by kokoyadi | Apr 2, 2022 | Read
Rolf Dobelli สำนักพิมพ์ WeLearn
เล่มนี้สนุกดีชวนให้คนเลิกอ่านข่าวกัน ใจความหลักๆ คือข่าว ทำลายเวลาชีวิต ทำลายพฤติกรรมการใช้ชีวิตโดยเฉพาะเรื่องสมาธิ เสียพื้นที่สมอง ไม่ช่วยให้คนเข้าใจโลกหรือตัดสินใจได้ดีขึ้น และรวมถึงการทำให้เรามีอคติจากข่าวที่เราเสพเยอะๆ เพราะมันครอบครองพื้นที่สมองของเรา เค้าเปรียบเทียบ “ข่าว” เป็นเหมือน น้ำตาล อาหารฟาสฟู๊ด ที่ส่งผลต่อจิตใจแบบเดียวกับที่น้ำตาลทำลายร่างกายคือมันเป็นของน่าลิ้มลอง ย่อยง่าย ไม่ได้ส่งผลเสียทันที แต่อันตรายเป็นอย่างยิ่งในระยะยาว คนเขียนเลยพยายามให้เราหักดิบ และเลิกดูข่าว ไปเลย
อันหนึ่งที่ดีมากๆ เลยคือ เขาพยายามแยก “สิ่งสำคัญ”กับ “สิ่งใหม่ๆที่เพิ่งเกิดขึ้น” คนเขียนพยายามชวนเราให้ทดลองหาหนังสือพิมพ์เก่าๆ แบบผ่านไปนานๆ แล้วพลิกดูอ่านข่าวไปเรื่อยๆดูว่าข่าวพวกนั้นเป็นประโยชน์ต่อเรา ณ วันนี้จริงๆ หรือไม่
เค้ามองว่าข่าวทุกวันนี้มอง “สิ่งสำคัญ” คือ สิ่งที่ดึงดูดความสนใจของคนและเป็นหัวใจสำคัญของโมเดลธุรกิจในแวดวงข่าว ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับเราจริงๆ และมันทำให้พวกเราที่อินกับข่าวมากๆ มีกระบวนการตัดสินใจที่แย่ลง โดยเฉพาะต้องมานั่งคิดว่าอะไรสำคัญและไม่สำคัญสำหรับเราจริงๆ
คำแนะนำของเขาคือ คาดหวังให้เราเรียนรู้แบบเจาะลึก ใช้เวลากับ ข่าวเจาะสารคดีหรืออะไรที่มันเป็นชิ้นยาวๆ ให้เห็นความลึกและความซับซ้อนของโลกที่มันเป็น ไม่ใช่ของที่ฉาบฉวยอย่างข่าว
ในมุมของคนทำคอนเทนท์ เล่มนี้ประเด็นน่าสนใจเยอะเลย อย่างเช่น ควรวาง Hyperlink หรือคลิปวีดีโอในเว็บคอนเทนท์หรือไม่ เราควรสร้างแรงกระตุ้นที่ดึงดูดเกินควรต่อการสร้างให้คนอ่านมีสมาธิหรือไม่
ใครสนใจลองหาอ่านดูนะครับ มันมีประเด็นที่ในฐานะคนทำคอนเทนท์ก็เกิดคำถามอยู่ตลอดเวลาว่า ถ้าเราไม่ตามข่าวหรือความเป็นไปเป็นมาของบ้านเมืองที่มันผุๆ พังๆ อย่างที่แถวนี้ จะทำให้เราเป็นพวก Ignorant ไปหรือเปล่า ซึ่งในเล่มนี้ก็มีทางออกหลายทางที่น่าสนใจอยู่เหมือนกัน ว่าเราจะมีส่วนช่วยให้สังคมดีขึ้นจากการไม่อ่านข่าวสั้นๆ ได้อย่างไร หรือแม้แต่บทท้ายๆ ก็ยังพูดถึงบทบาทของความเป็นประชาธิปไตยด้วยซ้ำ
ป.ล. ชอบบทสุดท้ายเป็นพิเศษที่เปรียบเปรยข่าวกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ แต่โพสต์ไม่ได้ ใครเจอหน้าถามได้ครับ
by kokoyadi | Apr 23, 2019 | Blog, Media References
วันนักข่าวที่ผ่านมา มีนักข่าวมาสัมภาษณ์ผมเรื่อง “มุมมองหลักสูตรนิเทศ-วารสารศาสตร์ในอนาคตอย่างไร เลยอยากเอามาแชร์ใหฟังดูนะครับ ว่าผมคิดยังไง
ซึ่งโจทย์ใหญ่ ทีมสัมภาษณ์ วางประเด็นไว้ 2-3 ประเด็นดังนี้นะครับ
-มองหลักสูตรนิเทศฯ วารสารฯ ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาอย่างไร
-ปัจัยอะไรที่มีผล ต่อหลักสูตรนิเทศ วารสารฯ (ขยายต่อจากคำตอบด้านบน)
-เทรนด์การเรียนการสอนในอนาคตจะไปในทิศทางใด และอะไรที่ควรปรับเพิ่มมาเพื่อตอบรับกับสื่อในอนาคต
เลยตอบไปแล้ว ซึ่งปรากฏในบทสัมภาษณ์ ตามนี้ครับ
…สิ่งที่เห็นชัดเจนในหลักสูตร นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ ในช่วง 5 ถึง 10 ปีที่ผ่านมา คือภาพรวมที่เป็นด้าน บวกมากขึ้น เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและ ปรับตัวของทุกสถาบันที่เกิดขึ้น พยายาม ที่จะทำให้เป็น “digital journalism” มาก ขึ้น และมีพื้นที่ให้นักศึกษาลองเล่น อะไรเยอะขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ ดี แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือ เทรนด์ ของนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ ว่าใน อนาคตควรจะเป็นไปในทิศทางใด
“มีอยู่ 2 ประเด็น ที่อยากเห็น ในหลักสูตรคณะนิเทศฯ หรือวารสารฯ ก็ตาม นั่นคือ
1.มีวิชาตัวเบา คือ การ เข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้ยึดติดกับอะไร และต้องพยายามปรับตัวได้เร็ว พร้อมที่ จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะว่าโจทย์วันนี้เปลี่ยนไป แค่ทักษะการอ่านออกเขียน ได้ ไม่เพียงพอแล้วในปัจจุบัน เพราะใน แต่ละวันนี้มีอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้เสมอ เช่น Data literacy ความรอบรู้ด้านข้อมูล, Health literacy ความรอบรู้ ด้านสุขภาพ หรือแม้แต่ Digital literacy ทำให้มีความต้องการความรู้เฉพาะทาง เฉพาะด้าน มากขึ้น และบทบาทของ สื่อมวลชนต้องไวต่อเรื่องพวกนี้และปรับ เปลี่ยนได้ตลอดเวลา”
“เพราะทุกวันนี้ น้ำหนักข่าวไปอยู่ ในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ เทรนด์ หลายๆ อย่างถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และเร็วขึ้น เช่น 3-4 ปีที่ผ่านมา video journalism มาแรงมากๆในบ้านเรา แต่ วันนี้งานวิจัยของต่างประเทศ บอกว่า เทรนด์ของปี 2562 นี้ วิดีโอจะลดลง
แต่เทรนด์ของ broadcast จะเพิ่มขึ้น และเทรนด์ของ Text ของตัวหนังสือ จะ เพิ่มขึ้นกลับมาทำให้คนอ่านอีกครั้ง ด้วย เงื่อนไขของการปรับ “อัลกอริทึม” ของ บริษัทที่เราใช้โซเชียลมีเดียกัน ฉะนั้นจะ ทำอย่างไรก็ได้ให้หลักสูตรนิเทศฯ วารสารฯ เหมือนมีวิชาตัวเบา” เขายกตัวอย่างให้เห็นชัดขึ้น เช่น Data literacy นักข่าวควรรู้ว่าข้อมูลแบบ ไหนที่นักข่าวจะเข้าถึงได้ และแบบไหนเข้า ถึงไม่ได้ มารยาทของการเข้าถึง อะไร ที่สามารถนำไปเผยแพร่ได้ และมากน้อย แค่ไหน มันควรหรือไม่
เช่น กรณีที่ นักข่าวไปหาข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของ นักร้องคนไทยที่ไปเติบโตโด่งดังในเกาหลี ถึงขั้นไปที่บ้านสัมภาษณ์ปู่ย่าตายาย แม้ ในมุมการเป็นคนสาธารณะ ควรเข้าถึงได้ แต่มารยาทในการเข้าถึงข้อมูล และนำ มาเผยแพร่เหมาะสมหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ เป็นหัวใจของคำว่า privacy เส้นแบ่ง ที่มักถูกตั้งคำถามตลอดเวลา ประเด็น เหล่านี้จำเป็นต้องมี literacy ความฉลาดรู้ ใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ
2. นักข่าวในอนาคต ควรมีความรู้แบบตัว “T” อันอาจจะดู สวนทางกันกับข้อแรก ที่ควรรู้ทุกเรื่อง เพราะนักข่าวจะถูกพูดถึงเสมอว่าเป็น เหมือน “เป็ด” รู้ได้ทุกอย่าง แต่ความรู้ แบบตัว T คือ การมีความรู้ที่ “เจาะลึก” เฉพาะทางที่ตัวเองควรจะเป็น มุมลึกที่ตัว เองสนใจเฉพาะด้านเป็นพิเศษ นักข่าวรู้ กว้างจริง แต่มุมของการรู้ลึก เรายังถูก ตั้งคำถามอยู่กันเยอะ สมัยก่อน
ถ้าบอก ว่านักข่าวทำอะไรได้บ้าง ส่วนใหญ่ก็เขียน ถ่ายรูป แต่ไม่เคยมีใครตั้งคำถามว่านักข่าว ควรจะรู้เรื่อง Coding หรือไม่ ควรจะรู้ เรื่องกระบวนการด้านข้อมูลหรือไม่ เช่น เวลาพูดถึง Data journalism มันคือ วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล ความสามารถ ของนักวารสารศาสตร์ จึงควรมีความรู้ ในเรื่องของ Data ด้านการเก็บข้อมูล ประมวลผลใช้ข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ ฟังดูเหมือนมันห่างไกลกันมาก แต่จุดที่ สำคัญคือ ตอนนี้ในสังคมเรามีข้อมูลเยอะ มาก เพราะฉะนั้น การทำข่าวที่มีความรู้กว้างรู้ลึก มันจะช่วยตอบโจทย์สังคม”
นักข่าวพยายามจะช่วยกันยกระดับ ให้สังคมมีความเป็นเหตุผล มีความรู้ หาข้อมูลได้ดีขึ้นหรือเปล่า เช่น เรื่อง ไสยศาสตร์ เรื่องลี้ลับ และเชื่อมโยงให้ มันเป็นเหตุเป็นผล คำถามคือคนในสังคม จะมีความเชื่อมั่นกับสื่อมวลชนมากน้อย แค่ไหน เพราะทุกวันนี้ ถึงขั้นมีคำพูด ที่ว่าใครๆ ก็เป็นนักข่าวได้ ก็เป็นอย่าง นั้นจริงๆ เพราะนักข่าวไม่ได้มีความ สามารถในการอธิบายปรากฏการณ์ได้ ทุกเรื่อง
แต่กลับกัน ด้วยแพลตฟอร์ม อย่าง Social Media เช่น Facebook, Google มันช่วยให้คนที่อยู่ในเชิงลึก เรื่องนั้นๆ สามารถพูดด้วยภาษาของ เขา สื่อสารไปถึงคนอื่นๆ ได้ด้วย ทั้งที่ อันนี้เป็นบทบาทของนักข่าว แต่นักข่าว ไม่สามารถทำหน้าที่นั้นหรือบทบาทนี้ได้” “โจทย์จึงกลับมาที่ห้องเรียนของนิเทศฯ วารสารฯ ว่า การที่มี Active Learning คือห้องเรียนที่เป็นห้องทำงาน เป็นสนาม เรียนรู้ ลองของใหม่ๆ ตลอดเวลา มันจะ ช่วยหล่อหลอมคนอีกแบบหนึ่ง
ผมคิดว่า นี่เป็นหัวใจสำคัญ ที่การเรียนการสอน ในอนาคตควรจะปรับเพิ่ม หรือแม้แต่ คณะอื่นๆ การเรียนสาขาอื่นๆ ก็เป็น ไปในทางแนวโน้มแบบเดียวกัน เพราะ เทรนด์ของโลกเป็นไปแบบนี้ ทุกคนต้อง รู้ทุกกระบวนการ รู้ทุกอย่าง แต่ในขณะ เดียวกันก็ต้องมีโฟกัสของตัวเองด้วย มัน คือการ Balance กันในห้องเรียน ในสื่อ ปัจจุบันเองทุกวันนี้ผู้บริหารสื่อหลายคนรู้ อยู่แล้วว่าของหลายๆอย่างจะถูก Disruption ฉะนั้นการที่เขาถูก Disrupt กับการ ที่ Disrupt ตัวเอง ตัวผลลัพธ์มันต่างกัน เยอะ ถ้าถูก Disrupt นั่นคือนั่งรอ แต่ถ้า เรา Disrupt ตัวเอง เราก็จะได้ลองของ ใหม่ ล้มเอง เล่นเองก็จริง แต่ได้ของที่ ตัวเองกำหนดปลายทางได้…
สำหรับใครอยากอ่านความเห็นคนอื่นๆ ในเรื่องนี้ ติดตามได้ #นิเทศศาสตร์ Never Die
https://www.tja.or.th/books/34-journalist-day/4919–5-2561-
by kokoyadi | Mar 3, 2019 | Blog, Media References
สัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวชวนให้ไปคุยเรื่อง “ทางรอดคนสื่อ” พร้อมกับโจทย์เรื่อง Data Journalism ซึ่งแอบเดาว่า ทางสมาคมเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญเลยชวนผมไปคุย
ส่วนตัวค่อนข้างแน่ใจว่า คำตอบเรา กับ ความคาดหวังของผู้จัด คงไม่ตรงกันแน่ๆ เลยพยายามสื่อสารและตีโจทย์ไว้ 3 -4 ประเด็น ขอแอบเอา Key Message มาเล่าไว้อีกทีนะครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่พยายามจะผลักดันให้เรื่องนี้เกิดจริงๆ ในไทยและไปรอดถึงฝั่ง
1. Data Journalism อาจไม่ใช่ทางรอดของคนสื่อ และทางรอดของ “คนสื่อ” โดยเฉพาะทางธุรกิจไม่สำคัญเท่ากับทางรอดของ “สื่อ” ต่อ Trust ของสังคม ที่ทุกวันนี้ Trust ต่อสังคมที่ยึดโยงกับสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยมันตกต่ำเกินกว่าจะให้ประชาชนศรัทธาในบทบาทของสื่อ
2. Data Journalism ที่มันเกิดมาเกือบ 200 ปีที่แล้ว มันเกิดจาก “ความไม่เชื่อ” ในผู้มีอำนาจ การตั้งถาม และพลังของการเอาข้อมูลที่มีมาต่อสู้ Mentality แบบนี้มันต้องการสื่อที่มีพลังคัดคานอำนาจ ความรู้ และสถานะทางสังคมของผู้มีอำนาจ
3. งาน Data Journalism ต้องการการทำงานเป็นทีม มีทักษะที่หลากหลาย และเข้าใจการทำงานพื้นฐานของกันและกัน การสร้าง Ecosystem ให้คนทำงานที่หลากหลายได้เจอกัน ได้แลกเปลี่ยนกัน ได้เห็นเครื่องมือของกันและกัน จะสร้างบรรยากาศและความร่วมมือใหม่ให้เกิดได้ คำถามว่าจะเอา “Coder มาเทรนเป็นนักข่าว หรือ จะเอานักข่าวมาเทรนเป็น Coder จึงเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจว่าโลกของการทำงานยุคใหม่เป็นอย่างไร
4. แม้ว่า ต้นทุนของ Data Journalism จะสูง แต่หลาย Business ในแง่ Content ก็สามารถทลายข้อจำกัดด้านการจ่ายเงินได้ ทั้งในรูปแบบของ Subscribe การมี Sponsor หรือแม้กระทั่งการบริจาค ดังนั้น ถ้าผลงานให้คำตอบสังคมได้ในแง่ของ Trust (ในข้อ1) เรื่องต้นทุนไม่ใช่ของยาก
5. Data Journalism เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วย Branding ให้สำนักข่าว เพราะคุณค่า ความน่าเชื่อถือในตัวมันเอง และที่สำคัญใครก็ลอกไม่ได้
ป.ล. บนเวที ผมเปิดประเด็นเรียกแขกว่า นักข่าวต้องเรียน Coding มั้ย ซึ่งก็สนุกดีนะครับที่คนเริ่มมาเถียงกัน สุดท้าย ก็มีสไลด์ที่เตรียมไปอันนึงพอเปิดเล่าให้ฟังจบ คุณสุทธิชัยหัวเราะใหญ่เลยนะครับ
วีดีโอ facebook live ของทาง ThaiPBS
https://www.facebook.com/ThaiPBSFan/videos/247214969282712/
ส่วนสไลด์ที่เตรียมไปอยู่ใน
https://www.scribd.com/…/DataJournalism-%E0%B8%97%E0%B8%B2%…
.
by kokoyadi | Mar 2, 2019 | Media References
สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์มาชวนคุยเรื่อง โจทย์ที่ท้าทายในอนาคตของวงการข่าว
วันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2562 เอามาเก็บไว้ก่อน
https://www.tja.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=4884:2019-01-24-14-10-44&catid=168:2018-05-09-12-47-39
ในยุค 2019 ยุคที่เทคโนโลยีสื่อสาร ถาโถม หนักหน่วง “สื่อสารมวลชน” รวมทั้ง อุตสาหกรรมสื่อฯ จะตั้งรับและปรับเข้าหา “โอกาส” นั้นได้อย่างไร หรือ คลื่นของเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะกลายเป็น “วิกฤต” ที่เกิดเป็น “สึนามิ” ที่ “สั่นสะเทือน” ไปทั้งวงการ แต่ไม่ว่าจะเป็น “โอกาส” หรือ “วิกฤต”มีสิ่งที่น่ารู้ และ เรียนรู้ เพื่อรับมือกับ โลกใหม่ที่กำลังเปิดประตูมาทักทาย
“ราชดำเนิน” พาไปพูดคุยกับ “อ.พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์” นักจัดการความรู้มืออาชีพ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)” ถึงทิศทางอุตสาหกรรมสื่อในภาพรวมปี 2562
“สถานการณ์ดูเหมือนจะแย่ลง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เพราะในโลกของอุตสาหกรรมสื่อฯ หากมองในมุมด้านธุรกิจ จะพบว่ามีทั้ง ผู้แพ้ และ ผู้ชนะ ปัจจัยชี้วัดที่ง่ายที่สุดในแง่นี้ คือ รายได้ที่เข้าสู่ธุรกิจสื่อ แต่มองปัจจัยที่วัดนี้เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะยังมีปัจจัยเรื่องคุณภาพของสื่อ คุณค่าของสื่อ ผลกระทบต่อสังคม ที่ต้องพิจารณาร่วมด้วยว่า ช่วยให้สังคมไทยเป็นไปในที่ทางที่ดีขึ้นหรือไม่ ที่ผ่านมา สื่อสารมวลชนได้สร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นในฐานะคนทำงานมืออาชีพให้กับประชาชนดีพอหรือไม่ เป็นคำถามที่ผู้คนมักถามถึงอยู่เสมอ ซึ่งตามทฤษฎีสื่อพื้นฐานแล้ว สื่อมวลชนต้องมีหน้าที่ทั้งสะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคม และนำพาสังคมไปสู่ภาพที่ดีกว่าให้ได้ หากสื่อฯ ยังคงทำหน้าที่นั้นอยู่ ระดับความศรัทธาของสื่อในสายตาประชาชนก็ดีขึ้นได้”
ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่าง สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศทั่วโลก เขายึดถือและเชื่อถือในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และตรวจสอบกันเอง สื่อก็มีบทบาทสำคัญมากต่อสังคม และในทางกลับกัน ผู้คนก็ให้ความหมายและคุณค่ากันสื่อเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคสมัยที่โลกที่ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น มีความท้าทายใหม่ ขณะที่ โจทย์ยิ่งทวีความยาก
เห็นได้จาก กรณี Disruption ที่กระทบกับผู้คนมากมาย ความอยู่รอดเป็นคำถามให้กับคนจำนวนมาก ที่ไม่เว้นแม้แต่ตัวสื่อมวลชนเองที่ต้องปรับตัวด้วย
กับโจทย์ใหม่ที่ “อ.พีระพงษ์” แนะนำให้ “สื่อมวลชน” ควรปรับเพื่ออยู่รอด นอกจากยึดฐานมั่นในเรื่องความเป็นมืออาชีพ สร้างสรรค์ข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับสังคมแล้ว ต้องติดดาบ “วิทยายุทธ” ให้ตัวเอง คือ
1. สื่อต้องมีวิชาตัวเบา การเรียนรู้สิ่งใหม่ การเรียนรู้ของเดิมด้วยวิธีใหม่ๆ และ สามารถถอดรื้อการเรียนรู้ที่เรียนมา ทำตัวให้เบา ไม่ยึดติดกับ ความรู้ ความเชื่อใดๆ และพร้อมกับการท้าทายเรื่องราวต่างๆ จากโลกยุคใหม่เสมอ
“เพราะความรู้และข้อมูลข่าวสารของโลกนี้อายุสั้นลงเรื่อยๆ หลายอย่างที่เชื่อว่าจริง อาจจะไม่จริง หลายอย่างที่เชื่อแบบนี้ ในยุคสมัยหนึ่งอาจไม่เป็นอย่างที่เชื่อ อย่างวิชาตัวเบา ที่สื่อฯ ต้องมี คือ การเรียนรู้สิ่งใหม่ ลืมการเรียนรู้ด้วยวิธี หรือแนวคิดแบบเก่า”
2.ต้องมีความรู้รอบด้านต่างๆ ไม่ใช่แค่มีทักษะอ่านออก เขียนได้เท่านั้น เพราะโลกยุคใหม่ต้องการมากกว่าแค่ “อ่านออกเขียนได้” แต่ความรู้เฉพาะทางจำเป็นต่อการสร้างต้นทุนที่ทำให้สังคมดีขึ้น อนาคตแหล่งที่มาของความรู้ มีอยู่อย่างไม่จำกัด มีความรู้แพร่กระจายอยู่หลากหลาย หากสื่อมวลชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ เชื่อว่านักข่าวจะเป็นส่วนที่ตอบโจทย์ของคำว่า สังคมจะดีขึ้นได้อย่างไร และเมื่อทำได้ จะนำไปสู่การฟื้นความศรัทธาจากประชาชนได้
และ 3. ความรู้เฉพาะทางเชิงลึก ในอนาคตแนวโน้มของห้องข่าวจะเล็กลง เพราะปัจจัยทางธุรกิจต้องควบคุมค่าใช้จ่าย ต้องใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีเข้าช่วย ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก คือ นักข่าวต้องทำงานกับคนที่มีความรู้หลากหลาย และกว้างขวางมากขึ้น เพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่มีคุณภาพที่จำเป็นในโลกอันซับซ้อน
กับโจทย์ใหญ่อีกเรื่อง คือ กระแสของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้ง Facebook Live, YouTube ที่เป็นเครื่องมือ – ตัวช่วยสื่อสารไปยังประชาชน ได้รวดเร็ว ขณะเดียวกัน “คน” สามารถสื่อสาร หรือเป็นนักข่าว ให้คนนอกพื้นที่รับรู้เรื่องราวได้ นี่คือ แนวโน้มที่สื่อกระแสหลักต้องพังทลายหรือไม่ “อ.พีระพงษ์” มองว่า เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ต้องเรียนรู้ และปรับตัว บนความคาดหวังรวมถึงพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลง แนวโน้มของโลก ในยุคปัจจุบันมีงานวิจัยคาดการณ์ว่า คนจะหันมาฟังพอดแคสต์และอ่านข้อความมากกว่า ดูวีดีโอที่มีแต่โฆษณา และของแบบนี้เปลี่ยนเร็ว อาจจะกลับไปกลับมาตาม อัลกอริทึมของคอมพิวเตอร์หรือพฤติกรรมของผู้คนอีก ซึ่งสื่อยิ่งต้องรู้ให้ไว ตามให้ทัน
นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาปั่นป่วน ปฏิเสธการปรับตัวไม่ได้ แต่สิ่งที่จะทำให้ นักข่าว แปรวิกฤต เป็นโอกาส คือ ต้องทดลอง และ ลองของใหม่ตามความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ หากเรียนรู้บ่อยๆ ลองของใหม่ตลอด แม้จะผิดพลาด แต่ก็ เจ็บตัวน้อยกว่า
“ปัจจุบันคำว่า sand box ถูกใช้ในความหมายไกลกว่าแค่ กระบะทราย แต่เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ ได้ลองผิดลองถูก ควบคุมความเสียหายได้ เด็กๆ จะเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ดีกว่าในห้องเรียน เพราะได้ลองของใหม่ๆ สิ่งที่ได้คิดเอง ได้ตั้งโจทย์เอง ส่วนการเรียนในห้องเรียน คือ การเรียนที่คอยเดินตามครู ดังนั้นหากได้ลองเล่นเอง เจ็บเอง แม้จะล้ม ก็เหมือนล้มในกะบะทราย แม้จะเจ็บ แต่ก็ยังปลอดภัยมากกว่า ดังนั้นหากเปิดพื้นที่ห้องข่าว เปิดโอกาสใช้คนข่าวได้กล้าลองคิด เลือก สร้างนวัตกรรม ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะหลากหลาย จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ ที่ตอบโจทย์คน และสร้างความน่าเชื่อถือ”
เมื่อวิกฤตที่เข้ามา สิ่งที่ต้องทำให้อยู่รอด คือ การปรับตัว แล้ว จะเริ่มต้นยังไงดี “นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ” ชี้เป็นแนวทางซึ่งเป็นหัวใจว่า “นักข่าวต้องเป็นผู้ประกอบการ และสร้างนวัตกรรม”
“ผมไม่ได้บอกว่านักข่าวต้องสร้างไอโฟนเป็น แต่ต้องคิดสิ่งที่สร้างมูลค่า และพาให้คนอ่านได้ประโยชน์และสังคมต้องดีกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีโจทย์ใหญ่เรื่องศรัทธากับความเชื่อถือ ของยากแบบนี้ ต้องการวางโจทย์ที่ถูกของสื่อร่วมกับองค์กร สร้างแรงผลักดันที่มีความคิด ริเริ่ม และสร้างสรรค์ เพราะในโลกยุคใหม่ ผมไม่เชื่อว่าจะมีสำนักข่าวเดียว หรือ เจ้าใหญ่เพียงที่เดียว จะผูกขาดความน่าเชื่อถือได้ ดังนั้นโอกาสคือการเกิดขึ้นของห้องข่าวเล็กๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคม และสร้างความน่าเชื่อถือได้ต่อเนื่อง แบบระยะยาว”
กับประเด็นนี้ ทำให้นึกถึง “หุ่นยนต์ผู้ประกาศข่าว” ที่จะเข้ามาแทนที่ “ผู้ประกาศข่าว” และจะเป็น วิกฤตคนข่าว ที่ต้องหาวิธีรับมือหรือไม่
“อ.พีระพงษ์” มองว่า แม้ว่าหุ่นยนต์อ่านข่าว ตอบโจทย์ได้หลายอย่าง ทั้งเร็ว สะดวก และควบคุมได้ แต่ยังมีสิ่งที่เป็นคำถามที่ท้าทายไม่น้อย โดยเฉพาะยุคสงครามข่าวสาร สร้างข่าวเท็จ ข่าวปลอม ข่าวลือ ข่าวปล่อย จะทำอย่างไร ยิ่งให้ผ่านเทคโนโลยียิ่งเนียน ซึ่งถึงจุดหนึ่งคนจะเห็นตัวอย่างทั้งดีและไม่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ
“เชื่อว่าคนจะระวังกันเยอะ และตั้งคำถามด้านความน่าเชื่อถือ เพราะข่าวสาร หัวใจสำคัญคือการสร้างความน่าเชื่อถือ ถ้าใช้หุ่นยนต์แล้วต้องสูญเสียความน่าเชื่อถือ ดังนั้น เอ.ไอ. ก็สู้นักข่าวจริงๆ ไม่ได้”