
วิทยาศาสตร์ความอ้วน
เจสัน เฝิง เขียน | ลลิตา ผลผลา แปล | Bookscape พิมพ์
เล่มนี้เป็นเล่มที่สนุกดี ท้าทายความเชื่อแทบทุกอย่างที่เราคุ้นเคยเกี่ยวกับโรคอ้วน อย่างเช่น อาหารมื้อเช้าสำคัญที่สุด จะลดความอ้วนให้สำเร็จต้องจัดการขาออกให้มากกว่าขาเข้าหรือออกกำลังกายให้มากกว่ากิน นับแคลอรี่เป็นเรื่องสำคัญ ฯลฯ
เล่มนี้เขียนโดย เจสัน เฝิง หมอที่เชี่ยวชาญด้านโรคไต ซึ่งเป็นผลมาจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และส่วนใหญ่คนไข้ของเขามาพร้อมกับโรคอ้วน และจุดเริ่มต้น ของการค้นคว้าโรคอ้วนก็เพราะคนไข้ของเขาถามว่า หมอบอกให้ลดน้ำหนัก แต่อินซูลินที่หมอให้ทำให้น้ำหนักของเค้าเยอะขึ้น สรุปมันมีประโยชน์จริงเหรอ และซึ่งเรื่องนี้เป็นที่รบกวนจิตใจของเขาเขาจึงค้นหาคำตอบและเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้
ความสนุกของหนังสือเล่มนี้คือ เรื่องเล่าและการเปรียบเปรยของการศึกษาโรคอ้วน เช่น การทำความเข้าใจโรคอ้วนเป็นเรื่องระยะยาวจะศึกษาในช่วงเวลาสั้นๆ ระดับเพียงหลายสัปดาห์ไม่พอ เพราะถ้าคนเฉลี่ยน้ำหนักขึ้นปีละ 0.5 หรือ 1 กิโลกรัม 10 ปีก็เกือบ 10 กิโล เหมือนกับ จะเข้าใจว่าสนิมเกิดได้อย่างไรต้องสังเกตโลหะหลายเดือนไม่ใช่หลายชั่วโมง
หรือจะศึกษาโรคอ้วนกับคนก็ต้องศึกษาจากคนเท่านั้น มันมีความจำเพาะ เขาชวนให้ไปลองดูวงจรชีวิตของสัตว์ปกติ ส่วนใหญ่เมื่ออาหารอุดมสมบูรณ์ขึ้น มันจะนำไปสู่การเพิ่มของจำนวนของสัตว์ ไม่ใช่การเพิ่มขนาดตัว นึกถึงหนูหรือแมลงสาบดูได้ เมื่อขาดแคลนอาหาร ประชากรหนูก็จะต่ำ แต่เมื่ออาหารอุดมสมบูรณ์จะมีหนูขนาดปกติจำนวนเพิ่มขึ้น ไม่ใช่หนูจำนวนเท่าเดิมที่มีโรคอ้วน
ข้อสรุปที่สำคัญที่สุดของหนังสือเล่มนี้ คือโรคอ้วนไม่ได้มาจากการคุมแคลอรี่ จะขาเข้าหรือขาออกก็ตาม เราทำด้วยตัวเองไม่ได้ เพราะร่างกายมีระบบอันละเอียดอ่อนที่ชี้นำให้เรากินหรือไม่กิน การควบคุมร่างกายหลายอย่างถูกควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติคล้ายกับการหายใจที่เราไม่ต้องเตือนตัวเองให้หายใจ หรือแม้แต่คุมจังหวะให้มันเต้นไม่ได้ กลไกส่วนใหญ่ทุกคลุมด้วยกลไกที่รักษาสมดุลย์ในร่างกายด้วย
คนมักจะเชื่อว่าเราคุมการกินของเราได้ คือ จะคุมแคลลอรี่ขาเข้า แล้วเชื่อว่า เดี๋ยวน้ำหนักก็ลด แต่ความจริงคือร่างกายฉลาดกว่านั้น เพราะมันรู้จักปิดตัวเองได้ มันพยายามลดการใช้พลังงานทุกด้านเพื่อรักษาตัวเอง และลดการใช้พลังงานในบางเรื่องมันจะส่งผลต่อระบบร่างกายต่างๆ เช่น การให้ความร้อนแก่ร่างกายซึ่งอาจทำให้เราทนหนาวยากขึ้น การสูบฉีดโลหิตของหัวใจทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง การรักษาระดับความดันเลือดซึ่งอาจทำให้เรามีสมาธิน้อยลง คิดช้าลง เฉื่อยชาขึ้น
ซึ่งพอระบบมันรวน มันก็จะสั่งให้เราหิว สั่งให้เรากิน แล้วเราจะไม่ทน ซึ่งนั่นก็กลับมาสู่ภาวะปกติภายในไม่นาน
…นี่ก็เหมือนเราสู้กับความอ้วน แต่ความอ้วนมันสู้กลับเลย…
เรื่องแคลอรี่ขาออกก็เช่นกัน คนมักจะเข้าใจว่าการออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญในการลดน้ำหนัก เพราะเท่ากับแคลอรีขาออก แต่ความจริงการใช้พลังงานส่วนใหญ่ของมนุษย์คือการเผาผลาญความร้อนที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การหายใจการรักษาอุณหภูมิในร่างกายการขับเคลื่อนหัวใจให้สูบฉีดโลหิตการบำรุงรักษาอวัยวะต่างๆการทำงานของสมองตับไต ซึ่งการออกกำลังกายเป็นส่วนน้อย ประมาณ 5% ของการใช้พลังงานโดยรวมเท่านั้น คุณหมอเปรียบเทียบว่า การโฟกัสที่การออกกำลังกายในการลดน้ำหนักเหมือนการติวสอบข้อสอบจากเนื้อหา 5% เท่านั้นจากข้อสอบทั้งหมดแล้วเชื่อว่าจะสอบผ่าน โอ้ย!!!
การลดน้ำหนักที่ยากและไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะเราต้องต่อสู้กับร่างกายตัวเองอยู่ตลอดเวลา เมื่อน้ำหนักลดร่างกายก็จะทำให้มันเพิ่ม คำตอบทั้งหมดของเรื่องนี้จึงอยู่ที่ ความไม่สมดุลย์ของฮอร์โมน และจะชนะได้ต้องเข้าใจกลไกรักษาสมดุลย์ ที่ช่วยจัดการสมดุลย์ของฮอร์โมน
และจะกินยังไงให้ไม่อ้วน (ไว้ค่อยเล่านะครับ ใครรีบ…) ลองไปหาอ่านดูนะครับ ป้ายยาเท่านี้พอ 🙂