ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา: อภิชาต  x อิสร์กุล

ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา: อภิชาต  x อิสร์กุล

สำนักพิมพ์มติชน

ชื่อตัวเล็กๆ ที่ต่อท้าย คือ “สมรภูมิเศรษฐกิจการเมืองไทยกับประชาธิปไตยที่ไม่ลงหลักปักฐาน” หนังสือเล่มนี้มาจากงานวิจัยเรื่อง “การปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำกับการสร้างระบบประชาธิปไตยในช่วงปี 2475 ถึง 2500” ที่พยายามทำความเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และการปฏิวัติ 2475 จนถึงการรัฐประหารปี 2500 

เริ่มต้นปัญหาของเรื่องนี้คือ ระบบกรรมสิทธิ์โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ที่เกิดขึ้นจากความต้องการข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นสูง ทำให้สยามต้องขยายพื้นที่การเพาะปลูก เริ่มมีการลงทุนในที่ดินรกร้างว่างเปล่าเพื่อการผลิตข้าว การขุดคลองในช่วงสมัย ร.4 ถึง ร.5 หลายเส้นเป็นส่วนสำคัญในการเปิดพื้นที่ปลูกข้าว จากการดำเนินการของรัฐบาลที่ดำเนินการขุดคลองเองจนถึงการให้มีระบบสัมปทานในการขุดคลองของเอกชน ทำให้เริ่มมีการจับจองที่ดินขึ้น และกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ เจ้านายและขุนนางที่ใกล้ชิด  ชาวนาจึงกลายเป็นผู้เช่าที่ดินของบรรดาเจ้านายและขุนนางในการทำการเพาะปลูกข้าวในรอบๆ เขตพระนครและภาคกลาง 

การบุกเบิกที่ดินรกร้างนำมาสู่การครอบครองที่ดินและสร้างประโยชน์ทางทรัพย์สินให้กับชนชั้นนำ ในทางกลับกัน แม้ว่าชาวนาจะได้ประโยชน์จากการทำเกษตรและราคาข้าวจากตลาดโลกในบางช่วงจะดีขึ้นก็ตาม แต่การไม่เข้าถึงกรรมสิทธิ์และต้องจ่ายค่าเช่านับเป็นความเหลื่อมล้ำที่ที่เกิดจากทรัพย์สินนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างเจ้าที่ดินที่เป็นชนชั้นสูงกับสามัญชนที่เป็นชาวนา 

จนมาถึงหลังการปฏิวัติ 2475 ผู้นำระบบใหม่พยายามจะปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะถูกต่อต้านจากชนชั้นเจ้าที่ดินอย่างรุนแรง ซึ่งนี้ก็เป็นส่วน หนึ่งของเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีพนมยงค์ที่ถูกกล่าวหาว่ามีแนวทางแบบคอมมิวนิสต์ 

หนังสือเล่าไว้ได้น่าสนใจมากว่า อีกฝ่ายหนึ่งพยายามโต้ปรีดีว่า “ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสยามมิได้อดอยากแร้นแค้น รายได้และฐานะการกินอยู่ของราษฎรดีกว่าทุกๆ ประเทศในภาคพื้นทวีปเอเชีย” คุ้นๆ มั้ยครับ และดีเบตเรื่องการครอบครองที่ดินก็ต่อสู้ยาวมาจนถึงปี 2500 ซึ่งมีรายละเอียดปีกย่อยเยอะเลย แต่คงไม่ต้องเดานะครับว่าจะออกมาหน้าตาเป็นยังไง 

การต่อสู้เรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจในเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้อยู่เพียงการครอบครองที่ดินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเด็นเรื่องทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ การจัดการมรดก ที่เป็นประเด็นการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายคณะราษฎร ความสนุกของประเด็นนี้ คือการลากยาวไปถึงปูมหลังที่มาของทรัพย์สินของพระคลังข้างในสมัย ร.4 ว่ามีปัญหาอย่างไร (เล่าถึงขั้นว่าเงินพระคลังข้างที่มีไม่พอจัดงานพระศพสมเด็จพระจอมเกล้าจนต้องไปยืมเงินกรมสมเด็จพระสุดารัตน์มาใช้) และการปฏิรูปในสมัย ร.5 ในการดึงอำนาจคืนจากขุนนางเก่า การสร้างระบบราชการใหม่ และ และใช้กลไกข้าราชการในการเก็บภาษี และให้ทุกอย่างรวมศูนย์มาไว้ที่องค์พระมหากษัตริย์ ทั้งหมดนั้น ช่วยนำมาซึ่งความมั่นคงทางการคลังที่มากขึ้น แต่จะกระจายประโยชน์สู่ราษฎรมากน้อยเพียงใดต้องไปดูที่การจัดสรรงบประมาณด้านการคลัง

โดยด้านงบประมาณการคลัง ความแซ่บของบทนี้คือ การเปรียบเทียบเรื่องรายจ่ายด้านต่างๆ ในช่วงก่อนและหลัง 2475  เช่น รายจ่ายส่วนพระมหากษัตริย์ ด้านการสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการทหาร ซึ่งสรุปเร็วๆ คือ รายจ่ายก่อน 2475 ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อรักษาความสงบภายใน รักษาผลประโยชน์และเสริมสร้างสถานะของชนชั้นปกครองมากกว่าการคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษา/สาธารณสุขสำหรับประชาชน 

ซึ่งหากเราอ่านประวัติศาสตร์แล้ว เห็นความพยายามของชนชั้นนำในการสนับสนุนการศึกษา/ สาธารณสุขเป็นชิ้นๆ คงซาบซึ้งใจอยู่บ้างแต่หากลองเปรียบเทียบกับภาพใหญ่ เช่น 

(1) สัดส่วนงบประมาณ ในหนังสือเล่าให้ฟังว่า โรงเรียนเป็นกลไกในการรักษาสถานะทางสังคมเดิมของชนชั้นขุนนาง อย่างเช่น โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบก็เป็นที่ศึกษาของเชื้อพระวงศ์และลูกหลานของตระกูลขุนนาง พอเริ่มมีสามัญชนอยากเข้าถึงการศึกษาเช่นนี้โรงเรียนก็เริ่มเก็บค่าเล่าเรียนเพื่อกีดกันสามัญชนไม่ให้เข้าเรียนได้โดยง่าย

ส่วนโรงเรียนราษฎรอย่างโรงเรียนประถมวัดมหรรณพารามที่เป็นโรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรก ก็มีจำกัดและพัฒนาอย่างเชื่องช้าสัดส่วนการให้การสนับสนุนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับงบประมาณของโรงเรียนสำหรับชนชั้นสูง ในหนังสือเล่าว่า งบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปอุดหนุนการศึกษาระดับมัธยมและภาคภาษาอังกฤษสำหรับชนชั้นสูงเพื่อเตรียมความพร้อมให้บรรดาเชื้อพระวงศ์ที่จะไปศึกษาต่อที่ยุโรป

(2) หรือการเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการปฏิรูปในเวลาไล่เลี่ยกันอย่างการปฏิรูปประเทศสมัยเมจิที่ญี่ปุ่น ข้อมูลในปี พ.ศ. 2453 คือหลังปฏิรูปประมาณสองทศวรรษ สัดส่วนของนักเรียนทั้งชายและหญิงในช่วงอายุ 7-14 ปีของไทยอยู่ในโรงเรียนเพียง 15% ในขณะที่ญี่ปุ่นในช่วงอายุเดียวกันอยู่ในโรงเรียนแล้วถึง 98%

ด้านการสาธารณสุขก็เช่นเดียวกัน แม้การแพทย์สมัยใหม่เริ่มเข้ามาในสยามแล้ว แต่การจัดบริการสาธารณสุขเกิดขึ้นจากแรงจูงใจในการทำบุญทานทำทานมากกว่าจะยอมรับว่ากิจการสาธารณสุขเป็นหน้าที่ของรัฐ การเร่งสร้างโรงพยาบาลในต่างจังหวัด การเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ ล้วนเกิดขึ้นจริงและส่งผลต่อประเทศ หลังการปฏิวัติ 2475 อย่างกระทรวงสาธารณสุขเกิดขึ้นหลัง 2475 เดิมกรมสาธารณสุขมาจากกรมพยาบาลที่อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย 

หากลองดูงบประมาณ บริการด้านสาธารณสุขต่อหัวประชากร ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อยู่ที่ 0.11 บาท/คน หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพิ่มขึ้นเป็น 1.25 บาท/คน และเพิ่มเป็น 4 บาท/คนในช่วงปี 2500 

ใครสนใจ รากของประวัติศาสตร์ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาในเชิงโครงสร้างทางการเมืองลองหาอ่านกันได้ครับ