
เบื้องหลัง Daily in Depth #ผนงรจตกม
อยากชวนทุกคนลองชมรายการ the standard daily x tdri
ประจำเดือน มีนาคม นี้นะครับ เราตั้งชื่อตอนว่า ผนงรจตกม.
ซึ่งจริงๆ ก็เป็นปรากฎการณ์ใน social media ที่น้องๆ ที่จัดกิจกรรมงานบอลนำเสนอความคิดกันนะครับ
โดยเบื้องหลังไอเดียจริงๆ ก็มาจากการประชุมของทีมงานทั้งหมดนะครับ ว่าอยากพูดประเด็นว่าด้วยความต่างของ Generation ที่แสดงออกกันบนพื้นที่ทางการเมืองนะครับ
(สำหรับใครที่อยากดูก่อนสามารถข้ามไปดูด้านท้ายของโพสเลยนะครับ ส่วนต่อไปจะเล่าถึงไอเดียและเนื้อหาในรายการครับ)
เราเลยพยายามหาคีย์เวิร์ดเป็นตัวแกนของการเล่าเรื่อง ซึ่งพอใช้ชื่อตอนว่า – ผนงรจตกม นี่ก็เรียกแขกได้มากเลย
ทำให้ยอดคนดูสดของทั้ง facebook และ YouTube สูงกว่าค่าเฉลี่ยพอตัวเลยครับ
ซึ่งจากชื่อตอน #ผนงรจตกม ที่ยาวๆ เราเลยพยายาม ตัดช่วง ให้เป็นกลุ่มข้อความ 3 ช่วง เพื่อให้ทั้งคนเล่าเรื่อง (ทั้ง ดร.สมเกียรติ และ คุณต๊ะ พิภู) และคนดู มีจังหวะช่วงที่พักหายใจ และ Conceptual Idea ได้ง่ายขึ้น
เราเลยแยกเป็นกลุ่มคำ 3 กลุ่ม และเป็น 3 แกนเนื้อหา คือ
#ผนง – “ผู้นำงง” ส่วนนี้ เราพยายามจะพูดถึงปรากฎการณ์ที่บอกว่า ผู้นำงง (จะใช้คำอื่นก็ไม่ว่ากันนะครับ) มีทุกยุคทุกสมัย และทีมเราพยายามสำรวจข้อมูลว่า ระบบการเมืองแบบปิด นี่มีส่วนทำให้ผู้นำงงได้ง่ายมากๆ โดยดูแค่อายุก็ได้นะครับ
ว่า สนช. / สว. ที่เลือกกันเอง ค่าเฉลี่ยอายุสูงมากๆ ส่วน ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งค่าเฉลี่ยอายุต่ำกว่ามาก
และการยุบพรรคอนาคตใหม่ลงไปนั้น ก็ส่งผลทั้งตัวแทนของคนหนุ่มสาวที่เลือก พร้อมกับการทำให้ค่าเฉลี่ยสูงขึ้นไปอีก
#รจต – รู้จักแตกต่าง ส่วนนี้ พยายามอธิบายถึง ความแตกต่างแบบสองแง่มุม คือ เอาเข้าจริง ทุกคนที่ยังอายุน้อยย่อมต้องมีความเป็นขบถในตัวเอง แต่ขบถแต่ละยุคสมัยก็จะมีความท้าทายที่แตกต่างกัน
เขียนเป็นสมการเล่นๆ ประมาณนี้นะครับ ถ้า “ความเป็นหนุ่มสาว = ความเป็นขบถ”
คนรุ่น 60-70 = ความเป็นขบถ + สงครามเย็น
คนรุ่น 90 = ความเป็นขบถ + Globalization
คนรุ่นนี้ = ความเป็นขบถ + Disruption
ซึ่งนี่คือ ผลผลิตของยุคสมัย เราเลี่ยงไม่ได้
#กม. – คำนี้ ตอนแรกเราคิดว่าจะใช้คำว่า “เกมใหม่” เพื่อที่จะบอกว่า โลกใหม่คนรุ่นก่อนหน้าเข้าใจได้ยากแน่ๆ แต่ท้ายที่สุดสรุป คือคำว่า “กล้ามั้ย” เนื้อหาเป็นอย่างไรลองไปดูกันในคลิปนะครับ
แถมท้ายด้วย ข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้าที่เราเอามาทำเป็นภาพ โดย 3 ภาพนี้ที่พยายามจะเล่าถึงว่า คนแต่ละรุ่นมีความต้องการแตกต่างกัน ถ้าเป็นคนอายุน้อยก็จะอยากให้เพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา และการประกันการว่างงานมากกว่า ในทางกลับกัน คนสูงอายุก็ต้องการงบประมาณด้านสุขภาพ และเงินบำนาญที่มากขึ้น
ภาพที่สองแสดงว่า คนทุกรุ่นเห็นตรงกันว่า ในประเทศเรา ทหาร/กองทัพ มีอิทธิพลต่อการทำงานของรัฐบาลมากกว่าหน่วยงานอื่นๆ และแม้แต่ประชาชน ซึ่งเมื่อโยงกับภาพที่ 3 คือ เมื่องบประมาณมีจำกัด หากประชาชนต้องการลดงบประมาณลง ควรลดงบประมาณด้านใดเป็นอย่างแรก … คงไม่ต้องเฉลยนะครับ ให้ข้อมูลบอกเองนะครับ 🙂