by kokoyadi | Dec 28, 2022 | Blog, Works
กิจกรรม TDRI Annual Public Virtual Conference 2022 ตั้งโจทย์ไว้ว่า “ทำอย่างไรให้ประเทศไทยหนุ่มสาวขึ้น?”
ในช่วงเสวนา ผมได้มีโอกาสชวน…
- คุณไครียะห์ ระหมันยะ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม
- ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คุณภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนกำเนิดวิทย์
- คุณวีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์
- คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ Co-Founder & CEO บริษัท Techsauce
สนุกดีครับ ครบถ้วนในมุมของการทำให้ประเทศหนุ่มสาวขึ้น และ มองลึกกว่าการมองแค่อายุ แต่ชวนคิดกันถึงระบบที่เป็นตัวฉีกให้ความต่างมันชัดขึ้น
จบงานไลฟ์ถ่ายนี้กัน ตอนแรกจะถ่ายแบบเรียบร้อยตามธรรมเนียม แต่พี่แหม่มบอกว่าภาพทานน้ำส้มแบบนี้แหล่ะดูมีสไตล์ดี / ขอบคุณวิทยากรทุกท่านเลยครับ เป็นเซสชั่นที่กลมกล่อมและสนุกมากๆ ครับ
จากซ้ายไปขวา คุณภาคิน คุณวีระพร อาจารย์จัน คุณมิหมี น้องยะห์ และผม
by kokoyadi | Apr 6, 2022 | Read
สำนักพิมพ์มติชน
ชื่อตัวเล็กๆ ที่ต่อท้าย คือ “สมรภูมิเศรษฐกิจการเมืองไทยกับประชาธิปไตยที่ไม่ลงหลักปักฐาน” หนังสือเล่มนี้มาจากงานวิจัยเรื่อง “การปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำกับการสร้างระบบประชาธิปไตยในช่วงปี 2475 ถึง 2500” ที่พยายามทำความเข้าใจปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และการปฏิวัติ 2475 จนถึงการรัฐประหารปี 2500
เริ่มต้นปัญหาของเรื่องนี้คือ ระบบกรรมสิทธิ์โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ที่เกิดขึ้นจากความต้องการข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นสูง ทำให้สยามต้องขยายพื้นที่การเพาะปลูก เริ่มมีการลงทุนในที่ดินรกร้างว่างเปล่าเพื่อการผลิตข้าว การขุดคลองในช่วงสมัย ร.4 ถึง ร.5 หลายเส้นเป็นส่วนสำคัญในการเปิดพื้นที่ปลูกข้าว จากการดำเนินการของรัฐบาลที่ดำเนินการขุดคลองเองจนถึงการให้มีระบบสัมปทานในการขุดคลองของเอกชน ทำให้เริ่มมีการจับจองที่ดินขึ้น และกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ เจ้านายและขุนนางที่ใกล้ชิด ชาวนาจึงกลายเป็นผู้เช่าที่ดินของบรรดาเจ้านายและขุนนางในการทำการเพาะปลูกข้าวในรอบๆ เขตพระนครและภาคกลาง
การบุกเบิกที่ดินรกร้างนำมาสู่การครอบครองที่ดินและสร้างประโยชน์ทางทรัพย์สินให้กับชนชั้นนำ ในทางกลับกัน แม้ว่าชาวนาจะได้ประโยชน์จากการทำเกษตรและราคาข้าวจากตลาดโลกในบางช่วงจะดีขึ้นก็ตาม แต่การไม่เข้าถึงกรรมสิทธิ์และต้องจ่ายค่าเช่านับเป็นความเหลื่อมล้ำที่ที่เกิดจากทรัพย์สินนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างเจ้าที่ดินที่เป็นชนชั้นสูงกับสามัญชนที่เป็นชาวนา
จนมาถึงหลังการปฏิวัติ 2475 ผู้นำระบบใหม่พยายามจะปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะถูกต่อต้านจากชนชั้นเจ้าที่ดินอย่างรุนแรง ซึ่งนี้ก็เป็นส่วน หนึ่งของเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีพนมยงค์ที่ถูกกล่าวหาว่ามีแนวทางแบบคอมมิวนิสต์
หนังสือเล่าไว้ได้น่าสนใจมากว่า อีกฝ่ายหนึ่งพยายามโต้ปรีดีว่า “ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสยามมิได้อดอยากแร้นแค้น รายได้และฐานะการกินอยู่ของราษฎรดีกว่าทุกๆ ประเทศในภาคพื้นทวีปเอเชีย” คุ้นๆ มั้ยครับ และดีเบตเรื่องการครอบครองที่ดินก็ต่อสู้ยาวมาจนถึงปี 2500 ซึ่งมีรายละเอียดปีกย่อยเยอะเลย แต่คงไม่ต้องเดานะครับว่าจะออกมาหน้าตาเป็นยังไง
การต่อสู้เรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจในเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้อยู่เพียงการครอบครองที่ดินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเด็นเรื่องทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ การจัดการมรดก ที่เป็นประเด็นการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายคณะราษฎร ความสนุกของประเด็นนี้ คือการลากยาวไปถึงปูมหลังที่มาของทรัพย์สินของพระคลังข้างในสมัย ร.4 ว่ามีปัญหาอย่างไร (เล่าถึงขั้นว่าเงินพระคลังข้างที่มีไม่พอจัดงานพระศพสมเด็จพระจอมเกล้าจนต้องไปยืมเงินกรมสมเด็จพระสุดารัตน์มาใช้) และการปฏิรูปในสมัย ร.5 ในการดึงอำนาจคืนจากขุนนางเก่า การสร้างระบบราชการใหม่ และ และใช้กลไกข้าราชการในการเก็บภาษี และให้ทุกอย่างรวมศูนย์มาไว้ที่องค์พระมหากษัตริย์ ทั้งหมดนั้น ช่วยนำมาซึ่งความมั่นคงทางการคลังที่มากขึ้น แต่จะกระจายประโยชน์สู่ราษฎรมากน้อยเพียงใดต้องไปดูที่การจัดสรรงบประมาณด้านการคลัง
โดยด้านงบประมาณการคลัง ความแซ่บของบทนี้คือ การเปรียบเทียบเรื่องรายจ่ายด้านต่างๆ ในช่วงก่อนและหลัง 2475 เช่น รายจ่ายส่วนพระมหากษัตริย์ ด้านการสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการทหาร ซึ่งสรุปเร็วๆ คือ รายจ่ายก่อน 2475 ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อรักษาความสงบภายใน รักษาผลประโยชน์และเสริมสร้างสถานะของชนชั้นปกครองมากกว่าการคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษา/สาธารณสุขสำหรับประชาชน
ซึ่งหากเราอ่านประวัติศาสตร์แล้ว เห็นความพยายามของชนชั้นนำในการสนับสนุนการศึกษา/ สาธารณสุขเป็นชิ้นๆ คงซาบซึ้งใจอยู่บ้างแต่หากลองเปรียบเทียบกับภาพใหญ่ เช่น
(1) สัดส่วนงบประมาณ ในหนังสือเล่าให้ฟังว่า โรงเรียนเป็นกลไกในการรักษาสถานะทางสังคมเดิมของชนชั้นขุนนาง อย่างเช่น โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบก็เป็นที่ศึกษาของเชื้อพระวงศ์และลูกหลานของตระกูลขุนนาง พอเริ่มมีสามัญชนอยากเข้าถึงการศึกษาเช่นนี้โรงเรียนก็เริ่มเก็บค่าเล่าเรียนเพื่อกีดกันสามัญชนไม่ให้เข้าเรียนได้โดยง่าย
ส่วนโรงเรียนราษฎรอย่างโรงเรียนประถมวัดมหรรณพารามที่เป็นโรงเรียนสำหรับราษฎรแห่งแรก ก็มีจำกัดและพัฒนาอย่างเชื่องช้าสัดส่วนการให้การสนับสนุนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับงบประมาณของโรงเรียนสำหรับชนชั้นสูง ในหนังสือเล่าว่า งบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปอุดหนุนการศึกษาระดับมัธยมและภาคภาษาอังกฤษสำหรับชนชั้นสูงเพื่อเตรียมความพร้อมให้บรรดาเชื้อพระวงศ์ที่จะไปศึกษาต่อที่ยุโรป
(2) หรือการเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการปฏิรูปในเวลาไล่เลี่ยกันอย่างการปฏิรูปประเทศสมัยเมจิที่ญี่ปุ่น ข้อมูลในปี พ.ศ. 2453 คือหลังปฏิรูปประมาณสองทศวรรษ สัดส่วนของนักเรียนทั้งชายและหญิงในช่วงอายุ 7-14 ปีของไทยอยู่ในโรงเรียนเพียง 15% ในขณะที่ญี่ปุ่นในช่วงอายุเดียวกันอยู่ในโรงเรียนแล้วถึง 98%
ด้านการสาธารณสุขก็เช่นเดียวกัน แม้การแพทย์สมัยใหม่เริ่มเข้ามาในสยามแล้ว แต่การจัดบริการสาธารณสุขเกิดขึ้นจากแรงจูงใจในการทำบุญทานทำทานมากกว่าจะยอมรับว่ากิจการสาธารณสุขเป็นหน้าที่ของรัฐ การเร่งสร้างโรงพยาบาลในต่างจังหวัด การเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ ล้วนเกิดขึ้นจริงและส่งผลต่อประเทศ หลังการปฏิวัติ 2475 อย่างกระทรวงสาธารณสุขเกิดขึ้นหลัง 2475 เดิมกรมสาธารณสุขมาจากกรมพยาบาลที่อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย
หากลองดูงบประมาณ บริการด้านสาธารณสุขต่อหัวประชากร ในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อยู่ที่ 0.11 บาท/คน หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเพิ่มขึ้นเป็น 1.25 บาท/คน และเพิ่มเป็น 4 บาท/คนในช่วงปี 2500
ใครสนใจ รากของประวัติศาสตร์ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาในเชิงโครงสร้างทางการเมืองลองหาอ่านกันได้ครับ
by kokoyadi | Jun 9, 2021 | Blog
9 มิ.ย. 2021
หลายคนได้รับวัคซีน ก็ยินดีด้วยนะครับ…
แต่อยากฝากให้พิจารณาเพิ่มว่า ได้ฉีดนี่ ได้กันมายังไง เมื่อของมีจำกัดแล้ว เหมือนจับคน 67 คนมาต่อแถวอ่ะ คุณอยู่ตรงไหนของแถว
ถ้าคุณฉีดแล้ว 1 เข็ม เป็นกลุ่ม 4 คนแรกใน 67 คน
แต่ถ้าคุณฉีดครบ 2 เข็มแล้ว เหมือนเป็นคนแรกและเป็นคนเดียวที่ฉีดเสร็จแล้วนั่นแหละ
และเวลาฉีดเสร็จแล้วอ่ะ อยากให้หันกลับมาดูสภาพของแถว และเห็นใจเพื่อนร่วมชาติด้วยอ่ะครับ ว่าตอนนี้ สภาพแถวเป็นยังไง เวลาผู้นำเรียกให้คนต่อแถวอ่า มันมี Priority ยังไง
ให้ใครก่อน ให้ยังไง ให้แบบแฟร์และมีประสิทธิภาพในการจัดการโรคระบาดดีพอมั้ย หรือแอบปล่อยให้เปิดแถวพิเศษ (แบบที่เราไม่รู้ / แกล้งไม่เห็น เพราะอยู่ในแถวด้วยป่ะ)
ข้อมูลผ่านวันดีเดย์มาสองสามวัน กทม. ได้สัดส่วนเยอะกว่าต่างจังหวัด บางจังหวัดก็มีโอกาสได้มากกว่า ทั้งเหตุผลเรื่องการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว บางอาชีพได้ก่อน เพราะใช้เหตุผลบุคลากรด่านหน้า ทั้งทหาร ตำรวจ ครู อาจารย์ ฯลฯ ที่จะยึดโยงกับระบบราชการ รวมถึงก็บรรดาสื่อมวลชนด้วยนะครับ (ซึ่งก็เข้าใจนะครับว่า ทุกคนต่างๆ มีเหตุผลที่ชอบธรรมของตัวเองแน่นอน)
เราลองพยายามค้นแผนการจัดสรรวัคซีน ทั้งใน เว็บของรัฐบาล ที่ปกติก็จะอัพ PowerPoint รายงานสถานการณ์ทุกวัน https://www.thaigov.go.th
เว็บของกระทรวงสาธารณสุข https://www.moph.go.th และหน้ารายงานสถานการณ์สาธารณสุข (ที่ไม่อัพเดทหลายวันแล้ว) https://covid19.moph.go.th/#box1
กรมควบคุมโรค https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/
และองค์การเภสัช https://www2.gpo.or.th/Default.aspx?tabid=37
https://www2.gpo.or.th/Default.aspx?tabid=37
สรุปว่า ไม่เจอรายละเอียดดีๆ แผนการจัดสรรวัคซีน แบบที่พร้อมเปิดเผยข้อมูล หรือ แนวทางให้รู้เลย
ข้อมูลที่หลุดมาถึงมือนักข่าวก็ หลุดมาเป็นชิ้นๆ แบบ
– ประชาชาติ มีลิสต์ ยอดจัดสรร AZ 350,000 โดสสำหรับ รพ. ในแถบ กทม. https://www.prachachat.net/…/%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8…
– มติชนได้ภาพแดชบอร์ด ข้อมูลของ กาญจนบุรี ที่ได้วัคซีน ขวดเดียว สำหรับ ฉีดได้ 10 โดส https://www.matichon.co.th/region/news_2766898
สรุปว่า เราก็ไม่รู้จริงๆ ว่า แผนของกระจายวัคซีนที่บอกว่า ยึดหยุ่นปรับตามสถานการณ์เนี่ย ตกลงมีจริงหรือเปล่า หรือว่าใครมือยาว เสียงดังกว่า เข้าถึงผู้มีอำนาจมากกว่า ก็ได้ก่อนนะครับ
การไม่มีข้อมูลอะไรเลย ทำให้เราไม่สามารถตรวจสอบเรื่อง “ประสิทธิภาพ” “ความโปร่งใส” อะไรในการบริหารจัดการได้เลย
เราลองพยายามตามดูข้อมูล 20 วันล่าสุด จำนวนคนตายไม่ลดลงเท่าไหร่เลยนะครับ เฉลี่ยประมาณ 31 คนที่ต้องเสียชีวิต และผู้เสียชีวิตจำนวนมากก็กระจุกตัวอยู่ กทม. เยอะกว่า ก็ฟังดูเมกเซนส์นะครับที่ให้ กทม. ก่อน แต่ไปดูรายละเอียดว่าผู้เสียชีวิตอายุเท่าไหร่ สรุปว่า ค่าเฉลี่ยคร่าวๆ คือ เกือบ 70 (สัดส่วนเป็น ชาย 55% หญิง 45%) แปลว่า จะจัดสรรวัคซีนให้มีประสิทธิภาพกับการกันตายนี่ ผู้สูงอายุเป็น Priority มากๆ เลยนะครับ
อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ อยากให้ลองสังเกตตัวเลขผู้เสียชีวิตในเรือนจำ (ดาวแดงเล็กๆ) จำวันที่กราฟผู้ติดเชื้อพุ่งปรี้ดๆ ได้มั้ยครับ วันที่ 13 ตัวเลขในเรือนจำอย่างเดียว คือ 4,887 และวันที่ 17 คือ 9,635 คน จากวันที่ 13 ถึงวันที่ 28 ที่เริ่มมีผู้เสียชีวิตในจำเรือน คือ 15 วันพอดีที่พบผู้ติดเชื้อในเรือนจำ และเริ่มมากขึ้นมาสามวันติดแล้ว (ซึ่งอันนี้ ก็น่าเศร้าที่เค้าคงไม่มีเสียงดังพอจะพูดอะไร)
หลายคนรวมถึงนายกฯ ด้วยพยายามบอกว่า อย่าเอาเรื่อง “วัคซีนโยงการเมือง” ถามจริง การตัดสินใจเลือก “ยี่ห้อวัคซีน” “จำนวนที่เหมาะสม” “การกระจายฉีด” นี่ไม่ใช่อำนาจทางการเมืองเหรอ
ทั้งหมดก็ย้อนกลับไปที่ผู้นำที่ประเทศเรามีได้ดีแค่นี้เหรอครับ นึกถึงเรื่องในไบเบิลที่ตอนน้ำท่วมใหญ่ ที่โมเสส “ผู้นำเรือดิอาร์ก” สร้างเรือตั้งแต่ฝนไม่ตก การคาดเดาสถานการณ์และเตรียมการเป็นเรื่องใหญ่และจำเป็น
เอาจริงๆ เรามีเวลาเตรียมตัว จัดการแผนจับคนเข้าแถวนานอยู่นะครับ ถ้านับว่าเราเซ็นสัญญากับ AZ ตั้งแต่เดือน พ.ย. ปีที่แล้วเลยนะครับ เชื่อมากๆ เลยว่าหลังจากนี้ ปัญหาหลายๆ อย่างจะยังไม่ดีขึ้นแน่ๆ เพราะในช่วงวิกฤตสุดๆ เนี่ยยังมีคนอีกมากที่ไม่ได้เข้าแถวด้วยซ้ำ และผลของการไม่ได้เข้าแถวจะยิ่งทำร้ายคนในที่ต่างๆ อีกมากมาย แล้วไม่ต้องมาทำแคมเปญให้ใครรักชาติอะไรอีกนะ คนที่เจ็บช้ำเค้าไม่อินด้วยแน่ๆ
สุดท้ายอยากจะบอกว่า จริงๆ ผู้นำที่ต่อเรือพาสัตว์หนีน้ำท่วม คือ “โนอาห์” นะครับ ไม่ใช่ “โมเสส” ที่เขียนนั่นอ่ะตัวปลอม ไม่ใช่ผู้นำที่จะพาเราผ่านวิกฤตนี้หรอก จับแม่งโยนลงน้ำก่อนเลยถ้ามีอิทธิฤทธิ์จริง เค้าคงแหวกทะเลรอดได้ไม่ต้องห่วงเค้าหรอก หรือจะให้เค้ารอเรือดำน้ำที่พรรคพวกซื้อไปช่วยแล้วกัน …
by kokoyadi | Mar 6, 2020 | Blog, Works
อยากชวนทุกคนลองชมรายการ the standard daily x tdri
ประจำเดือน มีนาคม นี้นะครับ เราตั้งชื่อตอนว่า ผนงรจตกม.
ซึ่งจริงๆ ก็เป็นปรากฎการณ์ใน social media ที่น้องๆ ที่จัดกิจกรรมงานบอลนำเสนอความคิดกันนะครับ
โดยเบื้องหลังไอเดียจริงๆ ก็มาจากการประชุมของทีมงานทั้งหมดนะครับ ว่าอยากพูดประเด็นว่าด้วยความต่างของ Generation ที่แสดงออกกันบนพื้นที่ทางการเมืองนะครับ
(สำหรับใครที่อยากดูก่อนสามารถข้ามไปดูด้านท้ายของโพสเลยนะครับ ส่วนต่อไปจะเล่าถึงไอเดียและเนื้อหาในรายการครับ)
เราเลยพยายามหาคีย์เวิร์ดเป็นตัวแกนของการเล่าเรื่อง ซึ่งพอใช้ชื่อตอนว่า – ผนงรจตกม นี่ก็เรียกแขกได้มากเลย
ทำให้ยอดคนดูสดของทั้ง facebook และ YouTube สูงกว่าค่าเฉลี่ยพอตัวเลยครับ
ซึ่งจากชื่อตอน #ผนงรจตกม ที่ยาวๆ เราเลยพยายาม ตัดช่วง ให้เป็นกลุ่มข้อความ 3 ช่วง เพื่อให้ทั้งคนเล่าเรื่อง (ทั้ง ดร.สมเกียรติ และ คุณต๊ะ พิภู) และคนดู มีจังหวะช่วงที่พักหายใจ และ Conceptual Idea ได้ง่ายขึ้น
เราเลยแยกเป็นกลุ่มคำ 3 กลุ่ม และเป็น 3 แกนเนื้อหา คือ
#ผนง – “ผู้นำงง” ส่วนนี้ เราพยายามจะพูดถึงปรากฎการณ์ที่บอกว่า ผู้นำงง (จะใช้คำอื่นก็ไม่ว่ากันนะครับ) มีทุกยุคทุกสมัย และทีมเราพยายามสำรวจข้อมูลว่า ระบบการเมืองแบบปิด นี่มีส่วนทำให้ผู้นำงงได้ง่ายมากๆ โดยดูแค่อายุก็ได้นะครับ
ว่า สนช. / สว. ที่เลือกกันเอง ค่าเฉลี่ยอายุสูงมากๆ ส่วน ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งค่าเฉลี่ยอายุต่ำกว่ามาก
และการยุบพรรคอนาคตใหม่ลงไปนั้น ก็ส่งผลทั้งตัวแทนของคนหนุ่มสาวที่เลือก พร้อมกับการทำให้ค่าเฉลี่ยสูงขึ้นไปอีก

#รจต – รู้จักแตกต่าง ส่วนนี้ พยายามอธิบายถึง ความแตกต่างแบบสองแง่มุม คือ เอาเข้าจริง ทุกคนที่ยังอายุน้อยย่อมต้องมีความเป็นขบถในตัวเอง แต่ขบถแต่ละยุคสมัยก็จะมีความท้าทายที่แตกต่างกัน
เขียนเป็นสมการเล่นๆ ประมาณนี้นะครับ ถ้า “ความเป็นหนุ่มสาว = ความเป็นขบถ”
คนรุ่น 60-70 = ความเป็นขบถ + สงครามเย็น
คนรุ่น 90 = ความเป็นขบถ + Globalization
คนรุ่นนี้ = ความเป็นขบถ + Disruption
ซึ่งนี่คือ ผลผลิตของยุคสมัย เราเลี่ยงไม่ได้
#กม. – คำนี้ ตอนแรกเราคิดว่าจะใช้คำว่า “เกมใหม่” เพื่อที่จะบอกว่า โลกใหม่คนรุ่นก่อนหน้าเข้าใจได้ยากแน่ๆ แต่ท้ายที่สุดสรุป คือคำว่า “กล้ามั้ย” เนื้อหาเป็นอย่างไรลองไปดูกันในคลิปนะครับ
แถมท้ายด้วย ข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้าที่เราเอามาทำเป็นภาพ โดย 3 ภาพนี้ที่พยายามจะเล่าถึงว่า คนแต่ละรุ่นมีความต้องการแตกต่างกัน ถ้าเป็นคนอายุน้อยก็จะอยากให้เพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา และการประกันการว่างงานมากกว่า ในทางกลับกัน คนสูงอายุก็ต้องการงบประมาณด้านสุขภาพ และเงินบำนาญที่มากขึ้น
ภาพที่สองแสดงว่า คนทุกรุ่นเห็นตรงกันว่า ในประเทศเรา ทหาร/กองทัพ มีอิทธิพลต่อการทำงานของรัฐบาลมากกว่าหน่วยงานอื่นๆ และแม้แต่ประชาชน ซึ่งเมื่อโยงกับภาพที่ 3 คือ เมื่องบประมาณมีจำกัด หากประชาชนต้องการลดงบประมาณลง ควรลดงบประมาณด้านใดเป็นอย่างแรก … คงไม่ต้องเฉลยนะครับ ให้ข้อมูลบอกเองนะครับ 🙂