The Fearless Organization – องค์กรไม่กลัว

The Fearless Organization – องค์กรไม่กลัว

Amy Edmondson เขียน ทิพย์นภา หวนสุริยา แปล Bookscape พิมพ์ 

หนังสือเล่มนี้ Edmondson ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยธุรกิจ ฮาร์วาร์ด นำเสนอเรื่อง “ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยา” ที่สำคัญมากในโลกที่ความรู้และนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญสำหรับความสำเร็จขององค์กร และในทางกลับกัน การไม่มีความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาก็ทำให้องค์กรหลายแห่งล้มเหลวได้เช่นกัน 

Edmondson เล่าให้ฟังว่า งานในวันนี้พนักงานส่วนใหญ่ใช้เวลาทำงานร่วมกับผู้อื่นเพิ่มขึ้น 50% จากเมื่อ 20 ปีก่อน การจ้างคนที่ทำงานเก่งอย่างเดียวจึงไม่พออีกต่อไป ต้องเป็นคนที่ทำงานร่วมกันกับคนอื่นเป็นด้วย

เขาบอกว่าการทำงานเป็นทีมเป็นศิลปะแบบหนึ่ง เพราะการทำงานเป็นทีม ต้องการความสามารถในการสื่อสาร การประสานงานกับคนที่สามารถก้าวข้ามความแตกต่างหลากหลายของความเชี่ยวชาญ สถานะ และระยะทางให้ได้

หนังสือเล่มนี้มีตัวอย่างสนุกๆ หลายเรื่องที่ทำให้เห็นว่า การไม่มี “ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยา” ทำบริษัทพังได้เลย อย่างเคสของบริษัทโฟล์คสวาเกน ที่มีคดี “ดีเซลเกต” ที่หลอกลวงว่า รถโฟล์คสวาเกน ปลอมข้อมูลการปล่อยมลพิษรถยนต์เพื่อให้ผ่านเกณท์มาตรฐานและมาใช้โฆษณาว่าเป็นรถยนต์ “พลังดีเซลสะอาด” ย้อนไปดูวัฒนธรรมการทำงานของบริษัทที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวและการข่มขวัญ ผู้บริหารโฟล์คหลายคนที่ทำงานสืบทอดกันมาใช้เทคนิคเดียวกันในการตั้งโจทย์การทำงานที่กดดันทีมและ “ปรี๊ดแตก” ใส่ทีมเป็นประจำ ทำให้ทีมงานไม่กล้ารายงาน “ข่าวร้าย” ไม่พูดข้อเท็จจริง และไปไกลถึงการโกหก ปลอมแปลงข้อมูลเพื่อเอาตัวรอดในองค์กร 

ในอีกด้านหนึ่ง ตัวอย่างที่ดีสำหรับการสร้างความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาอย่าง บริษัท Pixar ที่ทำภาพยนตร์ Toy Story และอีกหลายเรื่องที่ได้ทั้งเงินและคำชื่นชม ผู้ก่อตั้งพิกซาร์ Pixar เล่าใหฟังว่า “หนังดราฟแรกๆ ของเราทุกเรื่องห่วยหมด” อย่าง Toy story ก็เลี่ยนและน่าเบื่อ แต่ในบริษัทมีกลุ่ม “Braintrust” ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กๆ เจอกันเรื่อยๆ เพื่อประเมินภาพยนตร์ที่อยู่ในกระบวนการสร้าง ให้ฟีดแบคที่ตรงไปตรงมากับผู้กำกับ และช่วยแก้ปัญหาในการสร้างสรรค์ก่อนที่หนังจะเริ่มเดินไปผิดที่ผิดทาง คีย์หลักของเรื่องนี้ส่วนผสมหลักของสูตรนี้คือ “ความจริงใจ” ซึ่งแบบว่าเค้าก็เล่าให้ฟังเหมือนกันว่าความจริงใจแม้จะเรียบง่ายแต่ไม่เคยทำได้ง่ายๆ เลย

วัฒนธรรมในกลุ่ม “Braintrust” มีทริกที่น่าสนใจ อย่างเช่น การให้ฟีดแบ็กต้องสร้างสรรค์เกี่ยวกับตัวงานไม่ใช่ตัวบุคคล คนสร้างก็จะไม่ปกป้องตัวเองหรือเอาคำวิจารณ์มาเป็นประเด็นส่วนตัว  ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะไม่ใช่คำสั่งและไม่มีความหมายในเชิงบังคับ สุดท้ายจริงๆ แล้วผู้กำกับที่รับผิดชอบเรื่องนั้นๆ จะยอมรับหรือไม่ยอมรับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฟีดแบ็กที่ตรงไปตรงมาไม่ใช่การจับผิด แต่ต้องมาจากมุมของความเข้าอกเข้าใจ ซึ่งจะความเข้าอกเข้าใจกันได้ต้องผ่านกระบวนการนี้ในบทบาทที่หลากหลาย คือ ทั้งได้ให้และรับฟีดแบ็ก

แต่สำหรับองค์กรทั่วไป เป็นเรื่องปกติที่คนส่วนใหญ่ต้องมั่นใจจริงๆ ถึงจะกล้าพูด เพราะคนเราถูกฝึกให้กลัว กลัวทำผิด ในสังคมของเราทำให้คนง่อยเปลี้ย เพราะตั้งแต่อนุบาลเราถูกสอนให้หาคำตอบที่ถูกต้อง แทนที่จะเรียนรู้วิธีการล้มเหลว วิธีการทดลอง เพื่อปูสู่เส้นทางการคิดเชิงนวัตกรรมและการคิดด้วยตัวเอง  ในมุมขององค์กรจึงต้องสร้างพื้นที่ที่มีความปลอดภัยเชิงจิตวิทยา เพื่อทำให้คนที่มีภาวะขาดความมั่นใจได้กล้าพูดมากขึ้น และแม้จะมีความมั่นใจไม่มากเท่าไหร่ก็ตาม

ในเรื่องของความกลัว Edmondson บอกว่าเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะมันจำกัดความสามารถในการคิดและลงมือทำอย่างมีประสิทธิภาพ แม้แต่กับคนที่มีพรสวรรค์สูงสุด ผู้นำที่ดีจึงต้องเต็มใจรับหน้าที่ขจัดความกลัวออกไปจากองค์กร เพื่อสร้างสภาวะที่เหมาะแก่การเรียนรู้ พัฒนานวัตกรรม และการเติบโตไปร่วมกัน

หลายองค์กรขับเคลื่อนองค์กรด้วยความกลัว แต่ความกลัวไม่ใช่สิ่งจูงใจที่มีประสิทธิภาพ เพราะความกลัวเป็นตัวขัดขวางการเรียนรู้ มันดึงทรัพยากรและพลังงานของสมองที่ต้องใช้ในเรื่องความจำและประมวลผล และผลที่เลวร้ายคือ มันสร้างความเสียหายต่อคุณภาพของการคิดเชิงวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ไขปัญหาไป 

ดังนั้น ความกล้าและความกลัว เป็นโจทย์สำคัญสำหรับวัฒนธรรมองค์กรที่ทำงานความรู้และนวัตกรรม ใครสนใจไปหาอ่านกันที่ https://bookscape.co เลยครับ 

วิทยาศาสตร์ความอ้วน

วิทยาศาสตร์ความอ้วน

เจสัน เฝิง เขียน | ลลิตา ผลผลา แปล | Bookscape พิมพ์  

เล่มนี้เป็นเล่มที่สนุกดี ท้าทายความเชื่อแทบทุกอย่างที่เราคุ้นเคยเกี่ยวกับโรคอ้วน อย่างเช่น อาหารมื้อเช้าสำคัญที่สุด จะลดความอ้วนให้สำเร็จต้องจัดการขาออกให้มากกว่าขาเข้าหรือออกกำลังกายให้มากกว่ากิน  นับแคลอรี่เป็นเรื่องสำคัญ ฯลฯ 

เล่มนี้เขียนโดย เจสัน เฝิง หมอที่เชี่ยวชาญด้านโรคไต ซึ่งเป็นผลมาจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และส่วนใหญ่คนไข้ของเขามาพร้อมกับโรคอ้วน และจุดเริ่มต้น ของการค้นคว้าโรคอ้วนก็เพราะคนไข้ของเขาถามว่า หมอบอกให้ลดน้ำหนัก แต่อินซูลินที่หมอให้ทำให้น้ำหนักของเค้าเยอะขึ้น สรุปมันมีประโยชน์จริงเหรอ และซึ่งเรื่องนี้เป็นที่รบกวนจิตใจของเขาเขาจึงค้นหาคำตอบและเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ 

ความสนุกของหนังสือเล่มนี้คือ เรื่องเล่าและการเปรียบเปรยของการศึกษาโรคอ้วน เช่น การทำความเข้าใจโรคอ้วนเป็นเรื่องระยะยาวจะศึกษาในช่วงเวลาสั้นๆ ระดับเพียงหลายสัปดาห์ไม่พอ เพราะถ้าคนเฉลี่ยน้ำหนักขึ้นปีละ 0.5 หรือ 1 กิโลกรัม 10 ปีก็เกือบ 10 กิโล เหมือนกับ จะเข้าใจว่าสนิมเกิดได้อย่างไรต้องสังเกตโลหะหลายเดือนไม่ใช่หลายชั่วโมง 

หรือจะศึกษาโรคอ้วนกับคนก็ต้องศึกษาจากคนเท่านั้น มันมีความจำเพาะ เขาชวนให้ไปลองดูวงจรชีวิตของสัตว์ปกติ ส่วนใหญ่เมื่ออาหารอุดมสมบูรณ์ขึ้น มันจะนำไปสู่การเพิ่มของจำนวนของสัตว์ ไม่ใช่การเพิ่มขนาดตัว นึกถึงหนูหรือแมลงสาบดูได้ เมื่อขาดแคลนอาหาร ประชากรหนูก็จะต่ำ แต่เมื่ออาหารอุดมสมบูรณ์จะมีหนูขนาดปกติจำนวนเพิ่มขึ้น ไม่ใช่หนูจำนวนเท่าเดิมที่มีโรคอ้วน 

ข้อสรุปที่สำคัญที่สุดของหนังสือเล่มนี้ คือโรคอ้วนไม่ได้มาจากการคุมแคลอรี่ จะขาเข้าหรือขาออกก็ตาม เราทำด้วยตัวเองไม่ได้ เพราะร่างกายมีระบบอันละเอียดอ่อนที่ชี้นำให้เรากินหรือไม่กิน การควบคุมร่างกายหลายอย่างถูกควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติคล้ายกับการหายใจที่เราไม่ต้องเตือนตัวเองให้หายใจ หรือแม้แต่คุมจังหวะให้มันเต้นไม่ได้ กลไกส่วนใหญ่ทุกคลุมด้วยกลไกที่รักษาสมดุลย์ในร่างกายด้วย  

คนมักจะเชื่อว่าเราคุมการกินของเราได้ คือ จะคุมแคลลอรี่ขาเข้า แล้วเชื่อว่า เดี๋ยวน้ำหนักก็ลด แต่ความจริงคือร่างกายฉลาดกว่านั้น เพราะมันรู้จักปิดตัวเองได้ มันพยายามลดการใช้พลังงานทุกด้านเพื่อรักษาตัวเอง และลดการใช้พลังงานในบางเรื่องมันจะส่งผลต่อระบบร่างกายต่างๆ เช่น  การให้ความร้อนแก่ร่างกายซึ่งอาจทำให้เราทนหนาวยากขึ้น การสูบฉีดโลหิตของหัวใจทำให้การบีบตัวของหัวใจลดลง การรักษาระดับความดันเลือดซึ่งอาจทำให้เรามีสมาธิน้อยลง คิดช้าลง เฉื่อยชาขึ้น 

ซึ่งพอระบบมันรวน มันก็จะสั่งให้เราหิว สั่งให้เรากิน แล้วเราจะไม่ทน ซึ่งนั่นก็กลับมาสู่ภาวะปกติภายในไม่นาน 

…นี่ก็เหมือนเราสู้กับความอ้วน แต่ความอ้วนมันสู้กลับเลย… 

เรื่องแคลอรี่ขาออกก็เช่นกัน คนมักจะเข้าใจว่าการออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญในการลดน้ำหนัก เพราะเท่ากับแคลอรีขาออก แต่ความจริงการใช้พลังงานส่วนใหญ่ของมนุษย์คือการเผาผลาญความร้อนที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การหายใจการรักษาอุณหภูมิในร่างกายการขับเคลื่อนหัวใจให้สูบฉีดโลหิตการบำรุงรักษาอวัยวะต่างๆการทำงานของสมองตับไต ซึ่งการออกกำลังกายเป็นส่วนน้อย ประมาณ 5% ของการใช้พลังงานโดยรวมเท่านั้น คุณหมอเปรียบเทียบว่า การโฟกัสที่การออกกำลังกายในการลดน้ำหนักเหมือนการติวสอบข้อสอบจากเนื้อหา 5% เท่านั้นจากข้อสอบทั้งหมดแล้วเชื่อว่าจะสอบผ่าน โอ้ย!!! 

การลดน้ำหนักที่ยากและไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะเราต้องต่อสู้กับร่างกายตัวเองอยู่ตลอดเวลา เมื่อน้ำหนักลดร่างกายก็จะทำให้มันเพิ่ม คำตอบทั้งหมดของเรื่องนี้จึงอยู่ที่ ความไม่สมดุลย์ของฮอร์โมน และจะชนะได้ต้องเข้าใจกลไกรักษาสมดุลย์ ที่ช่วยจัดการสมดุลย์ของฮอร์โมน 

และจะกินยังไงให้ไม่อ้วน (ไว้ค่อยเล่านะครับ ใครรีบ…) ลองไปหาอ่านดูนะครับ ป้ายยาเท่านี้พอ 🙂