Drone – โดรน

Drone – โดรน

Infographics “Drone – โดรน” อากาศยานไร้คนขับ 

เผยแพร่ครั้งแรกในงาน TDRI Annual Public Conferance 2018 

เพื่อบอกเล่าถึง ความสวนทางกันระหว่าง การพัฒนาทางเทคโนโลยี และ ทัศนคติของภาครัฐในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลในช่วงเทคโนโลยีปั่นป่วน

โดรนถูกเริ่มพัฒนาโดยกองทัพสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2517 เพื่อใช้ในการสอดแนมและทิ้งระเบิด หลังจากนั้นโดรนจึงถูกพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงและราคาถูกลงเพื่อจำหน่ายเป็นโดรนใช้งานทั่วไป (Consumer drone)

เช่น การเล่นเป็นงานอดิเรก และถูกนำมาประยุกต์ทางการพาณิชย์มากขึ้น เช่น การถ่ายภาพมุมสูงสำรวจพื้นที่ก่อสร้างในธุรกิจการก่อสร้าง หรือประเมินเจริญเติบโตของพืชในธุรกิจเกษตร  การประยุกต์ใช้โดรนกำลังพัฒนาล้ำหน้ามากขึ้นเมื่อภาคธุรกิจในต่างประเทศเริ่มทดลองนำโดรนเข้ามาใช้ในการส่งพัสดุ เช่น บริษัทอีคอมเมิร์ซ Amazon.com Inc. ซึ่งทดลองการให้บริการ Amazon Prime Air ตั้งแต่ปี 2556

การนำโดรน มาใช้ในพื้นที่เปิดในลักษณะนี้สร้างความกังวลให้แก่องค์กรกำกับดูแลของรัฐว่าจะมีการนำไปใช้ละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน เนื่องจากโดรนมักประกอบด้วยกล้องถ่ายภาพและวีดีโอ และสร้างอันตรายต่อชีวิตและความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน เช่น เกิดอุบัติเหตุชนกับอากาศยานอื่น

การกำกับดูแลโดรนของไทยอยู่ภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497[3]  และ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และมีหน่วยงานกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากโดรน 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และ สํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ผู้ใช้โดรนจะต้องขึ้นทะเบียน “ผู้ครอบครองโดรน” และเครื่องโดนกับสำนักงาน กสทช.[4]  และขึ้นทะเบียน “ผู้บังคับโดรน” กับสํานักงานการบินพลเรือนฯ โดรนที่ต้องขึ้นทะเบียนประกอบด้วยโดรนที่ติดกล้องและโดรนที่ไม่ติดกล้องแต่มีน้ำหนักมากกว่า 2 กิโลกรัม ผู้ที่ไม่ดำเนินการขึ้นทะเบียนโดรนอาจได้รับโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การกำกับดูแลการใช้โดรนของประเทศไทยมีทั้งส่วนที่สอดคล้องกับหลักสากลและส่วนที่ยังต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับหลักสากล ส่วนที่สอดคล้องกับหลักสากลมีอยู่ 4 ข้อสำคัญ คือ ต้องบังคับโดรนให้บินในวิสัยการมองเห็น (Visual line of sight) เท่านั้น ห้ามบินกลางคืน ห้ามบินสูงกว่า 90 เมตรจากพื้นดิน และ ห้ามทำการบินละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ส่วนหลักการการกำกับดูแลที่ยังต้องปรับปรุงให้เป็นสากลมี 2 ข้อ ข้อแรกคือการที่ผู้ใช้โดรนจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแล 2 แห่ง ในขณะที่ในต่างประเทศนั้น มีหน่วยงานกำกับดูแลโดรนเพียงแห่งเดียว เช่น Federal Aviation Administration ที่กำกับดูแลการใช้โดรนเพียงแห่งเดียวในสหรัฐอเมริกา และ ข้อสองคือการกำหนดให้รัฐมนตรีเป็นผู้ให้อนุญาตการใช้โดรนเพื่อการพาณิชย์และเพื่องานทางวิชาการ ในขณะที่ในต่างประเทศการอนุญาตการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับโดรนจะจบที่หน่วยงานกำกับดูแล โดยไม่ไปเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองแต่อย่างใด เพื่อมิให้การอนุญาตถูกการเมืองแทรกแซง

ติดตามเพิ่มเติมได้ใน https://tdri.or.th/2018/04/tdri-annual-public-conference-2018/ 

“ทางรอดคนสื่อ”

“ทางรอดคนสื่อ”

สัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวชวนให้ไปคุยเรื่อง “ทางรอดคนสื่อ” พร้อมกับโจทย์เรื่อง Data Journalism ซึ่งแอบเดาว่า ทางสมาคมเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญเลยชวนผมไปคุย

ส่วนตัวค่อนข้างแน่ใจว่า คำตอบเรา กับ ความคาดหวังของผู้จัด คงไม่ตรงกันแน่ๆ เลยพยายามสื่อสารและตีโจทย์ไว้ 3 -4 ประเด็น ขอแอบเอา Key Message มาเล่าไว้อีกทีนะครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่พยายามจะผลักดันให้เรื่องนี้เกิดจริงๆ ในไทยและไปรอดถึงฝั่ง

1. Data Journalism อาจไม่ใช่ทางรอดของคนสื่อ และทางรอดของ “คนสื่อ” โดยเฉพาะทางธุรกิจไม่สำคัญเท่ากับทางรอดของ “สื่อ” ต่อ Trust ของสังคม ที่ทุกวันนี้ Trust ต่อสังคมที่ยึดโยงกับสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยมันตกต่ำเกินกว่าจะให้ประชาชนศรัทธาในบทบาทของสื่อ

2. Data Journalism ที่มันเกิดมาเกือบ 200 ปีที่แล้ว มันเกิดจาก “ความไม่เชื่อ” ในผู้มีอำนาจ การตั้งถาม และพลังของการเอาข้อมูลที่มีมาต่อสู้ Mentality แบบนี้มันต้องการสื่อที่มีพลังคัดคานอำนาจ ความรู้ และสถานะทางสังคมของผู้มีอำนาจ

3. งาน Data Journalism ต้องการการทำงานเป็นทีม มีทักษะที่หลากหลาย และเข้าใจการทำงานพื้นฐานของกันและกัน การสร้าง Ecosystem ให้คนทำงานที่หลากหลายได้เจอกัน ได้แลกเปลี่ยนกัน ได้เห็นเครื่องมือของกันและกัน จะสร้างบรรยากาศและความร่วมมือใหม่ให้เกิดได้ คำถามว่าจะเอา “Coder มาเทรนเป็นนักข่าว หรือ จะเอานักข่าวมาเทรนเป็น Coder จึงเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจว่าโลกของการทำงานยุคใหม่เป็นอย่างไร

4. แม้ว่า ต้นทุนของ Data Journalism จะสูง แต่หลาย Business ในแง่ Content ก็สามารถทลายข้อจำกัดด้านการจ่ายเงินได้ ทั้งในรูปแบบของ Subscribe การมี Sponsor หรือแม้กระทั่งการบริจาค ดังนั้น ถ้าผลงานให้คำตอบสังคมได้ในแง่ของ Trust (ในข้อ1) เรื่องต้นทุนไม่ใช่ของยาก

5. Data Journalism เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วย Branding ให้สำนักข่าว เพราะคุณค่า ความน่าเชื่อถือในตัวมันเอง และที่สำคัญใครก็ลอกไม่ได้

ป.ล. บนเวที ผมเปิดประเด็นเรียกแขกว่า นักข่าวต้องเรียน Coding มั้ย ซึ่งก็สนุกดีนะครับที่คนเริ่มมาเถียงกัน สุดท้าย ก็มีสไลด์ที่เตรียมไปอันนึงพอเปิดเล่าให้ฟังจบ คุณสุทธิชัยหัวเราะใหญ่เลยนะครับ

วีดีโอ facebook live ของทาง ThaiPBS

https://www.facebook.com/ThaiPBSFan/videos/247214969282712/  

 

ส่วนสไลด์ที่เตรียมไปอยู่ใน 
https://www.scribd.com/…/DataJournalism-%E0%B8%97%E0%B8%B2%…

.

โลกใหม่ ไม่ทำลาย “สื่อฯ” หากทำงานมืออาชีพ สะท้อนความจริงสังคม

โลกใหม่ ไม่ทำลาย “สื่อฯ” หากทำงานมืออาชีพ สะท้อนความจริงสังคม

สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์มาชวนคุยเรื่อง โจทย์ที่ท้าทายในอนาคตของวงการข่าว 
วันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2562 เอามาเก็บไว้ก่อน

 

https://www.tja.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=4884:2019-01-24-14-10-44&catid=168:2018-05-09-12-47-39

ในยุค 2019 ยุคที่เทคโนโลยีสื่อสาร ถาโถม หนักหน่วง  “สื่อสารมวลชน” รวมทั้ง อุตสาหกรรมสื่อฯ จะตั้งรับและปรับเข้าหา  “โอกาส” นั้นได้อย่างไร หรือ คลื่นของเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะกลายเป็น “วิกฤต” ที่เกิดเป็น “สึนามิ”  ที่ “สั่นสะเทือน” ไปทั้งวงการ แต่ไม่ว่าจะเป็น “โอกาส” หรือ “วิกฤต”มีสิ่งที่น่ารู้ และ เรียนรู้ เพื่อรับมือกับ โลกใหม่ที่กำลังเปิดประตูมาทักทาย

“ราชดำเนิน” พาไปพูดคุยกับ “อ.พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์” นักจัดการความรู้มืออาชีพ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)” ถึงทิศทางอุตสาหกรรมสื่อในภาพรวมปี 2562

“สถานการณ์ดูเหมือนจะแย่ลง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เพราะในโลกของอุตสาหกรรมสื่อฯ หากมองในมุมด้านธุรกิจ จะพบว่ามีทั้ง ผู้แพ้ และ ผู้ชนะ  ปัจจัยชี้วัดที่ง่ายที่สุดในแง่นี้ คือ รายได้ที่เข้าสู่ธุรกิจสื่อ แต่มองปัจจัยที่วัดนี้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะยังมีปัจจัยเรื่องคุณภาพของสื่อ คุณค่าของสื่อ ผลกระทบต่อสังคม ที่ต้องพิจารณาร่วมด้วยว่า ช่วยให้สังคมไทยเป็นไปในที่ทางที่ดีขึ้นหรือไม่ ที่ผ่านมา สื่อสารมวลชนได้สร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นในฐานะคนทำงานมืออาชีพให้กับประชาชนดีพอหรือไม่ เป็นคำถามที่ผู้คนมักถามถึงอยู่เสมอ  ซึ่งตามทฤษฎีสื่อพื้นฐานแล้ว สื่อมวลชนต้องมีหน้าที่ทั้งสะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคม และนำพาสังคมไปสู่ภาพที่ดีกว่าให้ได้  หากสื่อฯ ยังคงทำหน้าที่นั้นอยู่ ระดับความศรัทธาของสื่อในสายตาประชาชนก็ดีขึ้นได้”
ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่าง สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศทั่วโลก เขายึดถือและเชื่อถือในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และตรวจสอบกันเอง สื่อก็มีบทบาทสำคัญมากต่อสังคม และในทางกลับกัน ผู้คนก็ให้ความหมายและคุณค่ากันสื่อเป็นอย่างมาก  ยิ่งไปกว่านั้น  ในยุคสมัยที่โลกที่ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น มีความท้าทายใหม่ ขณะที่ โจทย์ยิ่งทวีความยาก

เห็นได้จาก กรณี Disruption ที่กระทบกับผู้คนมากมาย ความอยู่รอดเป็นคำถามให้กับคนจำนวนมาก ที่ไม่เว้นแม้แต่ตัวสื่อมวลชนเองที่ต้องปรับตัวด้วย
กับโจทย์ใหม่ที่ “อ.พีระพงษ์” แนะนำให้ “สื่อมวลชน” ควรปรับเพื่ออยู่รอด นอกจากยึดฐานมั่นในเรื่องความเป็นมืออาชีพ สร้างสรรค์ข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับสังคมแล้ว ต้องติดดาบ “วิทยายุทธ” ให้ตัวเอง คือ

1. สื่อต้องมีวิชาตัวเบา  การเรียนรู้สิ่งใหม่ การเรียนรู้ของเดิมด้วยวิธีใหม่ๆ และ สามารถถอดรื้อการเรียนรู้ที่เรียนมา ทำตัวให้เบา ไม่ยึดติดกับ ความรู้ ความเชื่อใดๆ และพร้อมกับการท้าทายเรื่องราวต่างๆ จากโลกยุคใหม่เสมอ
“เพราะความรู้และข้อมูลข่าวสารของโลกนี้อายุสั้นลงเรื่อยๆ หลายอย่างที่เชื่อว่าจริง อาจจะไม่จริง หลายอย่างที่เชื่อแบบนี้ ในยุคสมัยหนึ่งอาจไม่เป็นอย่างที่เชื่อ อย่างวิชาตัวเบา ที่สื่อฯ ต้องมี คือ การเรียนรู้สิ่งใหม่ ลืมการเรียนรู้ด้วยวิธี หรือแนวคิดแบบเก่า”

2.ต้องมีความรู้รอบด้านต่างๆ ไม่ใช่แค่มีทักษะอ่านออก เขียนได้เท่านั้น เพราะโลกยุคใหม่ต้องการมากกว่าแค่ “อ่านออกเขียนได้” แต่ความรู้เฉพาะทางจำเป็นต่อการสร้างต้นทุนที่ทำให้สังคมดีขึ้น  อนาคตแหล่งที่มาของความรู้ มีอยู่อย่างไม่จำกัด มีความรู้แพร่กระจายอยู่หลากหลาย หากสื่อมวลชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ เชื่อว่านักข่าวจะเป็นส่วนที่ตอบโจทย์ของคำว่า สังคมจะดีขึ้นได้อย่างไร และเมื่อทำได้ จะนำไปสู่การฟื้นความศรัทธาจากประชาชนได้

และ 3. ความรู้เฉพาะทางเชิงลึก ในอนาคตแนวโน้มของห้องข่าวจะเล็กลง เพราะปัจจัยทางธุรกิจต้องควบคุมค่าใช้จ่าย ต้องใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีเข้าช่วย ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก คือ นักข่าวต้องทำงานกับคนที่มีความรู้หลากหลาย และกว้างขวางมากขึ้น เพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่มีคุณภาพที่จำเป็นในโลกอันซับซ้อน
กับโจทย์ใหญ่อีกเรื่อง คือ กระแสของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้ง Facebook Live, YouTube ที่เป็นเครื่องมือ – ตัวช่วยสื่อสารไปยังประชาชน ได้รวดเร็ว ขณะเดียวกัน “คน” สามารถสื่อสาร หรือเป็นนักข่าว ให้คนนอกพื้นที่รับรู้เรื่องราวได้ นี่คือ แนวโน้มที่สื่อกระแสหลักต้องพังทลายหรือไม่  “อ.พีระพงษ์” มองว่า เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ต้องเรียนรู้ และปรับตัว บนความคาดหวังรวมถึงพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลง แนวโน้มของโลก ในยุคปัจจุบันมีงานวิจัยคาดการณ์ว่า คนจะหันมาฟังพอดแคสต์และอ่านข้อความมากกว่า ดูวีดีโอที่มีแต่โฆษณา และของแบบนี้เปลี่ยนเร็ว อาจจะกลับไปกลับมาตาม อัลกอริทึมของคอมพิวเตอร์หรือพฤติกรรมของผู้คนอีก ซึ่งสื่อยิ่งต้องรู้ให้ไว ตามให้ทัน
นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาปั่นป่วน ปฏิเสธการปรับตัวไม่ได้ แต่สิ่งที่จะทำให้ นักข่าว แปรวิกฤต เป็นโอกาส คือ ต้องทดลอง และ ลองของใหม่ตามความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้  หากเรียนรู้บ่อยๆ ลองของใหม่ตลอด แม้จะผิดพลาด แต่ก็ เจ็บตัวน้อยกว่า

“ปัจจุบันคำว่า sand box ถูกใช้ในความหมายไกลกว่าแค่ กระบะทราย แต่เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ ได้ลองผิดลองถูก ควบคุมความเสียหายได้  เด็กๆ จะเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ดีกว่าในห้องเรียน เพราะได้ลองของใหม่ๆ สิ่งที่ได้คิดเอง ได้ตั้งโจทย์เอง ส่วนการเรียนในห้องเรียน คือ การเรียนที่คอยเดินตามครู  ดังนั้นหากได้ลองเล่นเอง เจ็บเอง แม้จะล้ม ก็เหมือนล้มในกะบะทราย แม้จะเจ็บ แต่ก็ยังปลอดภัยมากกว่า ดังนั้นหากเปิดพื้นที่ห้องข่าว เปิดโอกาสใช้คนข่าวได้กล้าลองคิด เลือก สร้างนวัตกรรม ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะหลากหลาย จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ ที่ตอบโจทย์คน และสร้างความน่าเชื่อถือ”

เมื่อวิกฤตที่เข้ามา สิ่งที่ต้องทำให้อยู่รอด คือ การปรับตัว แล้ว จะเริ่มต้นยังไงดี “นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ” ชี้เป็นแนวทางซึ่งเป็นหัวใจว่า   “นักข่าวต้องเป็นผู้ประกอบการ และสร้างนวัตกรรม”

“ผมไม่ได้บอกว่านักข่าวต้องสร้างไอโฟนเป็น แต่ต้องคิดสิ่งที่สร้างมูลค่า และพาให้คนอ่านได้ประโยชน์และสังคมต้องดีกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีโจทย์ใหญ่เรื่องศรัทธากับความเชื่อถือ  ของยากแบบนี้ ต้องการวางโจทย์ที่ถูกของสื่อร่วมกับองค์กร สร้างแรงผลักดันที่มีความคิด ริเริ่ม และสร้างสรรค์ เพราะในโลกยุคใหม่ ผมไม่เชื่อว่าจะมีสำนักข่าวเดียว หรือ เจ้าใหญ่เพียงที่เดียว จะผูกขาดความน่าเชื่อถือได้ ดังนั้นโอกาสคือการเกิดขึ้นของห้องข่าวเล็กๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม และสร้างความน่าเชื่อถือได้ต่อเนื่อง แบบระยะยาว”
กับประเด็นนี้ ทำให้นึกถึง “หุ่นยนต์ผู้ประกาศข่าว” ที่จะเข้ามาแทนที่ “ผู้ประกาศข่าว” และจะเป็น วิกฤตคนข่าว ที่ต้องหาวิธีรับมือหรือไม่

“อ.พีระพงษ์” มองว่า แม้ว่าหุ่นยนต์อ่านข่าว ตอบโจทย์ได้หลายอย่าง ทั้งเร็ว สะดวก และควบคุมได้ แต่ยังมีสิ่งที่เป็นคำถามที่ท้าทายไม่น้อย โดยเฉพาะยุคสงครามข่าวสาร สร้างข่าวเท็จ ข่าวปลอม ข่าวลือ ข่าวปล่อย จะทำอย่างไร ยิ่งให้ผ่านเทคโนโลยียิ่งเนียน ซึ่งถึงจุดหนึ่งคนจะเห็นตัวอย่างทั้งดีและไม่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ
“เชื่อว่าคนจะระวังกันเยอะ และตั้งคำถามด้านความน่าเชื่อถือ เพราะข่าวสาร หัวใจสำคัญคือการสร้างความน่าเชื่อถือ ถ้าใช้หุ่นยนต์แล้วต้องสูญเสียความน่าเชื่อถือ ดังนั้น เอ.ไอ. ก็สู้นักข่าวจริงๆ ไม่ได้”