จริงๆ การทำบุญ ก็นับเป็นเรื่องที่ดีนะครับ เพราะถ้าดูรากศัพท์ภาษาฝรั่งของคำว่า Philanthropy (การทำบุญ) มีรากศัพท์จากจากลาติน ของคำสองคำ คือ คำว่า “philos – ความรัก” กับ “Anthro – ชีวิตมนุษย์ (ความเป็นมนุษย์)” ซึ่งความหมายก็ คือ เพราะรักในความเป็นมนุษย์ หรือ การช่วยเหลือต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งแน่นอนนัยยะของมันเป็นเรื่อง ‘ของปัจจุบัน’ ไม่เกี่ยวอะไรกับ ‘โลกหน้า’ เหมือนการทำบุญแบบที่จะหวังผลอนาคตนะครับ
ไอเดียที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ก็มาจากการดูทอล์กโชว์ “Patriot Act” ของ Hasan Minhaj ใน Netflix ซึ่งจำได้ว่าดูไว้นานแล้ว แต่เหมาะกับสถานการณ์ตอนนี้ เลยอยากเก็บประเด็นมา แล้วแอบบวกๆ สิ่งที่อยากพูดบ้างมาเล่าให้ฟังครับ
ในตอน “Why Billionaires Won’t Save Us” (ลิงค์อยู่ด้านล่างสุดนะครับ) Hasan Minhaj พยายามอธิบาย ปัญหาของการบริจาคเงินของเหล่ามหาเศรษฐีไว้หลายอย่างเลย สรุปเป็นข้อๆ เลยแล้วกัน
(1) การบริจาคเงินกลายเป็นสิ่งที่ให้ความชอบธรรมกับวิธีที่เขาเหล่านั้นหาเงิน ไม่ว่าจะถูกหรือไม่ถูกก็ตาม
และมันจะทำให้เราไม่ตั้งคำถามถึงการได้มาของความมั่งคั่งเหล่านั้น ซึ่งปัญหาของการไม่ตั้งคำถาม หลายครั้งจะไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เราเสียไป
(2) การบริจาคเงินโดยเหล่ามหาเศรษฐีนี้ สร้าง smock screen ที่บังตาเรา จนทำให้ผู้คนในสังคมหลงเชื่อในความดีของเขา และกลบเกลื่อนความผิดบางอย่างของเขา จะมองไม่เห็นความไม่เป็นธรรมหลายอย่างที่เกิดขึ้น เช่น การผูกขาด การใช้อำนาจเหนือตลาดเอาเปรียบผู้บริโภค ความร่ำรวยจากการสร้างสินค้าที่ไม่ก่อประโยชน์จากสังคม ฯลฯ
(3) เรามักหลงเชื่อว่า เหล่ามหาเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จนั้น เป็นยอดมนุษย์ คิดถูก ทำถูก ฉลาดกว่าคนทั่วไป และจะยอมเชื่อว่าการเข้ามามีบทบาทในประเด็นสาธารณะเหล่านั้นจะต้องถูกต้อง และคาดหวังความสำเร็จได้ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจไม่ใช่เสมอไป เพราะความสำเร็จทางธุรกิจเป็นเรื่องเฉพาะแม้ว่า เขาจะทำรายได้มากมายก็จริง แต่หากลงไปดูในรายละเอียดทั้งนั้น มันมีทั้งดีและแป้กผสมปนเปกันอยู่เสมอ
ในส่วนนี้ เขายกตัวอย่างของ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์กที่แม้จะประสบความสำเร็จในเฟสบุค แต่พอมาทำเรื่องการศึกษาจริงๆ ก็แป้กและเอาเข้าจริงที่ว่าเอาเงินมาทำบุญลงกับการศึกษาเยอะ สัดส่วนของเงินที่ลงถึงตัวเด็กนักเรียน อุปกรณ์การเรียนก็ไม่ได้มากอย่างที่คุย แต่ไปลงกับเรื่องบริหารจัดการอื่นๆ มากกว่าซึ่งก็คาดหวังเรื่องการลดภาษี
(4) ในมุมของมหาเศรษฐี บ่อยครั้งมักใช้ช่องทางกม. เพื่อจ่ายภาษีนั้นน้อยลง เค้ายกตัวอย่าง การบริจาคเงินของบริษัทที่ทำ GoPro นั้น ช่วงที่โคตรรวยก็ตั้งมูลนิธิแล้วบริจาคเงินเพื่อลดการจ่ายภาษี พอตอนรายได้ไม่มากก็ลดเงินบริจาคลง เพราะไม่จำเป็นต้องให้เยอะ
(5) ในฉากหน้าของการบริจาคเงิน หรือ จะให้ภาพว่าเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล หรือ ทำงานร่วมกันก็ตาม พวกเราในฐานะประชาชนย่อมเห็นภาพที่สวยงามอยู่แล้ว แต่ฉากหลังก็การเจรจาต่อรองกันแบบที่สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารไม่ง่ายและไม่ได้นี้ น่ากลัวนะครับว่า มีโอกาสที่ภาคธุรกิจหรือเอกชนขนาดใหญ่ ที่ยอมร่วมงาน ร่วมบุญ จะได้โอกาส / ประโยชน์ จากผู้กำหนดนโยบาย หรือสามารถกำหนดทิศทางของนโยบายภาครัฐ ที่ให้ทำเพื่อประโยชน์ให้ตัวเองได้ในอนาคต มากกว่าคนที่ไม่ร่วมในงานบุญแบบนี้
พูดง่ายๆ ใครร่วมด้วย ก็เจรจาอะไรย่อมง่ายกว่าคนอื่นๆ ที่เป็นรายเล็กรายน้อย หรือ แม้ว่าการเห็นหัวประชาชนด้วยก็ตาม
ดังนั้น ประชาชนควรจับตาให้ดีว่า การทำบุญที่รัฐจะเสนอนั้น รัฐจะเอาประโยชน์อะไรเข้าแลกหรือไม่ หรือจะทำให้เหล่ามหาเศรษฐีจ่ายภาษีน้อยลงหรือไม่
ข้อเสนอที่ดีที่สุดและเป็นหัวใจใหญ่ของเรื่องนี้ ผมว่าอยากให้มอง 2 เรื่องนะครับ
โจทย์ใหญ่และยาว คือ ต้องจัดการมาตรการ “ภาษีต่างๆ ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ตั้งแต่ภาษีทรัพย์สิน ภาษีจาก capital gain tax ต่างๆ ฯลฯ
เพราะตัวระบบภาษีหลักคิดใหญ่ๆ คือ แบ่งสรรปันส่วนรายได้ของผู้คนในสังคมมาใช้ในกิจกรรมสาธารณะ และเพื่อ “ช่วยเหลือต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน” ก็คือ ย่อหน้าแรกของบทความนี้นั่นแหละครับ
โจทย์เฉพาะหน้าตอนนี้ในการต่อสู้กับ Covid-19 ที่ต้องการความร่วมมือ ความคิดเห็นต่างๆ ช่องทางปกติทางการเมืองก็มีอยู่แล้วนะครับ คือ ให้สภาต้องคิดและทำหน้าที่ของตัวเอง
พูดก็พูดนะครับ ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน (มีทั้งสองฝ่ายจริงๆ) ต่างพยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการลงพื้นที่ ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อน เพราะถ้าไม่ลงพื้นที่คราวหน้าก็ไม่หวังจะมาเดินหาเสียง
ประเด็น คือ ตัวแทนประชาชนเค้ารู้ดีครับว่าต้องทำอะไร แต่บ้านเรามีคนอีกหลายส่วนที่ทำหน้าที่สาธารณะแต่ไม่ได้มาจากประชาชน ความรับผิดชอบต่อผู้คนเลยไม่มีมากพอจะให้เค้าเหล่านั้น ต้องลงพื้นที่และรับรู้ปัญหาจริงของคน
การเอาพี่เอาน้องเอาเพื่อนเอาฝูงที่ลอยจากฟ้าสวรรค์ มานั่งหลอกกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน นี่แหละครับ คือ การทำภาษีที่ควรจะใช้ประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์เป็นเรื่องเสียเปล่าครับ
0 Comments