by kokoyadi | Sep 16, 2022 | Blog, Read
David Wallace-Well เขียน | ณิชาภา ชิวะสุจินต์ แปล | Cactus พิมพ์
เล่มนี้เป็นหนังสือที่ฉายภาพปัญหาโลกร้อนได้สยดสยองมาก และโดยเฉพาะความเก่งกาจในการเปรียบเทียบตัวเลขที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของโลกร้อนกับเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ เช่น ถ้าดูแค่เรื่องมลพิษทางอากาศเพียงสาเหตุเดียวนะ จะมีประชากร 150 ล้านคนทั่วโลกที่เสียชีวิตด้วยอาการต่างๆ เพียงแค่โลกร้อนขึ้น 2 องศา ตัวเลขแบบนี้อาจไม่แน่ใจว่ามันใหญ่แค่ไหนเค้าบอกว่าเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลก 25 ครั้ง นี่ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกเหรอ
หรือ โลกเคยเจอ “ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในยุโรป” ที่จริงๆ ก็มาจากผลของสงครามที่เกี่ยวพันโลกร้อนและความแห้งแล้งช่วงปี 2011 นั่นแหละ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้าเกิดน้ำท่วมในบังกลาเทศจริงอย่างที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่ายังไงก็เกิด เหตุการณ์ในเอเชียใต้จะส่งผลต่อผู้คนมากกว่า 10 เท่า และไม่ได้เกิดที่เอเชียเท่านั้น แต่ประเทศรวมถึงแถบลาติน อาแฟริกา ด้วยรวมๆ แล้วจะส่งผลต่อคนกว่า 150 ล้านคน ซึ่งใหญ่กว่า ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ถึงร้อยเท่า แล้วโลกจะปั่นป่วนแค่ไหน
ปรากฏการณ์โลกละลาย จะป่วนโลกในทุกระดับ
อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จะส่งผลต่อการปลูกข้าวโพดทำให้ผลผลิตลดลงโดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้นำผลิตข้าวโพดอย่าง สหรัฐฯ จีน อาร์เจนตินา บราซิลและเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 4 องศาผลผลิตจะลดลงอย่างน้อยหนึ่งในห้าของทั้งหมด
“ภัยแล้ง” จะเกิดขึ้นในวงกว้างจนเป็นภัยต่อการผลิตอาหาร เนื่องจากพื้นดินที่เหมาะกับการเพาะปลูกจะหายไปเป็นทะเลทรายอย่างรวดเร็ว พื้นที่เกษตรถูกจำกัดลง ผลผลิตก็จำกัดลงด้วย ในอีกด้านพายุฝนและปริมาณน้ำฝนจะทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พื้นที่ที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำต่างๆจะกลายเป็นจะไม่สามารถใช้ได้ในอนาคต ผลคือ ประชากรในกลุ่มยากจนส่วนใหญ่เกิดภาวะขาดสารอาหารซ่อนเร้น ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกมากกว่า 1,000 ล้านคน และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นสำหรับประเทศยากจน
มีนักวิจัยไปสำรวจปริมาณโปรตีนในข้าว 18 สายพันธุ์พบว่าคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณสารอาหารทุกอย่างลดลง ตั้งแต่โปรตีน ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามิน B1, B2, B5 และ B9
ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 2 เมตรแน่นอนแม้ว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามเป้าหมาย 2 องศาก็ตาม แต่ว่าหากทำไม่สำเร็จระดับน้ำทะเลจะสูงกว่านั้น คือ 6 เมตร จนคนเขียนเรียกว่า “ทะเลจะกลายเป็นนักฆ่า”
อีกไม่นาน (หรือว่าเกิดแล้วก็ไม่รู้) คือ ประชากร 5% ของโลกจะเจอน้ำท่วมทุกปี ตัวอย่างอย่างจาการ์ตาที่เคยเป็นเมืองเติบโตเร็วที่สุด แต่ในปี 2050 ประชากรกว่า 10,000,000 จะต้องไปเสี่ยงกับน้ำท่วม
คำถามสำคัญ คือ โลกมนุษย์จะปรับตัวเข้ากับ "แนวชายฝั่งแห่งใหม่" ได้อย่างไร ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับระดับความเร็วของน้ำที่เพิ่มขึ้นและความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้
นักวิทยาศาสตร์เสนอศัพท์ใหม่ คือ “sunny day flooding – น้ำท่วมวันแดดออก” หมายถึง ปรากฏการณ์ที่น้ำขึ้นเพียงอย่างเดียวก็ทำให้น้ำท่วมเมืองโดยไม่ต้องอาศัยปริมาณจากน้ำฝนพายุเลย
สำหรับ มหาสมุทร ที่ทำหน้าที่ดูดซับ ทั้ง “คาร์บอน” และ “ความร้อนส่วนเกิน” ซึ่งปริมาณคาร์บอนมากกว่า 1 ใน 4 ที่มีอยู่ในทะเลตอนนี้ เกิดขึ้นจากที่มนุษย์ปล่อยออกมาในช่วง 50 ปีหลังนี้เอง ส่วนความร้อนส่วนเกินจากภาวะโลกร้อนมากกว่า 90% ก็มาจบที่มหาสมุทรในการดูดซับมัน ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดปรากฎการณ์ “ทะเลกรด”
โดยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำทะเลที่ไม่มีออกซิเจนเพิ่มขึ้นทั่วโลกกว่า 4 เท่า ทำให้โลกมีพื้นที่มรณะทางทะเลมากกว่า 400 แห่ง พื้นที่ขาดออกซิเจนดังกล่าวรวมมากกว่าหลาย 1 ล้านตารางกิโลเมตรเทียบเท่ากับพื้นที่ของทวีปยุโรปทั้งหมด เมืองชายฝั่งต่างๆ ที่ติดอยู่กับมหาสมุทรมีปริมาณออกซิเจนต่ำและเหม็นเน่าเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้นทำให้กักเก็บออกซิเจนได้น้อยลง
แล้วทะเลกรดก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นก็จะไปทำลายปะการังฟอกขาวแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลรวมถึงทำลายห่วงโซ่ของมันซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะวนมาที่สัตว์ทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์
อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ครึ่งองศา ทำให้เกิดความขัดแย้งทางตรงที่มีอาวุธเข้ามาเกี่ยวข้องได้มากขึ้นถึง 10 ถึง 20% ความเสี่ยงของสงครามที่เกิดจากโลกร้อนจริงๆ แล้วอาจมีผลมาจากการแย่งชิงทรัพยากรตัวอย่าง เช่น กองทัพอเมริกา หันมาสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนเพนตากอนประเมินอันตรายจากสภาพภูมิอากาศและพยายามวางแผนรับมือความขัดแย้งที่เป็นผลมาจากโลกร้อน
อีกมุมหนึ่ง ที่น่าสนใจมาก คือ ผลจากโลกละลายยังส่งผลต่อเด็กทั้งร่างกายและจิตใจ ตัวอย่างที่เวียดนาม อินเดีย เอกวาดอร์ ฝนตกน้ำท่วม อุณหภูมิสุดโต่ง และความแปรปวนของสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีนักเรียนที่เข้าเรียนได้ช้ากว่าเกณฑ์ ส่งผลทำให้ผลการเรียนก็ไม่ดี และยิ่งส่งผลมาต่อครอบครัวยากจน เพราะผลจากการขาดสารอาหารเรื้อรังกระทบต่อความสามารถในการคิดลดลง ความเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น
มีการวิจัยที่พบว่าในช่วงเก้าเดือนที่ทารกอยู่ในครรภ์ หากมีวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 90 องศามากเท่าไหร่ รายได้ตลอดชีวิตของเขาก็จะลดลงจนสามารถวัดผลกระทบได้ และจะสะสมจนส่งผลต่อชีวิตในภายหลัง นอกจากนี้ การศึกษาในไต้หวัน แคนาดา และเม็กซิโก พบว่าปริมาณมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นแต่ละหน่วยสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์มากถึงสองเท่า
สำหรับผลต่อจิตใจ ตอนที่เฮอริเคนแอนดรูว์โจมตีฟลอริดาในปี 1992 แม้มีผู้เสียชีวิตไม่มาก แต่เด็กครึ่งหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์นั้นได้รับการประเมินว่า กระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจในระดับปานกลาง-รุนแรง โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เป็นเพศหญิงจะมีอาการที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างร้ายแรงมากกว่าเพศชายและเมื่อยิ่งเกิดผลกระทบจากพายุนานยิ่งขึ้นจะเจอปัญหาภาวะซึมเศร้า ความเครียด มากจนมีสิ่งที่นักวิจัยค้นพบว่าเกิด “ความคิดพยาบาท” แต่หนังสือก็ไม่ได้เราเพิ่มเติมว่าพยาบาทใครหรืออะไร ในระดับของความรุนแรงต่อเด็กและวัยรุ่นจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในรายที่มีอาการรุนแรง เขาเปรียบเทียบว่า ผลของมันรุนแรงพอๆ กับทหารที่กลับจากสงครามที่มีภาวะป่วยทางจิตเลยทีเดียว
อันนี้ ที่เล่ามาทั้งหมด คือ ส่วนหนึ่งของความสยองที่เราจะต้องเผชิญในโลกก่อนปี 2100 นี้เท่านั้น เชื่อมั้ยครับว่า หนังสือเขาเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันประเทศที่ลงนามความตกลงปารีสมีจำนวน 195 ราย แต่มีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่ทำได้ตามข้อกำหนด
ใครสนใจเรื่องนี้ ก็ชวนอ่านกันครับ เพราะโลกละลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความหมายของภาวะโลกร้อนที่มีต่อวิถีชีวิตของเราบนโลก ปัญหานี้เป็นวงจรผลสะท้อนกลับ หลากหลาย ซับซ้อนและย้อนแย้ง และถูกครอบด้วยความไม่แน่นอน นี่แหละครับความจริงที่น่ากลัวของมัน
by kokoyadi | Jul 16, 2022 | Read
Jonathan Safran Foer เขียน พลอยแสง เอกญาติ แปล Cactus Publishing พิมพ์
หนังสือเล่มนี้คนเขียนเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ ได้เก่งมาก เค้าพยายามพูดถึงเรื่องการต่อสู้กับเรื่องปัญหาโลกร้อนโยงกับเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ การฆ่าตัวตาย การต่อสู้สิทธิของกลุ่มคนผิวสี การเล่นเวฟในสนามเบสบอล ว่าทุกอย่างมันพันกับโลกร้อนยังไง
อย่างเรื่องเล่าจากเหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขายกเรื่องที่ชาวอเมริกันตามเมืองชายฝั่งพยายามช่วยกันปิดไฟช่วงค่ำ เป้าหมายคือไม่ให้เรือดำน้ำเยอรมันสังเกตเห็นเรือที่จะออกจากท่าแล้วโจมตีเรือเหล่านั้น การดับไฟกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในเมืองและลามไปทั่วประเทศ แม้แต่เมืองที่อยู่ไกลจากท่าเรือก็ตาม ทำให้พลเรือนในอเมริกันมีส่วนร่วมกับความขัดแย้งที่มองไม่เห็นเกิดความร่วมแรงร่วมใจจนสร้างแรงกระเพื่อมให้คนในทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนในการต่อสู้สงคราม แม้แต่บริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ ก็หันไปผลิตอุปกรณ์สำหรับกองทัพ วงการภาพยนตร์ก็มาช่วยทำหนัง สารคดี ส่งเสริมความรู้สึกรักชาติ
แม้ว่า กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อชัยชนะของสงคราม แต่ในทางกลับกันหากไม่มีกิจกรรมเหล่านี้ก็อาจทำให้ไม่สามารถชนะสงครามได้
การรณรงค์เรื่องโลกร้อนก็เช่นกัน ช่วยเล็กน้อยแม้ไม่ใช่แก่นแต่ละเลยไม่ได้.เปรียบเทียบการเล่นเวฟในสนามเบสบอล เหมือนบรรทัดฐานทางสังคมต่อให้คนเข้าร่วมจะกระตือรือร้นอยากเล่นแค่ไหนก็ต้องรอให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันก่อนถึงจะเริ่มเล่นได้เรื่องหลายหลายเรื่องใช้เวลาสะสมอย่างเช่น เทศกาลแต่งกิ๊ฟวิ่งใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จแต่สำเร็จแล้วใครจะให้หยุดคงยาก บรรทัดฐานเหล่านี้ต้องถูกทำให้มันง่ายอย่างเช่นเทศกาลแต่งกิ๊ฟวิ่งมันเป็นไปได้เพราะมีวันหยุดที่ช่วยให้การเฉลิมฉลองเป็นไปได้
หรือตัวอย่างเคสของการทำวัคซีนโปลิโอ ที่โรคโปลิโอ จริงๆ มีอีกชื่อหนึ่งคือ “อัมพาตในทารก” (Infantile paralysis) ทำให้คนเข้าใจผิดว่ามีเพียงทารกและเด็กอ่อนเท่านั้นที่เป็นกลุ่มเสี่ยง การณรงค์ทำความเข้าใจเรื่องนี้จึงไม่ง่าย คนทำวัคซีนอย่าง โจนาส ซอล์กที่ทำวัคซีนเชื้อตายแม้จะสำเร็จในลิงแล้ว แต่การทดสอบกับมนุษย์ไม่ง่าย ในช่วงต้น เขาจึงใช้ตัวเอง ภรรยาและลูกชายอีกสามคนในการทดลองวัคซีน แม้ไม่มีการรับประกันอะไรว่าวัคซีนปลอดภัยจริงแต่ในช่วงต้นก็มีคนเกือบ 2 ล้านคนยินดีที่จะเป็นผู้บุกเบิกวัคซีนโปลิโอ
อย่างที่บอกว่า ชื่อของโรค มันทำให้คนเข้าใจผิด อัตราการฉีดในวัยรุ่นจึงต่ำมาก ทำให้ต้องรณรงค์หลายอย่าง จนกระทั่ง เอลวิส เพรสลีย์ ที่สนับสนุนโครงการนี้ด้วยการไปถ่ายรูปตอนฉีดวัคซีนโปลิโอทำให้ภาพถ่ายนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศ ทำให้คนมักยกเหตุการณ์นี้ว่ามีสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนฉีดวัคซีนอย่างมหาศาล แม้ว่าพลังของดาราจะสร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลในแง่ของความตื่นตัวในการสร้างความในการสร้างภูมิคุ้มกันก็จริง แต่นักประวัติศาสตร์ก็บอกว่าตัวแปรสำคัญอย่างแท้จริงมาจากกลุ่มวัยเด็กวัยรุ่นเองได้ก่อตั้งกลุ่มวัยรุ่นต้านโปลิโอเข้าไปรณรงค์แบบเคาะประตูบ้าน จัดงานเต้นรำที่อนุญาตให้เฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้าร่วม นี่เลยเป็นเหตุการณ์แรกๆ ที่แสดงถึงพลังของวัยรุ่นในการทำความเข้าใจและสื่อสารกับคนรุ่นเดียวกัน
เรื่องนี้ เขาพยายามอธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงในสังคมในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องโลกร้อน ต้องพยายามให้เกิดจากปฏิกิริยาห่วงโซ่หลายห่วงทำงานพร้อมกัน ต่างต้องพยายามทำให้เกิดวงจรสะท้อนกลับไปกลับมา เขาพยายามอธิบายเพิ่มว่าไม่มีองค์ประกอบใดเพียงอย่างเดียวที่เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเดียวของการเกิด พายุฮอริเคน ภัยแล้ง ไฟป่า ซึ่งก็เหมือนกับ “การทำให้คนเลิกสูบบุหรี่” เช่นกัน แต่ทุกองค์ประกอบล้วนสำคัญและมีความหมายที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง และนี่แปลว่าทุกคนต้องช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งของวงจรนี้ด้วย
และปัญหาของเรื่องการรณรงค์เรื่องมันยากขึ้นไปอีกตรง เรื่องนี้ คนส่วนใหญ่พอรู้ พอทราบ แต่รู้แล้วยังไงต่อล่ะ ซึ่งประโยคที่เด็ดที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับผมคือ “น่าเสียดายนะแทนที่จะมีคนกลุ่มน้อยที่ไม่ชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เรากลับมีคนกลุ่มใหญ่ที่เชื่อ แต่ไม่คิดจะทำอะไร”
ในภาวะของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่าง #Climatechange” ที่นักวิทยาศาสตร์พยายามสื่อสารว่า เรียกว่า Change เฉยๆ ไม่ได้แล้ว มันต้องเรียกว่า #ClimateCrisis ได้แล้ว ซึ่งก็น่าสนใจนะครับว่า Crisis จริงๆ แล้ว รากของคำนี้มาจาก กรีก ที่แปลว่า “ตัดสินใจ” และตรงมากๆ ว่า เราคงต้อง ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างจริงๆ จังๆ แล้วล่ะ
ใครสนใจลองอ่านดูนะครับ เล่มนี้มีคำตอบว่า ต้องทำอะไรและแรงระดับไหนถึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ
by kokoyadi | Apr 4, 2022 | Read
Amarin How to / 355 บาท
หนังสือเล่มนี้มีสองส่วน ส่วนแรกเป็นการรวบรวมการพูดในที่ต่างๆ ของ เกรต้า ธุนเบิร์ก ในช่วงปี 2018 หลังจากที่เธอหยุดเรียนประท้วงเรื่องสภาพภูมิอากาศที่นอกรัฐสภาสวีเดน จนถึงปลายปี 2019 รวม 16 ครั้ง ในเวลาเพียง 13 เดือนเท่านั้น
ส่วนที่สองเป็นข้อเขียนที่ครอบครัวของเธอร่วมกันเขียนขึ้น โดยเฉพาะแม่ของเธอที่เล่าเรื่องต่างๆ ที่ทำให้เรารู้จักครอบครัว และตัวตนของเธอมากขึ้น
อย่างเช่นครอบครัวของเกรต้าที่คุณแม่เป็นนักร้อง Opera คุณพ่อเป็นมือเบสซึ่งทั้งสองนิยามตัวเองว่าเป็นคนทำงานด้านวัฒนธรรม Cultural worker ซึ่งทำงานอย่างมี passion ในงานที่ทำ สนใจประเด็นซีเรียสอย่างสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และผู้อพยพ รวมถึงการอ่านหนังสือประเภทต่างๆทางสังคมวัฒนธรรมที่ช่วยหล่อหลอมวิธีคิดให้ลูกของเธอทั้งสองคนทั้งกีตาร์และบีเอสต้า
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตของเกรต้าในวัย 11 ปีที่มีปัญหาด้านการกินอาหาร คือทานอาหารอะไรไม่ได้เป็นเวลากว่าสองเดือน ทำให้น้ำหนักจากเดิมที่ไม่มากอยู่แล้วลดลงไปกว่า 10 กิโล ส่งผลต่อปัญหาทางร่างกายทำให้อุณหภูมิร่างกายต่ำชีพจรความดันเลือดก็มีปัญหาต้องส่งตัวเข้าโรงพยาบาลดูแลปัญหาทางร่างกายและรวมถึงการวินิจฉัยสภาพทางจิตของเธอ
ในช่วงนั้นนักจิตวิทยาก็บอกกับแม่ของเธอว่าเกรต้ามีอาการ “แอสเพอร์เกอร์ซินโดรมแบบศักยภาพสูง” ซึ่งก็เป็นกลุ่มออทิสติกรูปแบบหนึ่งที่คนมีภาวะแบบนี้จะมีความสามารถพิเศษสูงในบางเรื่อง มีพัฒนาการไม่ต่างจากเด็กปกติ แต่จะมีปัญหาเรื่องปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นซึ่งในช่วงนั้น เกรต้าก็จะไม่พูดคุยกับใครเลย จะพูดคุยผ่านพ่อแม่เท่านั้น
ซึ่งปัญหาแบบที่เกรต้าเป็นอยู่ในโรงเรียนก็ยอมเป็นเรื่องแปลกสำหรับเพื่อนๆ และ แน่นอนเธอถูกแกล้งอย่างรุนแรง
ในอีกมุมนึงเกรต้าเป็นเด็กฉลาดเธอมีความทรงจำแบบภาพถ่าย มีความสามารถในการจำชื่อเมืองหลวงทั้งโลก ตารางธาตุ และอะไรที่เธอสนใจอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนกระทั่งเธอสนใจทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนเอาคำตำหนิพ่อของเธอว่า “พ่อเพิ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไป 2.7 ตันจากการบินไปโน้นแล้วกลับมา นั่นเท่ากับการปล่อยก๊าซทั้งปีของคนห้าคนในเซเนกัล” จนในที่สุด ครอบครัวนี้ก็เลี่ยงการเดินทางด้วยเครื่องบิน และใช้รถยนต์ไฟฟ้าและเรือในการเดินทางข้ามประเทศแทน
ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เกรต้าเท่านั้น แต่บีเอต้าน้องของเธอ ก็มีปัญหาโรคสมาธิสั้น ย้ำคิดย้ำทำ โรคดื้อต่อต้าน และมีอาการแอสเพอร์เกอร์ซินโดรมด้วย คือยิ่งอ่านแล้วก็ยิ่งเห็นใจครอบครัวเธอมากๆ ซึ่งก็ด้วยความสตรองของคุณแม่ก็พยายามหาทางออกในหลายๆ ทางแม้แต่การเข้าฟังงานบรรยายด้านจิตเวชวัยรุ่น ทำให้เราได้รู้ว่า ความไม่เท่าเทียมทางเพศของการศึกษาทางจิตเวชในวัยรุ่นเป็นอย่างไร เพราะการวินิจฉัย การประเมินการรักษา และข้อมูลต่างๆ ถูกอ้างอิงมาจากเด็กผู้ชายเท่านั้น
แต่หนังสือก็ไม่ได้เศร้าขนาดนั้น เพราะก็มีเบื้องหลังฉากสำคัญที่เกรต้าหยุดเรียนประท้วง โดยการเตรียมตัวศึกษา พูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ผ่านพ่อแม่ของเธอ การทำวิจัยฉบับย่อยๆ ว่าสื่อมวลชนรายงานข่าวเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศมากแค่ไหน และรวมถึงการเตรียมป้ายหยุดเรียนประท้วงด้วยเงินเพียง 20 โครนา (71 บาท) แต่เขย่าให้โลกฟังเธอ
นี่ คือ ภาพแรกที่เกรต้า หยุดเรียนและนั่งประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศ โดยมือถือของเธอที่ขอให้คนที่เดินผ่านคนหนึ่งช่วยถ่ายรูปให้
ใครสนใจลองหาอ่านได้ครับ และกำไรของหนังสือเล่มนี้ เกรต้าและครอบครัวจะมอบให้องค์กรการกุศลต่างๆ แปดแห่งที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เด็กที่เป็นโรค และสิทธิสัตว์ด้วย
by kokoyadi | Apr 3, 2022 | Read
สนพ. Sophia – บิล เกตส์ เขียน มันตา คลังบุญคลอง แปล
เล่มนี้ชอบมากอ่านแล้วเปิดโลกดี เพราะเรื่อง “Climate disaster” หรือ “โลกรวน” สำหรับเราจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ยากมากในการทำความเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อนระดับโลก แต่ตั้งแต่บทเริ่มต้นของหนังสือพยายาม บิล เกตส์ ทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้ผ่านตัวเลขสองตัวคือ 51,000 ล้านตัน ที่เป็นปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้นทุกๆ ปี กับเลข 0 ที่เป็นเป้าหมายที่เราต้องลดลงให้ได้
อันที่จริงตัวเลข 51,000 ล้านตัน คืออะไรเราไม่มีทางนึกออกหรือจินตนาการได้เลย แต่หนังสือเล่มนี้พยายามค่อยๆ ฉายภาพเปรียบเทียบให้เราเห็นว่าเราต้องดีลกับ อะไรบ้างในแต่ละเรื่องและแต่ละเรื่องมีความยากและซับซ้อนแตกต่างกันระดับไหน
ตัวอย่างเช่น เวลามีคนบอกว่าอุตสาหกรรมบางอย่างเปลี่ยนวิธีการใช้พลังงานทำให้ลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอุตสาหกรรมได้ถึง 17 ล้านตัน มันก็ฟังดูเยอะดีใช่ไหม แต่เค้าบอกว่าลองเอา 51,000 ล้านตัน ไปหารดูแล้วจะรู้ว่ามันช่วยโลกได้มากน้อยแค่ไหน ความเป็นจริงคือ 0.03% ของที่พูดมา นั่นแปลว่าอะไร อาจจะดีก็ได้ถ้ามันมีศักยภาพพัฒนาได้ดียิ่งๆ ขึ้นไป แต่ถ้าตัวเลขมันหยุดแค่ 17 ล้านตันแค่นั้นมันอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรเลยก็ได้
และโครงของหนังสือเล่มนี้ เอาตัวเลข 51,000 ล้านตัน เป็นตัวตั้ง แล้วอธิบายว่า…
27% คือ การใช้ไฟฟ้าและทิศทางมันเป็นยังไง เราควรจัดการยังไงกับมันต่อในแง่ของพลังงานต่างๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ชีวมวล ก๊าซ นิวเคลียร์
35% คือ การผลิตสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต ตั้งแต่ ซีเมนต์ เหล็ก พลาสติก
19% คือ การเพาะปลูกต่างๆ ทั้งภาคเกษตรอุตสาหกรรมสัตว์
16% คือ การเดินทางในทุกรูปแบบของมนุษย์ทั้งรถยนต์ เรือ เครื่องบิน
และ 7% สุดท้ายที่แยกออกมาสำหรับเรื่องการดับร้อนและคลายหนาวของมนุษย์อย่างเดียวคือการใช้แอร์และเครื่องทำความร้อนต่างๆ
ซึ่งในแต่ละเรื่องที่ว่ามา ก็มีความเฉพาะตัวมากๆ เช่นเรื่อง เช่นการผลิตพลังงานไฟฟ้า แหล่งพลังงานที่แตกต่างกันมันใช้พื้นที่ต่างกัน อย่างฟาร์มโซล่าใช้พื้นที่มากกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเกือบ 50 เท่า ส่วนฟาร์มกังหันลมใช้พื้นที่มากกว่าฟาร์มโซล่าเป็น 10 เท่า
บางเรื่องเป็นเรื่องของราคาที่จัดการยาก เพราะราคาที่เราใช้อยู่มันมีราคาถูกมาก เมื่อเทียบราคาแบบกรีนพรีเมี่ยมที่ต้องจ่ายเพิ่มสำหรับช่วยลดคาร์บอน ตลาดให้ใส่ใจความกรีนแต่แพงมันแทบเป็นไปไม่ได้เลย จึงต้องเร่งหากลไกด้านนโยบายและนวัตกรรมเป็นตัวช่วยสำคัญในการจัดการ
หรืออย่าง ปัญหา “มีเทน” ที่เป็นก๊าสเรือนกระจกตัวสำคัญที่มาจากจาก อึ เรอ ตด ของวัว อันนี้ก็ตลกดี พันธุ์วัวในแอฟริกาครองแชมป์ปล่อยก๊าซมีเทนมากกว่าวัวในแถบอเมริกา วัวในยุโรปปล่อยน้อยที่สุดเพราะมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ลำไส้ผลิตมีเทนได้น้อยกว่า หรือบางแห่ง นักวิทยาศาสตร์พยายามให้ฉีดยาให้วัวเพื่อลดแบคทีเรียที่ผลิตมีเทนในลำไส้ของวัว
ที่น่าสนใจสำหรับผม คือ บิล เกสต์ พยายามชี้ให้เห็นว่า คนรวยและคนรายได้ปานกลาง คือ กลุ่มที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนมากที่สุด แต่คนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด กลับเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งที่คนกลุ่มนี้มีส่วนในการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยที่สุด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายในการช่วยเหลือกลุ่มเปาะบางต่างๆ การบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภูมิอากาศแปรปรวน และในทางการเมืองเรื่องโลกร้อนมันเลยจัดการไม่ง่ายในเชิงสร้างที่เกี่ยวพันกับชนชั้นทั้งทางสังคม และชนชั้นมุมที่ระดับประเทศแบบประเทศรวย/จน ที่ต้องการเร่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วย