สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปดำเนินรายการเสวนาสาธารณะ “ความท้าทายของสื่อสาธารณะ บนความแตกต่างของช่วงวัย” ซึ่งมีวิทยากรจากทุกช่วงวัยมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับ “สื่อสาธารณะ” และ “ความแตกต่างของช่วงวัย”
ซึ่งวิทยากรบนเวที ได้แก่ คุณ เทพชัย หย่อง อดีตผู้อำนวยการ ThaiPBS ดร.สังกมา สารวัตร ผู้ดำเนินรายการ “เช้าทันโลก” ทาง FM 96.5 และอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร
รศ. พิจิตรา ศุภสวัสดิกุล อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ที่เป็นเจ้าของโปรเจ๊กซ์ “Data incubator” คุณ ณัฐกร เวียงอินทร์ Co-Founder & บรรณาธิการของ “The People” และคุณ ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน Co-Founder & บรรณาธิการ Spaceth.co ซึ่งคิดว่า ถ้าจะให้รวบรวมบทสรุปที่ผมได้จากงานเสวนาเป็น 6 ข้อเลยดังนี้นะครับ

1. คนบริโภคสื่อเปลี่ยนไปแล้ว จากเดิมเปิดทีวีแช่ไว้ แล้วข้อมูลข่าวสารวิ่งเข้าหาคน แต่วันนี้ คนเลือกสื่อที่อยากรู้ได้เอง วันนี้ Hashtag อะไรมา ผู้คนเค้าฉอดอะไรกัน เราตามเสพเท่าที่เราสนใจได้ไม่ยาก ยิ่งเด็กยุคใหม่ที่เกิดมา เกิดมาพร้อมกับสื่อ On demand จะเลือกเวลาดู เลือกหยุด เลือกเพลย์ มันคืออำนาจในการเลือก
2. ครอบครัวที่คุยกันมากๆ ช่องว่างระหว่างวัยก็จะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ตัวอย่างเช่น วัยรุ่นจำนวนมากช่วยสอนพ่อแม่เข้าถึงสื่อ ก็ช่วยเลือกสื่อให้พ่อแม่ เพราะอยากให้คุยกันรู้เรื่อง อยากให้คุยเรื่องเดียวกัน ทำให้พ่อแม่ในอีกเจนเนเรชั่นนึงที่เป็นผู้ใหญ่เข้าถึงสื่อออนไลน์ สื่อใหม่ ก็จะปรับตัวได้ เข้าใจความเปลี่ยนแปลง และทำให้วิธีคิดเปลี่ยนไปด้วย ตัวอย่างเรื่อง สิทธิ ความเท่าเทียม เรื่องเพศ กลายเป็นเรื่องที่คนสองช่วงวัยได้คุยกัน ส่วนที่ครอบครัวที่มีช่องว่างมากหน่อย คุยกันไม่มากพอ ก็จะเป็นกลุ่มติดกรอบอนุรักษ์นิยม ความคิดเปลี่ยนตามไม่ทันยุคสมัย ก็ติดอยู่บนโลกคู่ขนาน ที่ทำให้เกิดคำถามในอีกด้านหนึ่งว่า “ทิ้งพ่อแม่ไว้หน้าจอ (ทีวี) มากเกินไปหรือเปล่า”
3. พลังของผู้สูงอายุเป็นอย่างไร ยังคงคาดเดาได้ยาก เพราะสังคมสูงวัย จำนวนผู้สูงอายุกำลังมากขึ้น และจะสะสมมากขึ้นเรื่อย น่าจะขึ้นอยู่กับวิธีที่ผู้คนในสังคมพูดคุยกัน
4. หัวใจสำคัญของสื่อ ยังไงก็อยู่ที่เนื้อหา “Content always is the king” สื่อที่ปรับตัวในแง่เนื้อหาไม่ได้ยังไงก็ตาย ซึ่งสื่อใหม่ได้เปรียบสื่อเก่าตรงที่มี Instance feedback (ได้การตอบสนองทันที) เพราะเดิมสื่อเก่ากว่าจะผลตอบรับต้องรอข้ามวัน แม้วันนี้มีเครื่องมือพวก Social Listening ก็เร็วไม่เท่าสื่อใหม่ที่เห็นยอด Like Love Sad Angry และคอมเมนต์ต่างๆ ทันที ซึ่งช่วยให้คนทำเนื้อหาถูกควบคุมและตรวจสอบโดยผู้ชมทันที
5. สื่อสาธารณะทั่วโลก รวมทั้ง ThaiPBS ล้วนเจอความท้าทายเหมือนกัน คือ ต้องแข่งกันแย่ง Eyeball ไม่ได้แข่งกับช่องทีวีด้วยกันอีกต่อไป เพราะมี Screen และ Platform แย่ง Eyeball ด้วย
6. สื่อกระแสหลักยังมีจุดแข็งคือเรื่อง Trust (ความเชื่อมั่น) ที่ผ่านมา ThaiPBS ยังได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจในช่วงวิกฤต ที่บ้านเรามีวิกฤตบ่อยครั้ง (ควรดีใจมั้ย?) เช่น ความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อเหลือง เสื้อแดง เหตุการณ์น้ำท่วมปี 54 เหตุการณ์หมูป่าติดถ้ำ การกราดยิงที่โคราช ฯลฯ ซึ่งทุกครั้งที่มีวิกฤต มีคนให้ความสนใจสื่อกระแสหลักมากขึ้น และสื่อสาธารณะก็ตอบโจทย์ได้พอสมควร เพราะคนยังให้ความเชื่อมั่นในแง่ความถูกต้องและจริยธรรมในการนำเสนอ
ทั้ง 6 ข้อเป็นข้อสรุปที่น่าสนใจบนเวทีเสวนาได้คุยกันนะครับ แต่มีบางอย่างที่เสียดายเวลาน้อยไปนิดและเป็นคนดำเนินรายการเองเลยไม่ได้พูดสิ่งที่คิดและอยากเห็นซึ่งขออนุญาตยกไว้ตอนหน้าจะมาเขียนสิ่งที่คาดหวัง และ ความท้าทายใหม่ๆ ที่สื่อสาธารณะต้องคิดใหม่นะครับ
0 Comments