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค ซึ่งก็ได้ผลดี 

ในจดหมายเหตุเล่าให้ฟังว่า หมอบลัดเลย์แนะนำรัฐบาลให้จัดแจงกรุงเทพฯให้ปราศจากสิ่งโสโครก ให้บ้านเมืองสะอาดจะช่วยป้องกันโรคนห่าลงได้ ต้องประกาศให้ราษฎรเจ้าของบ้านทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาดเหมือนกับที่พวกเขาชอบอาบน้ำให้สะอาด เขาว่าเมืองไทยไม่ค่อยสนใจความสะอาดบ้านเรือนโดยเฉพาะพวกใต้ถุนบ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ และแนะนำให้ออกเป็นกฎหมายรักษาความสะอาดเหมือนที่มีในตะวันตก

คำอธิบายของโรคระบาดที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม และความสะอาดของบ้านเมือง กลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่รัฐต้องเข้ามาจัดการ จากที่ไม่เคยอยู่ในบทบาทของรัฐ ดังนั้น ในทางประวัติศาสตร์กรมสุขาภิบาลจึงถือกำเนิดขึ้นก่อน และอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย  ต่อมาถึงจะมีกรมสาธารณสุขที่เป็นส่วนหนึ่งของกรมสุขาภิบาลอีกที 

ด้วยความเข้าใจที่เปลี่ยนไป ทำให้ภาระกิจของรัฐในการจัดการโรคระบาด จึงต้องเริ่มเข้ามาจัดการสุขาภิบาล การพัฒนาเมือง การกำจัดของเสียน้ำเสีย สิ่งปฏิกูลต่างๆ การสร้างถนน การระบายน้ำ และการสิ่งแวดล้อมให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อต่อสู้และแก้ไขปัญหาเรื่องโรคระบาด  

ด้านการจัดการโรค เริ่มมีการตั้งสถาบันทางการแพทย์เข้ามาดูแลสุขภาพของประชาชน ช่วงนั้นจึงเกิดโรงศิริราชพยาบาลเพื่อรักษาคนไข้ ซึ่งก่อนหน้านั้นจริงๆ แล้วมีโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้นหลายแห่งแล้วโดยบทบาทของมิชชันนารีชาวต่างชาติและไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกรุงเทพเท่านั้น ยังมีอีกหลายที่ในภูมิภาค   

ในประวัติศาสตร์ สังคมไทยรู้จักอาการป่วยไข้ต่างๆ ที่เกิดจากโรคระบาดส่วนใหญ่มาจากบันทึกที่เกิดจากพระสงฆ์พระผู้ใหญ่ ซึ่งในบันทึกจะมีการบันทึกอาการอย่างละเอียด รวมถึงวิธีการรักษา และจะบันทึกอาการจนถึงมรณภาพ ซึ่งโดยปกติการรักษาพระผู้ใหญ่จะเน้นการแพทย์แผนไทยมากกว่า การใช้ยารักษาโรคจากตะวันตกที่ในขณะนั้นเริ่มมีเข้ามาในสังคมแล้วก็ตาม 

และเมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่หก สังคมเริ่มมีความรู้แยกแยะโรคแต่ละชนิดได้ว่าคือ อะไร เกิดความชัดเจนในการเรียกชื่อโรค คำว่าห่าลงก็สิ้นสุดไปด้วย

ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กรมสาธารณสุขและกรมสุขาภิบาลอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย การแพทย์สมัยใหม่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่กับชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองมากกว่าการเผยแพร่สู่ราษฎรอย่างกว้างขวาง  แต่หลัง 2475 เป็นครั้งแรกที่อธิบดีกรมสาธารณสุขเป็นแพทย์ คือพระยาบริรักษ์เวชการภายใต้การบริหารของรัฐบาลคณะราษฎรที่มี ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ทำให้เกิดนโยบายขยายการจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชน มีโครงการสร้างโรงพยาบาลและสุขศาลาในส่วนภูมิภาคให้ครบทุกจังหวัด

ต่อมาในสมัยของ จอมพลปอ พิบูลสงคราม เริ่มมีเป้าหมายการสร้างชาติที่มั่นคง จำนวนประชากรและสุขอนามัยเป็นสิ่งสำคัญ จึงมีการ ยกระดับกรมสาธารณสุขให้เป็นกระทรวงสาธารณสุขแม้ว่าในขณะนั้นฝ่ายตรงข้ามจะคัดค้านนโยบายนี้ ว่ายังไม่พร้อมและอ้างเรื่องการขาดงบประมาณก็ตาม (ซึ่งถ้าใครอ่านขุนศึก ศักดินา พญาอินทรีย์ คงพอเดาออกนะครับว่า ฝ่ายตรงข้ามคือใคร) 

ใครว่าเรื่องสาธารณสุขต้องไม่ใช่เรื่องการเมืองน้าาา

0 Comments

Share This

Share This

Share this post with your friends!