เรื่องการควบรวมทรู-ดีแทคเป็น 1 ในมหากาพย์ของการทำงานสื่อสารที่น่าสนใจเลยอยากทดไว้ว่า มีอะไรบ้างที่น่าชวนดู (+ เก็บเป็นบันทึกเท่าที่เปิดเผยได้นะครับ)
อันนี้ เป็นการทำงานในส่วนของเว็บ TDRI

อันนี้เป็นคลิปที่คุยกับ The standard ว่าเรื่องนี้ต้องเล่นนะครับ เลยได้คลิปออกมา 2 คลิป ในเวอร์ชั่น อ.สมเกียรติเล่าเอง กับ คุณอ๊อฟของ The Standard ที่ช่วยรวบรวมประเด็นไว้
ส่วนอันนี้ ยกความครีเอทให้ คุณเค๊ก ของ WorkPoint ที่เอาของเล่นมาช่วยเป็น Prop ในการอธิบายตัวละครต่างๆ
ส่วนอันนี้ คือ ขุ่นแม่ เสาหลักวงการสื่อ คุณจอมขวัญลุยเองครับ ในรายการ นิติพิศวง
และหลัง มติของ กสทช. ออกมา สรุปว่า “ควบรวม” จากคำตัดสินมติเป็น 2-2-1 ไม่ใช่ 3-2
ที่ผลการลงคะแนนเสียงครั้งนี้ ก็ดีตรงที่ฉีกหน้ากากออกมาเลยว่า…
“กสทช.” ที่เป็นตัวแทนของการคุ้มครองผู้บริโภค และตัวแทนของการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ สองคนนี้ ลงคะแนน “สนับสนุนควบรวม”
สิ่งที่น่าทดไว้คือ ความเห็นส่วนตัวในการลงคะแนน
คนแรกที่เปิดก่อน คือ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต โพสใน facebook ไว้ว่า
“…ในทางกฎหมาย การตัดสินใจสงวนความเห็นที่จะรับทราบการรวมธุรกิจ และยืนยันที่จะไม่อนุญาต เพราะเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันซึ่งสามารถส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแง่การลดหรือจำกัดการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องค่ะ
เหตุผลสนับสนุนมี 7 ข้อหลักดังต่อไปนี้ค่ะ
1) เมื่อรวมธุรกิจ TRUE และ dtac แล้ว จะทำให้เกิดบริษัทใหม่ (NewCo) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ดังนั้น ทั้ง TUC และ DTN จะกลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีความความสัมพันธ์กันทางนโยบาย หรืออำนาจสั่งการเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity) ที่ไม่มีการแข่งขันระหว่างกันตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ทั้งนี้ ก่อนการรวมธุรกิจ TUC มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 31.99 และ DTN มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 17.41 ภายหลังการรวมธุรกิจ NewCo จะมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 49.40 และทำให้ในตลาดเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 ราย หรือเกิดสภาวะ Duopoly
2) SCF Associates Ltd. ที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแข่งขันและนโยบายการสื่อสารระดับโลกสรุปว่า จากการศึกษาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคมากกว่าข้อดีที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งมาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ทั้งหมดในบริบทของตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย เช่น การสนับสนุนให้เกิดผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNO) รายใหม่, การส่งเสริมการแข่งขันในตลาดค้าส่ง, การร่วมใช้คลื่น (Roaming) และการโอนคลื่นความถี่ (Spectrum Transfer) เป็นต้น
ในบริบทของเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องลดช่องว่างทางดิจิทัลอย่างประเทศไทย โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอุปกรณ์ที่คนใช้มากที่สุดเพื่อเชื่อมต่อออนไลน์ การรวมธุรกิจซึ่งจะนำไปสู่การกระจุกตัวของตลาด และโอกาสที่ค่าบริการจะสูงขึ้น จึงไม่สมควรอนุญาตด้วยเหตุผลเพื่อการพัฒนาประเทศที่ต้องพึ่งพิงตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการแข่งขันสูงและเป็นตัวกระตุ้นทางเศรษฐกิจ
3) การบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจภายใต้เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะต่างๆ ที่บังคับผู้ขอรวมธุรกิจนั้น ไม่น่าจะช่วยเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาดได้ และอาจเป็นไปได้ยากในภายหลังจากการควบรวม โดยในส่วนของ กสทช. ก็จะต้องใช้อำนาจทางกฎหมายและทรัพยากรในการกำกับดูแลอย่างมาก โดยไม่อาจคาดหมายได้ว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดได้เช่นเดียวกับที่เคยมีอยู่ก่อนการควบรวมหรือไม่
4) ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงประโยชน์ต่อสาธารณะ จากเอกสารประกอบการขอรวมธุรกิจ ยังไม่ชัดเจนและเพียงพอ
5) การรวมธุรกิจมีโอกาสนำไปสู่การผูกขาดและกีดกันการแข่งขัน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40, 60, 61 และ 75 และขัดต่อแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 ที่ต้องเพิ่มระดับการแข่งขันของการประกอบกิจการโทรคมนาคม
6) การให้รวมธุรกิจจะส่งผลกระทบกว้างขวางและต่อเนื่องในระยะยาว อีกทั้งยังหวนคืนไม่ได้ เพราะตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยอยู่ในภาวะอิ่มตัว ทำให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดและเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้ยาก เช่นกรณีการรวมธุรกิจของเม็กซิโกและฟิลิปปินส์ ตามรายงานของที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะหวนคืนจากภาวะผูกขาดโดยผู้ประกอบการหนึ่งหรือสองรายไปสู่สภาพการแข่งขันก่อนการรวมธุรกิจ
7) หนึ่งในผู้ขอรวมธุรกิจมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจใกล้ชิดกับกลุ่มธุรกิจครบวงจร (Conglomerate) รายใหญ่ ซึ่งครอบครองตลาดสินค้าและบริการในระดับค้าปลีกและค้าส่งของทั้งประเทศ จึงมีโอกาสที่จะขยายตลาดโดยใช้กลยุทธ์ขายบริการแบบเหมารวม ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการรายอื่น…”
ส่วน รศ. ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ สรุปประเด็นข้อวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ และความเห็นทางเศรษฐศาสตร์ เรื่องการควบรวมกิจการทรูและดีแทค ไว้ 6 ประเด็นดังนี้
1. ในทางกฎหมาย กสทช.มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตในการรวมธุรกิจ ตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ประกอบกับข้อ 8 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549
2. การรวมธุรกิจระหว่าง 2 บริษัทดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีค่าดัชนี Herfindahl-Hirschman Index (HHI) มากกว่า 2,500 และเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 ไม่ว่าจะคำนวณมาจากส่วนแบ่งตลาด ซึ่งคิดจากจำนวนผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการในตลาดแต่ละราย หรือส่วนแบ่งตลาดจากรายได้ของผู้ให้บริการก็ตาม
โดยผลการศึกษาซึ่งคำนวณค่า HHI จากจำนวนผู้ใช้บริการ พบว่าตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ หลังการรวมธุรกิจ HHI เพิ่มขึ้นจาก 3,612 เป็น 4,725 หรือเพิ่มขึ้น 1,113 และตลาดบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นจาก 3,511 เป็น 4,745 หรือเพิ่มขึ้น 1,234
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อตลาดต้นน้ำในระดับโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยตลาดบริการการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หลังการรวมธุรกิจ HHI เพิ่มขึ้นจาก 3,773 เป็น 5,000 หรือเพิ่มขึ้น 1,227 ตลาดบริการขายส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นจาก 2,979 เป็น 3,393 เพิ่มขึ้น 414 และตลาดบริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นจาก 3,356 เป็น 5,024 หรือเพิ่มขึ้น 1,668
3. มีความเป็นไปได้สูงที่การรวมธุรกิจจะก่อให้เกิดการร่วมมือกันทางธุรกิจที่ก่อให้เกิดอำนาจตลาดสูง (Collusion) ซึ่งจะส่งผลต่อการแข่งขัน เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยาก หรือไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้าสู่ตลาด
4. ผลกระทบจากการรวมธุรกิจที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมีสูงมาก ซึ่งประกอบด้วย
- อัตราค่าบริการ (Price) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และทางเลือกในการรับบริการน้อยลง
- ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) มีแนวโน้มลดลง และจะไม่ส่งผ่านไปสู่ผู้บริโภค
- ผู้รวมธุรกิจไม่มีแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี หรือถ้ามีก็ล่าช้า
- คุณภาพการให้บริการ (Quality of Services) ของผู้ประกอบการในตลาดอาจลดลง
- อุปสรรคการเข้าสู่ตลาด (Barriers to Entry) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้
- ผู้รวมธุรกิจอาจลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อให้เกิดบริการทั่วถึง เนื่องจากเมื่อผู้ให้บริการขาดแรงจูงใจในการแข่งขันแล้ว จึงทำให้ไม่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนต่ำ หรือลงทุนในพื้นที่เหล่านั้นน้อยลง ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ย่อมทำให้ “ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม” เพิ่มสูงขึ้น จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide)
- ผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และต่อ GDP ที่ทำให้ GDP มีแนวโน้มลดลง และอัตราเงินเฟ้อ (Inflation) เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการรวมธุรกิจ
5. ดังนั้น การรวมธุรกิจระหว่างทรู และดีแทค เป็นการดำเนินการที่มีความเสี่ยงสูงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสาธารณชน และสังคมโดยรวม
ทั้งนี้ ประโยชน์จากการรวมธุรกิจยังขาดความชัดเจน ว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใดจากการรวมธุรกิจในครั้งนี้ ซึ่งในกระบวนการของการพิจารณาก็ได้พยายามประเมินผลดีของการรวมธุรกิจผ่านวิธีการต่าง ๆ แต่ผลยังไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัดที่มาบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดต่อสาธารณชน เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศได้
6. จากการศึกษาและประสบการณ์ในอดีตของประเทศต่าง ๆ ที่เกิดการรวมธุรกิจและเหลือผู้ประกอบการ 2 รายในตลาด พบว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ (Remedies) ไม่สามารถป้องกันหรือลดทอนผลกระทบอันเกิดจากระดับการผูกขาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้
ดังนั้น จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น และเพื่อไม่ให้ประเทศต้องเผชิญกับความเสี่ยงดังกล่าว ผมจึงไม่เห็นด้วยในการพิจารณาอนุญาตการรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
ที่มา: ประชาไท
คนที่สาม ต่อพงษ์ เสลานนท์ กสทช. ที่มาในนามตัวแทนด้านคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ในความเห็นส่วนตัวกรณีการควบรวมไว้ดังนี้
“…จากกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) ข้าพเจ้ามีความเห็นข้อกฎหมาย ดังนี้
พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 มาตรา 4 มิให้ใช้บังคับแก่การกระทํา ของ (4) ธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกํากับดูแลในเรื่องการแข่งขันทางการค้า ดังนั้น เมื่อ กสทช. มีประกาศ เกี่ยวข้องกับการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะตาม (4) แล้ว กรณีการรวมธุรกิจ ระหว่างสองบริษัทดังกล่าวจึงไม่อยู่ภายใต้อํานาจหน้าที่ของสํานักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า
การรวมธุรกิจ ตามประกาศฉบับ พ.ศ.2561 ข้อ 5 วรรคหนึ่ง ที่ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มี อํานาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตรวมกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นหรือผู้มีอํานาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตราย อื่น แล้วเกิดเป็นนิติบุคคลใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การเข้าถือครองธุรกิจ ตามประกาศฉบับ พ.ศ.2549 ข้อ 8 เพื่อจะเข้าควบคุมนโยบายหรือ การบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น โดยการเข้าซื้อหรือถือหุ้นของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นหรือเพื่อเข้าซื้อ สินทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น เห็นว่ากรณีนี้ ผู้รับใบอนุญาตทั้ง 2 รายยังคงดําเนิน ธุรกิจต่อไปเหมือนเดิม
พฤติการณ์ดังกล่าวมีผลทําให้ผู้รับใบอนุญาตทั้ง 2 ราย อาจจะบริหารธุรกิจโดยคนกลุ่มเดียวกัน จึงทําให้สามารถรวมหัวหรือสมรู้ร่วมคิดกันกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งในการดําเนินธุรกิจ อันอาจ ส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม จึงจะต้องได้รับอนุญาต จากคณะกรรมการก่อน
ส่วนการรวมธุรกิจตามประกาศฉบับ พ.ศ.2561 ข้อ 5 วรรคหนึ่ง มีความแตกต่างกับการถือ ครองธุรกิจรายอื่น คือ ไม่ได้จะเข้าควบคุมนโยบาย หรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นแต่อย่างใด
วิธีการถือครองธุรกิจตามประกาศฉบับ พ.ศ.2549 ข้อ 8 โอกาสจะมีผลกระทบต่อตลาด โทรคมนาคมรุนแรงเสียหายมากกว่าการรวมธุรกิจตามประกาศฉบับ พ.ศ.2561 ข้อ 5 วรรคหนึ่ง เพราะมี ความประสงค์ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า กระทําเพื่อจะเข้าควบคุมนโยบาย หรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาต รายอื่น
การรวมธุรกิจตามประกาศฉบับ พ.ศ.2561 ข้อ 5 วรรคหนึ่ง จึงสามารถป้องกันผลกระทบ ความเสียหายล่วงหน้าได้ ตามข้อ 12 ในประกาศดังกล่าว
ส่วนการถือครองธุรกิจตามประกาศฉบับ พ.ศ.2549 ไม่สามารถกําหนดเงื่อนไขหรือมาตรการ เฉพาะล่วงหน้าได้
มาตรการเฉพาะตาม หมวด 4 จะนํามาใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีผลกระทบเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว เป็นมาตรการเฉพาะสําหรับใช้ลงโทษกรณีก่อให้เกิดผลกระทบมีความเสียหาย
เมื่อไม่เข้าข่ายข้อ 8 ตามประกาศ กทช. ฉบับ พ.ศ. 2549 คณะกรรมการ กสทช. จึงไม่มีอํานาจที่จะพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวมธุรกิจ แต่คงมีอํานาจที่จะกําหนดเงื่อนไขหรือนํามาตรการ เฉพาะสําหรับผู้มีอํานาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสําคัญ ตามข้อ 12 ประกาศ กสทช. ฉบับ พ.ศ. 2561 ที่ออก มาตรการตามความมาตรา 27 (11) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบ กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553
ส่วนคนสุดท้ายที่เป็น ประธานกสทช. ผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์ (วันนี้ 27 Oct) ยังไม่มีการเปิดเผยความเห็นส่วนตัวออกมานะครับ แต่ก็ไม่ต้องคาดหวังกันหรอกครับ เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีประวัติการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่เคยมีประวัติการทำงานในธุรกิจสื่อสารหรือโทรคมนาคมมาก่อน แต่ผ่านกระบวนการสรรหา สว.ลงมติเป็นกรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค … ก็เท่านั้นเอง
สุดท้าย หลังจาก “มติอัปยศ” ออกมา อ.สมเกียรติ โพสใน facebook ไว้ที่ << โดยมีคำแนะนำว่า…
ประชาชนโดยเฉพาะองค์กรผู้บริโภคควรดำเนินการดังต่อนี้
1. ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลยกเลิกมติของ กสทช. ที่ปล่อยให้มีการควบรวมกิจการ และขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวอย่าให้มีการควบรวมก่อนมีคำตัดสิน
2. ดำเนินการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการที่ กสทช. อนุญาตให้ควบรวมแล้วมีผลทำให้บริการโทรคมนาคมซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน จะมีค่าบริการที่สูงขึ้นในอนาคตและเป็นภาระต่อประชาชนตามที่มีผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ไว้ ซึ่งจะทำให้การกระทำของ กสทช. ขัดต่อมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ในปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญก็กำลังพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าโดยอ้างมาตราเดียวกันอยู่
3. ร่วมมือกับองค์กรด้านต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นร้องเรียนให้ ปปช. ตรวจสอบการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.
4. เรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติโดยเฉพาะ สส. ตรวจสอบ กสทช. อย่างเข้มข้น และพิจารณาแก้ไขกฎหมาย กสทช. ครั้งใหญ่เพื่อปฏิรูป กสทช. และสำนักงาน กสทช. ให้มีความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อประชาชน
5. รณรงค์ให้ประชาชนและผู้บริโภคแสดงออก โดยงดซื้อสินค้าและบริการจากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทุนผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ อาหารและอาหารสัตว์ อินเทอร์เน็ต ระบบการชำระเงินและกิจการอื่นๆ
0 Comments