“How to avoid a climate disaster” – โลกต้องไม่ร้อนไปกว่านี้

“How to avoid a climate disaster” – โลกต้องไม่ร้อนไปกว่านี้

สนพ. Sophia – บิล เกตส์ เขียน มันตา คลังบุญคลอง แปล

เล่มนี้ชอบมากอ่านแล้วเปิดโลกดี เพราะเรื่อง “Climate disaster” หรือ “โลกรวน” สำหรับเราจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ยากมากในการทำความเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อนระดับโลก แต่ตั้งแต่บทเริ่มต้นของหนังสือพยายาม บิล เกตส์ ทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้ผ่านตัวเลขสองตัวคือ 51,000 ล้านตัน ที่เป็นปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์สร้างขึ้นทุกๆ ปี กับเลข 0 ที่เป็นเป้าหมายที่เราต้องลดลงให้ได้ 

อันที่จริงตัวเลข 51,000 ล้านตัน คืออะไรเราไม่มีทางนึกออกหรือจินตนาการได้เลย แต่หนังสือเล่มนี้พยายามค่อยๆ ฉายภาพเปรียบเทียบให้เราเห็นว่าเราต้องดีลกับ อะไรบ้างในแต่ละเรื่องและแต่ละเรื่องมีความยากและซับซ้อนแตกต่างกันระดับไหน 

ตัวอย่างเช่น เวลามีคนบอกว่าอุตสาหกรรมบางอย่างเปลี่ยนวิธีการใช้พลังงานทำให้ลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอุตสาหกรรมได้ถึง 17 ล้านตัน มันก็ฟังดูเยอะดีใช่ไหม แต่เค้าบอกว่าลองเอา 51,000 ล้านตัน ไปหารดูแล้วจะรู้ว่ามันช่วยโลกได้มากน้อยแค่ไหน ความเป็นจริงคือ 0.03% ของที่พูดมา นั่นแปลว่าอะไร อาจจะดีก็ได้ถ้ามันมีศักยภาพพัฒนาได้ดียิ่งๆ ขึ้นไป แต่ถ้าตัวเลขมันหยุดแค่ 17 ล้านตันแค่นั้นมันอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรเลยก็ได้ 

และโครงของหนังสือเล่มนี้ เอาตัวเลข 51,000 ล้านตัน เป็นตัวตั้ง แล้วอธิบายว่า…

27% คือ การใช้ไฟฟ้าและทิศทางมันเป็นยังไง เราควรจัดการยังไงกับมันต่อในแง่ของพลังงานต่างๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ชีวมวล ก๊าซ นิวเคลียร์

35% คือ การผลิตสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต ตั้งแต่ ซีเมนต์ เหล็ก พลาสติก 

19% คือ การเพาะปลูกต่างๆ ทั้งภาคเกษตรอุตสาหกรรมสัตว์ 

16% คือ การเดินทางในทุกรูปแบบของมนุษย์ทั้งรถยนต์ เรือ เครื่องบิน

และ 7% สุดท้ายที่แยกออกมาสำหรับเรื่องการดับร้อนและคลายหนาวของมนุษย์อย่างเดียวคือการใช้แอร์และเครื่องทำความร้อนต่างๆ 

ซึ่งในแต่ละเรื่องที่ว่ามา ก็มีความเฉพาะตัวมากๆ เช่นเรื่อง เช่นการผลิตพลังงานไฟฟ้า แหล่งพลังงานที่แตกต่างกันมันใช้พื้นที่ต่างกัน อย่างฟาร์มโซล่าใช้พื้นที่มากกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเกือบ 50 เท่า ส่วนฟาร์มกังหันลมใช้พื้นที่มากกว่าฟาร์มโซล่าเป็น 10 เท่า 

บางเรื่องเป็นเรื่องของราคาที่จัดการยาก เพราะราคาที่เราใช้อยู่มันมีราคาถูกมาก เมื่อเทียบราคาแบบกรีนพรีเมี่ยมที่ต้องจ่ายเพิ่มสำหรับช่วยลดคาร์บอน  ตลาดให้ใส่ใจความกรีนแต่แพงมันแทบเป็นไปไม่ได้เลย จึงต้องเร่งหากลไกด้านนโยบายและนวัตกรรมเป็นตัวช่วยสำคัญในการจัดการ 

หรืออย่าง ปัญหา “มีเทน” ที่เป็นก๊าสเรือนกระจกตัวสำคัญที่มาจากจาก อึ เรอ ตด ของวัว  อันนี้ก็ตลกดี พันธุ์วัวในแอฟริกาครองแชมป์ปล่อยก๊าซมีเทนมากกว่าวัวในแถบอเมริกา วัวในยุโรปปล่อยน้อยที่สุดเพราะมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ลำไส้ผลิตมีเทนได้น้อยกว่า หรือบางแห่ง นักวิทยาศาสตร์พยายามให้ฉีดยาให้วัวเพื่อลดแบคทีเรียที่ผลิตมีเทนในลำไส้ของวัว

ที่น่าสนใจสำหรับผม คือ บิล เกสต์ พยายามชี้ให้เห็นว่า คนรวยและคนรายได้ปานกลาง คือ กลุ่มที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนมากที่สุด แต่คนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด กลับเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งที่คนกลุ่มนี้มีส่วนในการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยที่สุด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายในการช่วยเหลือกลุ่มเปาะบางต่างๆ การบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภูมิอากาศแปรปรวน และในทางการเมืองเรื่องโลกร้อนมันเลยจัดการไม่ง่ายในเชิงสร้างที่เกี่ยวพันกับชนชั้นทั้งทางสังคม และชนชั้นมุมที่ระดับประเทศแบบประเทศรวย/จน ที่ต้องการเร่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วย