เวลาคนพูดถึง “ประชานิยม” มักจะพูดถึงแต่มุมของ Populist Economics ที่จะพาให้คิดและยกตัวอย่าง ลาตินอเมริกา ที่สร้างภาระใช้งบประมาณมากๆ จนทำประเทศเสียหาย
แต่สิ่งที่คนไม่พูดถึงกันเท่าไหร่ คือ ประชานิยมที่ healthy และมันมีประโยชน์ต่อกระบวนการประชาธิปไตย เพราะประชานิยมที่สร้างขึ้นนโยบายตอบสนองผู้คนภายใต้ระบบการเมืองเปิด ช่วยให้รู้ว่าผู้นำทางการเมืองฟังเสียงคน ยอมให้การมีปากมีเสียงคงอยู่ในระบบการเมืองและสร้างความเปลี่ยนแปลง
ตลาดที่แข่งขันนโยบายสวัสดิการต่างๆ เป็นตัวตอบสนองความเข้าใจของกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม ซึ่งโจทย์ใหญ่ของกระบวนการประชานิยมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม คือ การทำอย่างไรให้แนวคิดต่างๆ ทางนโยบายเกาะยึดอยู่กับพรรคการเมือง สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง สถาบันมากกว่าตัวบุคคล
การแข่งขันประชานิยมแบบนี้ มันน่ากลัวหรือไม่ส่วนใหญ่มันยึดโยงกับหลักของเหตุและผลในสังคม ถ้าสังคมที่เปิด ยอมให้ข้อมูลข่าวสารไหลเวียน อย่างที่มันควรจะเป็น สื่อทำหน้าที่บนฐานของความเป็นมืออาชีพ ประชานิยมแบบนี้ สำหรับผมไม่น่ากลัวเท่าไหร่ เพราะสังคมจะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ของที่มีอยู่มันจะดีขึ้นได้อย่างไร
แต่ประชานิยมในมุมที่น่ากลัว คือ ประชานิยมที่เล่นกับอารมณ์ ความรู้สึก มากกว่าหลักการ เหตุผล
เพราะหากย้อนไปดู เจ้าพ่อของประชานิยม ทั่วโลก ล้วนแล้วแต่อยู่สร้างขึ้นภายใต้ บารมีของตัวบุคคลที่ยึดโยงกับ “ความรัก โลภ โกรธ หลง” ทั้งสิ้น หรือพูดอีกทางหนึ่งก็ได้ว่า ตัวประชานิยมเอง บิ้วมาจากฐานอารมณ์ความรู้สึกของคน
ในหนังสือ ประชานิยม Very Short introduction ก็พูดถึง เจ้าพ่อประชานิยมใน อิตาลี ฝรั่งเศส โรมาเนีย สเปน ฯลฯ ก็ล้วนพยายามกุมหัวใจคน แรงปรารถนาจากการเชียร์กีฬา ด้วยการเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล ของไทย ชื่อของทักษิณตอนซื้อแมนซิตี้ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของหนังสือเล่มนี้
โจทย์ของประชานิยม จึงเป็นเรื่องของการเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนจำนวนมาก หลายครั้งผู้นำที่คนให้ความสนใจจึงต้องพยายามยึดโยงกับ วาทกรรมด้านศีลธรรม ความดี ความเลว ทำให้ประเด็นที่เล้าอารมณ์อย่าง อย่าง การประหารชีวิต ศีลธรรมเรื่องเพศ ผู้อพยพ วัฒนธรรม (ความรัก การยิ้มก็ด้วย) หรือแม้แต่ความรักชาติ ก็มักเป็นประเด็นถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือ สร้างความรัก ความเกียจชัง ตัวอย่างจาก ทรัมป์ ก็น่าจะพอช่วยให้เห็นภาพนะครับ
ค่ำคืนสุดท้ายของการขึ้นเวทีใหญ่ก่อนการเลือกตั้งนี้ ความสงบ ความรักชาติ อ้างการสละชีวิตที่คิดว่าเป็นหมัดเด็ดสำคัญของลุง อาจทำให้คนจำนวนนึงอยากเลือก แต่อยากให้ลองคิดดีๆ ว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเราเอาความสงบแลกกับอะไรบ้าง
คนจำนวนหนึ่งเอาความปกติสุขของเขาไปแลก
ความสงบสุขที่เราเห็นมาจากการทำลายความปกติของการทำงานด้านสื่อสารมวลชน ความปกติของกระบวนการตรวจสอบในทั้งรัฐสภา องค์กรอิสระต่างๆ ที่เค้าพยายามแปลงร่างให้กลายเป็นผู้เล่นทางการเมืองด้วยการเลือกกันเอง
จนคนรุ่นใหม่ที่ผมได้สัมผัสหลายคนไม่เชื่อว่าประเทศเราจะดีกว่านี้ได้
ด้วยเพราะคิดว่า การเมืองเป็นเรื่องสกปรก ไม่อยากยุ่ง ไม่อยากเห็น ต้องปล่อยให้คนดี ผูใหญ่ในบ้านในเมืองที่หวงว่า ความรักชาติ เป็นของเขาคนเดียว พอมีใครอยากชี้ชวนถึงอนาคตที่เขาอยากเป็น อยากเห็น ก็ทำลายเขาด้วยวิธีเก่าๆ ที่เคยเป็น
ประชานิยมที่เราควรเห็น คือ ประชานิยมที่คิดถึงความเป็นได้ในอนาคต ด้วยดีเบตที่แหลมคมขึ้นเรื่อยๆ ประชานิยมจากความเกลียดชัง ความหวาดกลัวไม่ควรมีพื้นที่สำหรับการเมืองไทย
พรุ่งนี้ เลือกใคร ต้องไม่เลือกแค่ความกลัว หรือ ความเกลียดนะครับ
ไปให้สุดต้องหยุดลุง
0 Comments