Homo Gaia มนุษย์กาญ่า ฟื้นสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ที่มนุษย์เรานั้นเป็นส่วนหนึ่งเสมอมา

Homo Gaia มนุษย์กาญ่า ฟื้นสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ที่มนุษย์เรานั้นเป็นส่วนหนึ่งเสมอมา

สรณรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์ เขียน salt พิมพ์

พี่อ้อย หรือ ดร.สรณรัชฏ์ เป็นนักนิเวศวิทยา ทำงานสื่อสารเรื่องราวธรรมชาติหลายสิบปี แต่หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ตั้งใจเขียนเป็นหนังสือเล่มอย่างจริงจัง และเวลาผมอ่านมีหลายช่วงที่เหมือนเสียงพี่อ้อยลอดออกมาจากหนังสือเลย 

มีตอนหนึ่งในหนังสือพูดถึง เวลาที่คนบางกลุ่มมักจะนิยาม “สัตว์เดรัจฉาน” ว่าเป็นสัตว์ที่ไร้จิตสำนึก ไม่ฉลาดเหมือนมนุษย์ “ได้แต่กินขี้ปี้นอน ไม่มีศีลธรรม ไม่มีวัฒนธรรม ไม่สามารถพัฒนาจิตใจได้เหมือนมนุษย์ผู้ที่สามารถฝึกตนเป็นสัตว์ประเสริฐได้” เราเดาออกเลยว่าเสียงพี่อ้อยจะมีอารมณ์แบบไหน ในการพูดและเขียนว่า “ฉันไม่มีความรู้หรอกว่าสัตว์สามารถพัฒนาจิตใจ ได้ถึงขั้นเข้าสู่นิพพานได้หรือไม่ และฉันก็ไม่สนใจจะถกเถียงด้วย ฉันไม่มีความรู้เรื่องนิพพาน และไม่รู้จักสัตว์มากเพียงพอ คนที่ดูแคลนสัตว์ก็เช่นกัน ฉันพบว่าคนที่พูดจาแบบนี้ช่างไม่รู้แทบไม่รู้จักสัตว์เลย”

จากนั้นพี่อ้อยก็ชวนเราทำความรู้จักเรื่อง conscious จิตรู้สำนึก หรือจิตที่มีการรับรู้และรู้สึกอะไรบางอย่างได้ โดยมองมันทั้งในมุมของมนุษย์และในมุมของสัตว์ต่างๆ ตั้งแต่ วาฬหลังค่อม ลิงหิมะญี่ปุ่น หมาป่า และหมาบ้านที่มีความแตกต่างแบบที่ถ้าเราไม่เปิดผัสสะของการสังเกตและเรียนรู้ ก็จะไม่เคยรู้จักและเข้าถึงได้เลย

ผัสสะ สำหรับพี่อ้อย คือ เครื่องมือที่สิ่งมีชีวิตใช้รับรู้ความเป็นไปในโลกรอบตัว สำหรับมนุษย์ที่เกิดและโตในเมือง“ผัสสะ” ถูกจำกัดและใช้อย่างแคบลงจนเราไม่รู้จักโลกรอบตัวที่มีอยู่กว้างพอ ในหนังสือเล่มนี้ยังช่วยให้เราพยายามฝึกผัสสะหลายๆ เรื่อง อย่างเช่น ตา ที่ข้อมูลจากโลกภายนอก 80% มาจากสัมผัสที่เราใช้ตาเพื่อรับภาพ มนุษย์ถูกสอนแค่โฟกัสในสิ่งที่อยู่ข้างหน้าและประเมินระยะแบบเลนส์เทเลโฟโต้เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเรามีเลนส์วายแองเกิลที่เราไม่ค่อยใช้ในชีวิต เลนส์แบบนี้คล้ายกับเราสวมสายตาของนกฮูกที่มันเห็นได้กว้างมาก เราควรฝึกดึงศักยภาพตานกฮูกในตาของเราออกมา

อีกอันหนึ่งที่สนุกดี คือเรื่องการเดิน ให้เดินอย่างหมาจิ้งจอก เพราะเวลามันเดิน มันไม่สร้างแรงสั่นสะเทือนใดๆ ทำให้มันล่าเหยื่อได้เยอะ  การเดินของมนุษย์ส่วนใหญ่มีแรงกระแทกเยอะ ส่งผลไม่ดีต่อข้อต่างๆ ในร่างกาย วิธีการคือให้เดินปิดหูแล้วลองสังเกตว่าเราเดินอย่างไร ใช้ส่วนไหนของฝ่าเท้าลงพื้น และมีแรงกระแทกจนเกิดเสียงมากน้อยแค่ไหน 

แน่นอนที่แอบยกมาเล่าให้ฟัง คงเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่พี่อ้อยพยายามเปิดผัสสะการรับรู้ทางร่างกาย และพาไปถึงระดับวิธีคิด จิตวิญญาณที่ฉุดและดึงให้พวกเรากลับมาเป็นมนุษย์กาญ่า ที่ต้องออกห่างจากความเป็นโฮโม เซเปียนส์ดำรงชีวิตของเผ่าพันธุ์ตัวเองไปพร้อมกับการบดขยี้ธรรมชาติและเพื่อนร่วมสายพันธ์ุต่างๆ ในระดับวินาศสันตะโร 

ใครสนใจหาอ่านได้จาก สำนักพิมพ์ Salt นะครับ และแนะนำมากๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังเลี้ยงลูกเล็กแบบตั้งคำถามเก่งๆ นะครับ เราจะมี story และบททดสอบที่จะทำให้กิจกรรมนอกบ้าน ในสวน สนุกกว่าในบ้านและในห้างครับ

โลกละลาย: เมื่อมนุษย์ไม่อาจอาศัยอยู่บนโลกได้อีกต่อไป

โลกละลาย: เมื่อมนุษย์ไม่อาจอาศัยอยู่บนโลกได้อีกต่อไป

David Wallace-Well เขียน | ณิชาภา ชิวะสุจินต์ แปล | Cactus พิมพ์ 

เล่มนี้เป็นหนังสือที่ฉายภาพปัญหาโลกร้อนได้สยดสยองมาก และโดยเฉพาะความเก่งกาจในการเปรียบเทียบตัวเลขที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของโลกร้อนกับเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ เช่น ถ้าดูแค่เรื่องมลพิษทางอากาศเพียงสาเหตุเดียวนะ จะมีประชากร 150 ล้านคนทั่วโลกที่เสียชีวิตด้วยอาการต่างๆ เพียงแค่โลกร้อนขึ้น 2 องศา ตัวเลขแบบนี้อาจไม่แน่ใจว่ามันใหญ่แค่ไหนเค้าบอกว่าเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลก 25 ครั้ง นี่ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกเหรอ 

หรือ โลกเคยเจอ “ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในยุโรป” ที่จริงๆ ก็มาจากผลของสงครามที่เกี่ยวพันโลกร้อนและความแห้งแล้งช่วงปี 2011 นั่นแหละ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้าเกิดน้ำท่วมในบังกลาเทศจริงอย่างที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่ายังไงก็เกิด เหตุการณ์ในเอเชียใต้จะส่งผลต่อผู้คนมากกว่า 10 เท่า และไม่ได้เกิดที่เอเชียเท่านั้น แต่ประเทศรวมถึงแถบลาติน อาแฟริกา ด้วยรวมๆ แล้วจะส่งผลต่อคนกว่า 150 ล้านคน ซึ่งใหญ่กว่า ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ถึงร้อยเท่า แล้วโลกจะปั่นป่วนแค่ไหน 

ปรากฏการณ์โลกละลาย จะป่วนโลกในทุกระดับ 

อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จะส่งผลต่อการปลูกข้าวโพดทำให้ผลผลิตลดลงโดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้นำผลิตข้าวโพดอย่าง สหรัฐฯ จีน อาร์เจนตินา บราซิลและเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 4 องศาผลผลิตจะลดลงอย่างน้อยหนึ่งในห้าของทั้งหมด

“ภัยแล้ง” จะเกิดขึ้นในวงกว้างจนเป็นภัยต่อการผลิตอาหาร เนื่องจากพื้นดินที่เหมาะกับการเพาะปลูกจะหายไปเป็นทะเลทรายอย่างรวดเร็ว พื้นที่เกษตรถูกจำกัดลง ผลผลิตก็จำกัดลงด้วย ในอีกด้านพายุฝนและปริมาณน้ำฝนจะทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พื้นที่ที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำต่างๆจะกลายเป็นจะไม่สามารถใช้ได้ในอนาคต ผลคือ ประชากรในกลุ่มยากจนส่วนใหญ่เกิดภาวะขาดสารอาหารซ่อนเร้น ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกมากกว่า 1,000 ล้านคน และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นสำหรับประเทศยากจน 

มีนักวิจัยไปสำรวจปริมาณโปรตีนในข้าว 18 สายพันธุ์พบว่าคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณสารอาหารทุกอย่างลดลง ตั้งแต่โปรตีน ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามิน B1, B2, B5 และ B9 

ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 2 เมตรแน่นอนแม้ว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามเป้าหมาย 2 องศาก็ตาม แต่ว่าหากทำไม่สำเร็จระดับน้ำทะเลจะสูงกว่านั้น คือ 6 เมตร จนคนเขียนเรียกว่า “ทะเลจะกลายเป็นนักฆ่า” 

อีกไม่นาน (หรือว่าเกิดแล้วก็ไม่รู้) คือ ประชากร 5% ของโลกจะเจอน้ำท่วมทุกปี ตัวอย่างอย่างจาการ์ตาที่เคยเป็นเมืองเติบโตเร็วที่สุด แต่ในปี 2050 ประชากรกว่า 10,000,000 จะต้องไปเสี่ยงกับน้ำท่วม

คำถามสำคัญ คือ โลกมนุษย์จะปรับตัวเข้ากับ "แนวชายฝั่งแห่งใหม่" ได้อย่างไร ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับระดับความเร็วของน้ำที่เพิ่มขึ้นและความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ 

นักวิทยาศาสตร์เสนอศัพท์ใหม่ คือ “sunny day flooding – น้ำท่วมวันแดดออก” หมายถึง ปรากฏการณ์ที่น้ำขึ้นเพียงอย่างเดียวก็ทำให้น้ำท่วมเมืองโดยไม่ต้องอาศัยปริมาณจากน้ำฝนพายุเลย

สำหรับ มหาสมุทร ที่ทำหน้าที่ดูดซับ ทั้ง “คาร์บอน” และ “ความร้อนส่วนเกิน” ซึ่งปริมาณคาร์บอนมากกว่า 1 ใน 4 ที่มีอยู่ในทะเลตอนนี้ เกิดขึ้นจากที่มนุษย์ปล่อยออกมาในช่วง 50 ปีหลังนี้เอง ส่วนความร้อนส่วนเกินจากภาวะโลกร้อนมากกว่า 90% ก็มาจบที่มหาสมุทรในการดูดซับมัน ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดปรากฎการณ์ “ทะเลกรด”  

โดยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำทะเลที่ไม่มีออกซิเจนเพิ่มขึ้นทั่วโลกกว่า 4 เท่า ทำให้โลกมีพื้นที่มรณะทางทะเลมากกว่า 400 แห่ง พื้นที่ขาดออกซิเจนดังกล่าวรวมมากกว่าหลาย 1 ล้านตารางกิโลเมตรเทียบเท่ากับพื้นที่ของทวีปยุโรปทั้งหมด เมืองชายฝั่งต่างๆ ที่ติดอยู่กับมหาสมุทรมีปริมาณออกซิเจนต่ำและเหม็นเน่าเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้นทำให้กักเก็บออกซิเจนได้น้อยลง 
แล้วทะเลกรดก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นก็จะไปทำลายปะการังฟอกขาวแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลรวมถึงทำลายห่วงโซ่ของมันซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะวนมาที่สัตว์ทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ครึ่งองศา ทำให้เกิดความขัดแย้งทางตรงที่มีอาวุธเข้ามาเกี่ยวข้องได้มากขึ้นถึง 10 ถึง 20% ความเสี่ยงของสงครามที่เกิดจากโลกร้อนจริงๆ แล้วอาจมีผลมาจากการแย่งชิงทรัพยากรตัวอย่าง เช่น กองทัพอเมริกา หันมาสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนเพนตากอนประเมินอันตรายจากสภาพภูมิอากาศและพยายามวางแผนรับมือความขัดแย้งที่เป็นผลมาจากโลกร้อน 

อีกมุมหนึ่ง ที่น่าสนใจมาก คือ ผลจากโลกละลายยังส่งผลต่อเด็กทั้งร่างกายและจิตใจ ตัวอย่างที่เวียดนาม อินเดีย เอกวาดอร์ ฝนตกน้ำท่วม อุณหภูมิสุดโต่ง และความแปรปวนของสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีนักเรียนที่เข้าเรียนได้ช้ากว่าเกณฑ์ ส่งผลทำให้ผลการเรียนก็ไม่ดี และยิ่งส่งผลมาต่อครอบครัวยากจน เพราะผลจากการขาดสารอาหารเรื้อรังกระทบต่อความสามารถในการคิดลดลง ความเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น

มีการวิจัยที่พบว่าในช่วงเก้าเดือนที่ทารกอยู่ในครรภ์ หากมีวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 90 องศามากเท่าไหร่ รายได้ตลอดชีวิตของเขาก็จะลดลงจนสามารถวัดผลกระทบได้ และจะสะสมจนส่งผลต่อชีวิตในภายหลัง นอกจากนี้ การศึกษาในไต้หวัน แคนาดา และเม็กซิโก พบว่าปริมาณมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นแต่ละหน่วยสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์มากถึงสองเท่า

สำหรับผลต่อจิตใจ ตอนที่เฮอริเคนแอนดรูว์โจมตีฟลอริดาในปี 1992 แม้มีผู้เสียชีวิตไม่มาก แต่เด็กครึ่งหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์นั้นได้รับการประเมินว่า กระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจในระดับปานกลาง-รุนแรง โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เป็นเพศหญิงจะมีอาการที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างร้ายแรงมากกว่าเพศชายและเมื่อยิ่งเกิดผลกระทบจากพายุนานยิ่งขึ้นจะเจอปัญหาภาวะซึมเศร้า ความเครียด มากจนมีสิ่งที่นักวิจัยค้นพบว่าเกิด “ความคิดพยาบาท” แต่หนังสือก็ไม่ได้เราเพิ่มเติมว่าพยาบาทใครหรืออะไร ในระดับของความรุนแรงต่อเด็กและวัยรุ่นจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในรายที่มีอาการรุนแรง เขาเปรียบเทียบว่า ผลของมันรุนแรงพอๆ กับทหารที่กลับจากสงครามที่มีภาวะป่วยทางจิตเลยทีเดียว 

อันนี้ ที่เล่ามาทั้งหมด คือ ส่วนหนึ่งของความสยองที่เราจะต้องเผชิญในโลกก่อนปี 2100 นี้เท่านั้น เชื่อมั้ยครับว่า หนังสือเขาเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันประเทศที่ลงนามความตกลงปารีสมีจำนวน 195 ราย แต่มีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่ทำได้ตามข้อกำหนด

ใครสนใจเรื่องนี้ ก็ชวนอ่านกันครับ เพราะโลกละลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความหมายของภาวะโลกร้อนที่มีต่อวิถีชีวิตของเราบนโลก ปัญหานี้เป็นวงจรผลสะท้อนกลับ หลากหลาย ซับซ้อนและย้อนแย้ง และถูกครอบด้วยความไม่แน่นอน นี่แหละครับความจริงที่น่ากลัวของมัน

เราคือ ภูมิอากาศ ภารกิจกู้โลกเริ่มต้นได้ตั้งแต่มื้อเช้า

เราคือ ภูมิอากาศ ภารกิจกู้โลกเริ่มต้นได้ตั้งแต่มื้อเช้า

Jonathan Safran Foer เขียน พลอยแสง เอกญาติ แปล Cactus Publishing พิมพ์

หนังสือเล่มนี้คนเขียนเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ ได้เก่งมาก เค้าพยายามพูดถึงเรื่องการต่อสู้กับเรื่องปัญหาโลกร้อนโยงกับเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ การฆ่าตัวตาย การต่อสู้สิทธิของกลุ่มคนผิวสี การเล่นเวฟในสนามเบสบอล ว่าทุกอย่างมันพันกับโลกร้อนยังไง

อย่างเรื่องเล่าจากเหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขายกเรื่องที่ชาวอเมริกันตามเมืองชายฝั่งพยายามช่วยกันปิดไฟช่วงค่ำ เป้าหมายคือไม่ให้เรือดำน้ำเยอรมันสังเกตเห็นเรือที่จะออกจากท่าแล้วโจมตีเรือเหล่านั้น การดับไฟกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในเมืองและลามไปทั่วประเทศ แม้แต่เมืองที่อยู่ไกลจากท่าเรือก็ตาม ทำให้พลเรือนในอเมริกันมีส่วนร่วมกับความขัดแย้งที่มองไม่เห็นเกิดความร่วมแรงร่วมใจจนสร้างแรงกระเพื่อมให้คนในทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนในการต่อสู้สงคราม แม้แต่บริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ ก็หันไปผลิตอุปกรณ์สำหรับกองทัพ วงการภาพยนตร์ก็มาช่วยทำหนัง สารคดี ส่งเสริมความรู้สึกรักชาติ

แม้ว่า กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อชัยชนะของสงคราม แต่ในทางกลับกันหากไม่มีกิจกรรมเหล่านี้ก็อาจทำให้ไม่สามารถชนะสงครามได้

การรณรงค์เรื่องโลกร้อนก็เช่นกัน ช่วยเล็กน้อยแม้ไม่ใช่แก่นแต่ละเลยไม่ได้.เปรียบเทียบการเล่นเวฟในสนามเบสบอล เหมือนบรรทัดฐานทางสังคมต่อให้คนเข้าร่วมจะกระตือรือร้นอยากเล่นแค่ไหนก็ต้องรอให้ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันก่อนถึงจะเริ่มเล่นได้เรื่องหลายหลายเรื่องใช้เวลาสะสมอย่างเช่น เทศกาลแต่งกิ๊ฟวิ่งใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จแต่สำเร็จแล้วใครจะให้หยุดคงยาก บรรทัดฐานเหล่านี้ต้องถูกทำให้มันง่ายอย่างเช่นเทศกาลแต่งกิ๊ฟวิ่งมันเป็นไปได้เพราะมีวันหยุดที่ช่วยให้การเฉลิมฉลองเป็นไปได้

หรือตัวอย่างเคสของการทำวัคซีนโปลิโอ ที่โรคโปลิโอ จริงๆ มีอีกชื่อหนึ่งคือ “อัมพาตในทารก” (Infantile paralysis) ทำให้คนเข้าใจผิดว่ามีเพียงทารกและเด็กอ่อนเท่านั้นที่เป็นกลุ่มเสี่ยง การณรงค์ทำความเข้าใจเรื่องนี้จึงไม่ง่าย คนทำวัคซีนอย่าง โจนาส ซอล์กที่ทำวัคซีนเชื้อตายแม้จะสำเร็จในลิงแล้ว แต่การทดสอบกับมนุษย์ไม่ง่าย ในช่วงต้น เขาจึงใช้ตัวเอง ภรรยาและลูกชายอีกสามคนในการทดลองวัคซีน แม้ไม่มีการรับประกันอะไรว่าวัคซีนปลอดภัยจริงแต่ในช่วงต้นก็มีคนเกือบ 2 ล้านคนยินดีที่จะเป็นผู้บุกเบิกวัคซีนโปลิโอ

อย่างที่บอกว่า ชื่อของโรค มันทำให้คนเข้าใจผิด อัตราการฉีดในวัยรุ่นจึงต่ำมาก ทำให้ต้องรณรงค์หลายอย่าง จนกระทั่ง เอลวิส เพรสลีย์ ที่สนับสนุนโครงการนี้ด้วยการไปถ่ายรูปตอนฉีดวัคซีนโปลิโอทำให้ภาพถ่ายนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศ ทำให้คนมักยกเหตุการณ์นี้ว่ามีสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนฉีดวัคซีนอย่างมหาศาล แม้ว่าพลังของดาราจะสร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลในแง่ของความตื่นตัวในการสร้างความในการสร้างภูมิคุ้มกันก็จริง แต่นักประวัติศาสตร์ก็บอกว่าตัวแปรสำคัญอย่างแท้จริงมาจากกลุ่มวัยเด็กวัยรุ่นเองได้ก่อตั้งกลุ่มวัยรุ่นต้านโปลิโอเข้าไปรณรงค์แบบเคาะประตูบ้าน จัดงานเต้นรำที่อนุญาตให้เฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้าร่วม นี่เลยเป็นเหตุการณ์แรกๆ ที่แสดงถึงพลังของวัยรุ่นในการทำความเข้าใจและสื่อสารกับคนรุ่นเดียวกัน

เรื่องนี้ เขาพยายามอธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงในสังคมในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องโลกร้อน ต้องพยายามให้เกิดจากปฏิกิริยาห่วงโซ่หลายห่วงทำงานพร้อมกัน ต่างต้องพยายามทำให้เกิดวงจรสะท้อนกลับไปกลับมา เขาพยายามอธิบายเพิ่มว่าไม่มีองค์ประกอบใดเพียงอย่างเดียวที่เป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเดียวของการเกิด พายุฮอริเคน ภัยแล้ง ไฟป่า ซึ่งก็เหมือนกับ “การทำให้คนเลิกสูบบุหรี่” เช่นกัน แต่ทุกองค์ประกอบล้วนสำคัญและมีความหมายที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง และนี่แปลว่าทุกคนต้องช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งของวงจรนี้ด้วย

และปัญหาของเรื่องการรณรงค์เรื่องมันยากขึ้นไปอีกตรง เรื่องนี้ คนส่วนใหญ่พอรู้ พอทราบ แต่รู้แล้วยังไงต่อล่ะ ซึ่งประโยคที่เด็ดที่สุดของหนังสือเล่มนี้ สำหรับผมคือ “น่าเสียดายนะแทนที่จะมีคนกลุ่มน้อยที่ไม่ชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เรากลับมีคนกลุ่มใหญ่ที่เชื่อ แต่ไม่คิดจะทำอะไร”

ในภาวะของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่าง #Climatechange” ที่นักวิทยาศาสตร์พยายามสื่อสารว่า เรียกว่า Change เฉยๆ ไม่ได้แล้ว มันต้องเรียกว่า #ClimateCrisis ได้แล้ว ซึ่งก็น่าสนใจนะครับว่า Crisis จริงๆ แล้ว รากของคำนี้มาจาก กรีก ที่แปลว่า “ตัดสินใจ” และตรงมากๆ ว่า เราคงต้อง ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างจริงๆ จังๆ แล้วล่ะ

ใครสนใจลองอ่านดูนะครับ เล่มนี้มีคำตอบว่า ต้องทำอะไรและแรงระดับไหนถึงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ

The World without us – เมื่อโลกไม่มีเรา

The World without us – เมื่อโลกไม่มีเรา

Alan Weisman เขียน | สรณรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์ แปล | Salt พิมพ์

ถ้าหนังสือ sapian คือหนังสือที่สรรเสริญความสามารถของมนุษย์เซเปียนในการครอบครองโลก เล่มนี้คงเปรียบดังคำสาปแช่งของโลกต่อมนุษย์

คนเขียนพยายามวาดภาพว่า เราได้ชโลมยาพิษใส่โลกใบนี้รวมทั้งตัวเราด้วยโดยที่ไม่ตั้งใจอยู่หรือเปล่า เรายังใช้และย่ำยี น้ำและดินไปพร้อมๆ กัน พร้อมไปกับการเหยียบย่ำชีวิตต่างสายพันธุ์ต่างๆ นับ 1000 ชนิดที่คงไม่ฟื้นคืนกลับมาง่ายๆ 

หนังสือเล่มนี้จึงตั้งคำถามว่าหาเอามนุษย์ออกไปจากโลกทันทีจะเป็นอย่างไรจะใช้เวลานานแค่ไหนที่ธรรมชาติจะฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับสู่สภาพสวนสวรรค์อีเดน การรื้อเมืองและระบบสาธารณูปโภคอันมโหฬารต่างๆ การสลายพลาสติกวัสดุสังเคราะห์เป็นพิษต่างๆ ขนาดมหาศาลให้กับไปสสารพื้นฐานที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยได้อย่างไร หรือว่าสสารบางอย่างมันผิดธรรมชาติจนทำลายไม่ได้เสียแล้ว

บทแรกเล่าถึงป่าดึกดำบรรพ์ที่อยู่ระหว่างใช้แดนโปแลนด์และเบลารุสที่ต้องเผชิญหน้ากับการบุกรุกของคนบดขยี้ผ่านประวัติศาสตร์

และหลังจากนั้นคนเขียนสวม พลังวิเศษที่พาให้เราจินตนาการไปพร้อมกับเขาว่าเพียงหนึ่งวันนับจากวันที่มนุษย์หายไปจาก โลก ธรรมชาติจะกลับเข้ามายึดครองและทำความสะอาดบ้านอย่างไร บ้านที่สร้างจากไม้คอนกรีตเหล็กจะถูกน้ำกัดเซาะและทำลายยังไง เหล่าฝูงสัตว์กระรอกและแรคคูณ กิ้งก่า จะเข้าไปในบ้านของคุณและสร้างรังในกำแพงและเริ่มบทขยี้โครงสร้างต่างๆ จนมันพังทลายลง

เมืองที่ไม่มีเราจะถูกน้ำถาถม เค้าชวนเราไปดูระบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่มันเคยทำงานอยู่ต่อสู้กับแรงดันน้ำมหาศาลจากมหาสมุทร แต่เมื่อไม่มีมนุษย์อยู่ ปั๊มน้ำปิดระดับน้ำจะท่วมอุโมงค์รถไฟทั้งหมดภายใน 36 ชั่วโมง ทางน้ำใหม่ๆ จะก่อตัวขึ้น น้ำที่ขังในรถไฟใต้ดินจะทำให้เพดานอุโมงค์ถล่มลง ถนนหลายเส้นจะยุบตัวลงมันจะกลายเป็นแม่น้ำสายใหม่

วัชพืชจะบุกเมืองต้นไหมจะยึดครองในเวลาต่อมาความหลากหลายชีวภาพจะเพิ่มขึ้นเมื่อตึกรามบ้านช่องอาคารต่างๆ สุดล้มลงฟาดกันเป็นซากปรักหักพังและ ป่าคอนกรีตจะเปิดทางให้ป่าจริงเข้าครอบครอง

ให้หลังเพียง 100 ปีฝนที่ตกลงมาจะกลายเป็นฝนที่ไม่เป็นฝนกรด ต้นไม้ที่อยู่ไม่ต้องทนกับสารปนเปื้อนมากเท่าที่ช่วงที่มนุษย์ครอบครองโลกสารเคมีต่างๆ ค่อยๆ ถูกชะล้างออกไปจากระบบ ในช่วงเวลาหลายทศวรรษต่อมา พื้นที่อุตสาหกรรมจะถูกทับถมให้ฝังลึกลงไปเปิดพื้นที่ให้กล้าไม้พื้นถิ่นรุ่นต่อไปได้มีชีวิตที่ดีขึ้น

หนังสือเล่มนี้นอกจากพาให้เราจินตนาการไปถึงอนาคตแล้ว ยังพยายามอธิบายการใช้ชีวิตของมนุษย์ว่าส่งผลต่อธรรมชาติอย่างไร อย่างเรื่องพลาสติก เป็นของที่ย่อยสลายได้ยาก เมื่อมนุษย์จัดการไม่ดีพอ สุดท้ายก็จะไหลลงสู่ท่อน้ำทิ้ง สู่แม่น้ำ และตรงไปยังมหาสมุทร และสุดท้ายกลายเป็นอาหารขนาดพอดีคำสำหรับสัตว์ทะเลเล็กๆ นักวิทยาศาสตร์เก็บข้อมูลสัตว์ทะเลในมหาสมุทรรอบเกาะอังกฤษพบว่าสัตว์เกือบทุกชนิดมีพลาสติกเป็นผสม จนเปรียบเทียบน้ำหนักกับมนุษย์แล้ว ประมาณว่า มนุษย์กลิ่นพลาสติกไป 2 กิโลกรัม !!! และนี่ยังไม่นับสัตว์จำนวนมากที่เสียชีวิตจากพลาสติกที่ย่อยไม่ได้แล้วไปอุดตันลำไส้หรือส่วนต่างๆ ของร่างกายของน้องๆ เหล่านั้น

การผลิตพลาสติกในช่วง 50 ปีที่ผ่านมามีมากเกินกว่า 1 พันล้านตันและมีเหลืออีกหลาย 100 ชนิดที่เราไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนรูปได้อย่างไร การย่อยสลายทางชีวภาพกับชิ้นพลาสติกตัวอย่างกับแบคทีเรียที่เพราะเอาไว้ ระยะเวลาหนึ่งปีพลาสติกย่อยสลายได้น้อยกว่า 1% เท่านั้น และหากอยู่ในมหาสมุทรการย่อยสลายยิ่งแย่กว่าหลายเท่า

ด้านการเกษตรก็เช่นกัน แม้ว่าเกษตรจะเป็นที่ๆกำเนิดเมือง ทำให้เราลุกขึ้นมาควบคุมชีวิตของเมล็ดพืชและฝูงสัตว์ หนังสือใช้คำว่า “เรากำหนดวิถีชีวิตมัน เกลี้ยกล่อมมัน ให้เติบโตได้ดังใจมากขึ้น ในปริมาณที่สูงขึ้นมาก” สิ่งเหล่านี้มันตามมาด้วยการทดลองใช้สารฆ่าหญ้า ฆ่าแมลงศัตรูพืช ใช้สารเคมีต่างๆ ทำให้ภาวะดินเปลี่ยนไปอย่างมาก ในสงครามเวียดนามสหรัฐสาดฝนเหลืองใส่เวียดนาม กว่า 12,000,000 แกลลอนทำให้ป่าไม่สามารถฟื้นตัวนานกว่าสี่ทศวรรษต่อมา  

แม้ว่าบทเรียนจากสงครามจะทำร้ายธรรมชาติทางตรง แต่ในอีกด้านหนึ่งพื้นที่สงครามที่ห้ามมนุษย์เข้าถึงอย่างเขตปลอดทหารก็เป็นบทเรียนว่าเมื่อมนุษย์ไม่เข้าถึงพื้นที่เหล่านั้น เหล่าธรรมชาติ อย่างสัตว์ป่าและพันธ์ุพืชต่างๆ ก็ทวงคืนพื้นที่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่สัตว์แทบสูญพันธุ์แปลกหลายอย่างก็ฟื้นคืนกลับมา 

ปัญหาสำหรับสัตว์ต่างๆในการดำรงชีวิตของมนุษย์ คือ เราไม่ได้ฆ่าพวกมันทางตรง แต่เรามีวิธีการที่หลากหลายในการฆ่ามัน เช่น การกำจัดแหล่งอาหารของมัน เราทำลายป่าในที่ต่างๆ เพื่อเพาะปลูกอาหารของเราเอง หรือเราสร้างเสาส่งสัญญาณวิทยุ แสงกระพริบสีแดงท่ามกลางหมอกและลมพัดทำให้นกพุ่งเข้าหามัน นักปักษีวิทยาประเมินว่ามีนกเกือบ 200 ล้านตัวชนเสาเช่นนี้ตายทุกปี และนี่นับเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ส่วนในเมือง นกบางประเภทแยกแยะระหว่างกระจกใสกับกระจกสะท้อนไม่ออก ทำให้นกอพยพที่เคยคุ้นเคยสภาพทุ่งโล่งหรือป่าไม้ ชนตึก ทำให้มีนกคอหักตายในแต่ละปีเกือบ 100 ล้านตัว

จนในหนังสือเขียนไว้ว่า “โดยนิยาม เราเป็นผู้บุกรุกต่างถิ่น ทุกแห่งทุกหน ยกเว้นแอฟริกา ทุกครั้งที่โฮโมซาเปียนส์ไปไหนก็ตามต้องมีชีวิตสูญพันธุ์”

ไปอ่านกันเถอะ เล่มนี้สนุกจริงและทำให้เปลี่ยนภาพการมองโลกของเราไปมากๆ

“คุณได้ยินฉันไหม: ไม่มีใครเล็กเกินจะเปลี่ยนแปลงโลก” – เกรต้า ธุนเบิร์ก 

“คุณได้ยินฉันไหม: ไม่มีใครเล็กเกินจะเปลี่ยนแปลงโลก” – เกรต้า ธุนเบิร์ก 

Amarin How to / 355 บาท

หนังสือเล่มนี้มีสองส่วน ส่วนแรกเป็นการรวบรวมการพูดในที่ต่างๆ ของ เกรต้า ธุนเบิร์ก ในช่วงปี 2018 หลังจากที่เธอหยุดเรียนประท้วงเรื่องสภาพภูมิอากาศที่นอกรัฐสภาสวีเดน จนถึงปลายปี 2019 รวม 16 ครั้ง ในเวลาเพียง 13 เดือนเท่านั้น 

ส่วนที่สองเป็นข้อเขียนที่ครอบครัวของเธอร่วมกันเขียนขึ้น โดยเฉพาะแม่ของเธอที่เล่าเรื่องต่างๆ ที่ทำให้เรารู้จักครอบครัว และตัวตนของเธอมากขึ้น 

อย่างเช่นครอบครัวของเกรต้าที่คุณแม่เป็นนักร้อง Opera คุณพ่อเป็นมือเบสซึ่งทั้งสองนิยามตัวเองว่าเป็นคนทำงานด้านวัฒนธรรม Cultural worker ซึ่งทำงานอย่างมี passion ในงานที่ทำ สนใจประเด็นซีเรียสอย่างสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และผู้อพยพ รวมถึงการอ่านหนังสือประเภทต่างๆทางสังคมวัฒนธรรมที่ช่วยหล่อหลอมวิธีคิดให้ลูกของเธอทั้งสองคนทั้งกีตาร์และบีเอสต้า 

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตของเกรต้าในวัย 11 ปีที่มีปัญหาด้านการกินอาหาร คือทานอาหารอะไรไม่ได้เป็นเวลากว่าสองเดือน ทำให้น้ำหนักจากเดิมที่ไม่มากอยู่แล้วลดลงไปกว่า 10 กิโล  ส่งผลต่อปัญหาทางร่างกายทำให้อุณหภูมิร่างกายต่ำชีพจรความดันเลือดก็มีปัญหาต้องส่งตัวเข้าโรงพยาบาลดูแลปัญหาทางร่างกายและรวมถึงการวินิจฉัยสภาพทางจิตของเธอ 

ในช่วงนั้นนักจิตวิทยาก็บอกกับแม่ของเธอว่าเกรต้ามีอาการ “แอสเพอร์เกอร์ซินโดรมแบบศักยภาพสูง” ซึ่งก็เป็นกลุ่มออทิสติกรูปแบบหนึ่งที่คนมีภาวะแบบนี้จะมีความสามารถพิเศษสูงในบางเรื่อง มีพัฒนาการไม่ต่างจากเด็กปกติ แต่จะมีปัญหาเรื่องปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นซึ่งในช่วงนั้น เกรต้าก็จะไม่พูดคุยกับใครเลย จะพูดคุยผ่านพ่อแม่เท่านั้น

ซึ่งปัญหาแบบที่เกรต้าเป็นอยู่ในโรงเรียนก็ยอมเป็นเรื่องแปลกสำหรับเพื่อนๆ และ แน่นอนเธอถูกแกล้งอย่างรุนแรง 

ในอีกมุมนึงเกรต้าเป็นเด็กฉลาดเธอมีความทรงจำแบบภาพถ่าย มีความสามารถในการจำชื่อเมืองหลวงทั้งโลก ตารางธาตุ และอะไรที่เธอสนใจอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนกระทั่งเธอสนใจทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนเอาคำตำหนิพ่อของเธอว่า “พ่อเพิ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไป 2.7 ตันจากการบินไปโน้นแล้วกลับมา นั่นเท่ากับการปล่อยก๊าซทั้งปีของคนห้าคนในเซเนกัล” จนในที่สุด ครอบครัวนี้ก็เลี่ยงการเดินทางด้วยเครื่องบิน และใช้รถยนต์ไฟฟ้าและเรือในการเดินทางข้ามประเทศแทน 

ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เกรต้าเท่านั้น แต่บีเอต้าน้องของเธอ ก็มีปัญหาโรคสมาธิสั้น ย้ำคิดย้ำทำ โรคดื้อต่อต้าน และมีอาการแอสเพอร์เกอร์ซินโดรมด้วย คือยิ่งอ่านแล้วก็ยิ่งเห็นใจครอบครัวเธอมากๆ ซึ่งก็ด้วยความสตรองของคุณแม่ก็พยายามหาทางออกในหลายๆ ทางแม้แต่การเข้าฟังงานบรรยายด้านจิตเวชวัยรุ่น ทำให้เราได้รู้ว่า ความไม่เท่าเทียมทางเพศของการศึกษาทางจิตเวชในวัยรุ่นเป็นอย่างไร เพราะการวินิจฉัย การประเมินการรักษา และข้อมูลต่างๆ ถูกอ้างอิงมาจากเด็กผู้ชายเท่านั้น 

แต่หนังสือก็ไม่ได้เศร้าขนาดนั้น เพราะก็มีเบื้องหลังฉากสำคัญที่เกรต้าหยุดเรียนประท้วง โดยการเตรียมตัวศึกษา พูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ผ่านพ่อแม่ของเธอ การทำวิจัยฉบับย่อยๆ ว่าสื่อมวลชนรายงานข่าวเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศมากแค่ไหน และรวมถึงการเตรียมป้ายหยุดเรียนประท้วงด้วยเงินเพียง 20 โครนา (71 บาท) แต่เขย่าให้โลกฟังเธอ 

นี่ คือ ภาพแรกที่เกรต้า หยุดเรียนและนั่งประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศ โดยมือถือของเธอที่ขอให้คนที่เดินผ่านคนหนึ่งช่วยถ่ายรูปให้

ใครสนใจลองหาอ่านได้ครับ และกำไรของหนังสือเล่มนี้ เกรต้าและครอบครัวจะมอบให้องค์กรการกุศลต่างๆ แปดแห่งที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เด็กที่เป็นโรค และสิทธิสัตว์ด้วย