โลกละลาย: เมื่อมนุษย์ไม่อาจอาศัยอยู่บนโลกได้อีกต่อไป

kokoyadi
2022-09-16

David Wallace-Well เขียน | ณิชาภา ชิวะสุจินต์ แปล | Cactus พิมพ์ 

เล่มนี้เป็นหนังสือที่ฉายภาพปัญหาโลกร้อนได้สยดสยองมาก และโดยเฉพาะความเก่งกาจในการเปรียบเทียบตัวเลขที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของโลกร้อนกับเหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ เช่น ถ้าดูแค่เรื่องมลพิษทางอากาศเพียงสาเหตุเดียวนะ จะมีประชากร 150 ล้านคนทั่วโลกที่เสียชีวิตด้วยอาการต่างๆ เพียงแค่โลกร้อนขึ้น 2 องศา ตัวเลขแบบนี้อาจไม่แน่ใจว่ามันใหญ่แค่ไหนเค้าบอกว่าเท่ากับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลก 25 ครั้ง นี่ยังไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกเหรอ 

หรือ โลกเคยเจอ “ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในยุโรป” ที่จริงๆ ก็มาจากผลของสงครามที่เกี่ยวพันโลกร้อนและความแห้งแล้งช่วงปี 2011 นั่นแหละ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้าเกิดน้ำท่วมในบังกลาเทศจริงอย่างที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่ายังไงก็เกิด เหตุการณ์ในเอเชียใต้จะส่งผลต่อผู้คนมากกว่า 10 เท่า และไม่ได้เกิดที่เอเชียเท่านั้น แต่ประเทศรวมถึงแถบลาติน อาแฟริกา ด้วยรวมๆ แล้วจะส่งผลต่อคนกว่า 150 ล้านคน ซึ่งใหญ่กว่า ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ถึงร้อยเท่า แล้วโลกจะปั่นป่วนแค่ไหน 

ปรากฏการณ์โลกละลาย จะป่วนโลกในทุกระดับ 

อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จะส่งผลต่อการปลูกข้าวโพดทำให้ผลผลิตลดลงโดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้นำผลิตข้าวโพดอย่าง สหรัฐฯ จีน อาร์เจนตินา บราซิลและเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 4 องศาผลผลิตจะลดลงอย่างน้อยหนึ่งในห้าของทั้งหมด

“ภัยแล้ง” จะเกิดขึ้นในวงกว้างจนเป็นภัยต่อการผลิตอาหาร เนื่องจากพื้นดินที่เหมาะกับการเพาะปลูกจะหายไปเป็นทะเลทรายอย่างรวดเร็ว พื้นที่เกษตรถูกจำกัดลง ผลผลิตก็จำกัดลงด้วย ในอีกด้านพายุฝนและปริมาณน้ำฝนจะทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พื้นที่ที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำต่างๆจะกลายเป็นจะไม่สามารถใช้ได้ในอนาคต ผลคือ ประชากรในกลุ่มยากจนส่วนใหญ่เกิดภาวะขาดสารอาหารซ่อนเร้น ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกมากกว่า 1,000 ล้านคน และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นสำหรับประเทศยากจน 

มีนักวิจัยไปสำรวจปริมาณโปรตีนในข้าว 18 สายพันธุ์พบว่าคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณสารอาหารทุกอย่างลดลง ตั้งแต่โปรตีน ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามิน B1, B2, B5 และ B9 

ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 2 เมตรแน่นอนแม้ว่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามเป้าหมาย 2 องศาก็ตาม แต่ว่าหากทำไม่สำเร็จระดับน้ำทะเลจะสูงกว่านั้น คือ 6 เมตร จนคนเขียนเรียกว่า “ทะเลจะกลายเป็นนักฆ่า” 

อีกไม่นาน (หรือว่าเกิดแล้วก็ไม่รู้) คือ ประชากร 5% ของโลกจะเจอน้ำท่วมทุกปี ตัวอย่างอย่างจาการ์ตาที่เคยเป็นเมืองเติบโตเร็วที่สุด แต่ในปี 2050 ประชากรกว่า 10,000,000 จะต้องไปเสี่ยงกับน้ำท่วม

คำถามสำคัญ คือ โลกมนุษย์จะปรับตัวเข้ากับ "แนวชายฝั่งแห่งใหม่" ได้อย่างไร ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับระดับความเร็วของน้ำที่เพิ่มขึ้นและความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ 

นักวิทยาศาสตร์เสนอศัพท์ใหม่ คือ “sunny day flooding – น้ำท่วมวันแดดออก” หมายถึง ปรากฏการณ์ที่น้ำขึ้นเพียงอย่างเดียวก็ทำให้น้ำท่วมเมืองโดยไม่ต้องอาศัยปริมาณจากน้ำฝนพายุเลย

สำหรับ มหาสมุทร ที่ทำหน้าที่ดูดซับ ทั้ง “คาร์บอน” และ “ความร้อนส่วนเกิน” ซึ่งปริมาณคาร์บอนมากกว่า 1 ใน 4 ที่มีอยู่ในทะเลตอนนี้ เกิดขึ้นจากที่มนุษย์ปล่อยออกมาในช่วง 50 ปีหลังนี้เอง ส่วนความร้อนส่วนเกินจากภาวะโลกร้อนมากกว่า 90% ก็มาจบที่มหาสมุทรในการดูดซับมัน ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดปรากฎการณ์ “ทะเลกรด”  

โดยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำทะเลที่ไม่มีออกซิเจนเพิ่มขึ้นทั่วโลกกว่า 4 เท่า ทำให้โลกมีพื้นที่มรณะทางทะเลมากกว่า 400 แห่ง พื้นที่ขาดออกซิเจนดังกล่าวรวมมากกว่าหลาย 1 ล้านตารางกิโลเมตรเทียบเท่ากับพื้นที่ของทวีปยุโรปทั้งหมด เมืองชายฝั่งต่างๆ ที่ติดอยู่กับมหาสมุทรมีปริมาณออกซิเจนต่ำและเหม็นเน่าเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้นทำให้กักเก็บออกซิเจนได้น้อยลง 
แล้วทะเลกรดก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นก็จะไปทำลายปะการังฟอกขาวแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลรวมถึงทำลายห่วงโซ่ของมันซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะวนมาที่สัตว์ทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ครึ่งองศา ทำให้เกิดความขัดแย้งทางตรงที่มีอาวุธเข้ามาเกี่ยวข้องได้มากขึ้นถึง 10 ถึง 20% ความเสี่ยงของสงครามที่เกิดจากโลกร้อนจริงๆ แล้วอาจมีผลมาจากการแย่งชิงทรัพยากรตัวอย่าง เช่น กองทัพอเมริกา หันมาสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนเพนตากอนประเมินอันตรายจากสภาพภูมิอากาศและพยายามวางแผนรับมือความขัดแย้งที่เป็นผลมาจากโลกร้อน 

อีกมุมหนึ่ง ที่น่าสนใจมาก คือ ผลจากโลกละลายยังส่งผลต่อเด็กทั้งร่างกายและจิตใจ ตัวอย่างที่เวียดนาม อินเดีย เอกวาดอร์ ฝนตกน้ำท่วม อุณหภูมิสุดโต่ง และความแปรปวนของสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีนักเรียนที่เข้าเรียนได้ช้ากว่าเกณฑ์ ส่งผลทำให้ผลการเรียนก็ไม่ดี และยิ่งส่งผลมาต่อครอบครัวยากจน เพราะผลจากการขาดสารอาหารเรื้อรังกระทบต่อความสามารถในการคิดลดลง ความเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น

มีการวิจัยที่พบว่าในช่วงเก้าเดือนที่ทารกอยู่ในครรภ์ หากมีวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 90 องศามากเท่าไหร่ รายได้ตลอดชีวิตของเขาก็จะลดลงจนสามารถวัดผลกระทบได้ และจะสะสมจนส่งผลต่อชีวิตในภายหลัง นอกจากนี้ การศึกษาในไต้หวัน แคนาดา และเม็กซิโก พบว่าปริมาณมลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นแต่ละหน่วยสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์มากถึงสองเท่า

สำหรับผลต่อจิตใจ ตอนที่เฮอริเคนแอนดรูว์โจมตีฟลอริดาในปี 1992 แม้มีผู้เสียชีวิตไม่มาก แต่เด็กครึ่งหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์นั้นได้รับการประเมินว่า กระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจในระดับปานกลาง-รุนแรง โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เป็นเพศหญิงจะมีอาการที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจอย่างร้ายแรงมากกว่าเพศชายและเมื่อยิ่งเกิดผลกระทบจากพายุนานยิ่งขึ้นจะเจอปัญหาภาวะซึมเศร้า ความเครียด มากจนมีสิ่งที่นักวิจัยค้นพบว่าเกิด “ความคิดพยาบาท” แต่หนังสือก็ไม่ได้เราเพิ่มเติมว่าพยาบาทใครหรืออะไร ในระดับของความรุนแรงต่อเด็กและวัยรุ่นจากเหตุการณ์ดังกล่าว ในรายที่มีอาการรุนแรง เขาเปรียบเทียบว่า ผลของมันรุนแรงพอๆ กับทหารที่กลับจากสงครามที่มีภาวะป่วยทางจิตเลยทีเดียว 

อันนี้ ที่เล่ามาทั้งหมด คือ ส่วนหนึ่งของความสยองที่เราจะต้องเผชิญในโลกก่อนปี 2100 นี้เท่านั้น เชื่อมั้ยครับว่า หนังสือเขาเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันประเทศที่ลงนามความตกลงปารีสมีจำนวน 195 ราย แต่มีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่ทำได้ตามข้อกำหนด

ใครสนใจเรื่องนี้ ก็ชวนอ่านกันครับ เพราะโลกละลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความหมายของภาวะโลกร้อนที่มีต่อวิถีชีวิตของเราบนโลก ปัญหานี้เป็นวงจรผลสะท้อนกลับ หลากหลาย ซับซ้อนและย้อนแย้ง และถูกครอบด้วยความไม่แน่นอน นี่แหละครับความจริงที่น่ากลัวของมัน

0 Comments

Share This

Share This

Share this post with your friends!